สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทม์สเผยแพร่รายงานล่าสุดที่รวบรวมการสัมภาษณ์คนที่เคยประความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงทนายความ เจ้าหน้าที่ในศูนย์พักพิง และผู้รับเรื่องเหตุด่วนเหตุร้ายมากกว่า 30 คน โดยรายงานดังกล่าวเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการคุกคามคู่รักและคนในครอบครัวด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเหยื่อความรุนแรงภายในครอบครัวส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวหลายคนเปิดเผยว่า อุปกรณ์ดิจิทัลที่ใช้ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมหรือคุกคามมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศภายในบ้านหรือล็อกประตูจากทางไกลผ่านสมาร์ทโฟน ทำให้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านรู้สึกกลัวหรือสับสน
ขณะที่เจ้าหน้าที่ดูแลบ้านพักพิงผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในสหรัฐฯ กล่าวว่า เหยื่อหลายคนเล่าว่า พวกเขารู้สึก 'สูญเสียการควบคุม' ภายในบ้านของตัวเอง
หนึ่งในทีมจัดทำรายงานการคุกคามด้วยเทตโนโลยีระบุว่า รายงานนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลและเป็นแนวทางให้ทั้งเหยื่อและผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเหยื่อความรุนแรงโดยใช้เทคโนโลยี โดยรายงานนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. Internet of Things – อุปกรณ์และแกดเจ็ตที่เชื่อมต่อและควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ต 2. ความปลอดภัยทางดิจิทัลสำหรับผู้หญิงและเด็ก
ศาสตราจารย์อลัน วูดเวิร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงไซเบอร์จากมหาวิทยาลัยเซอร์รีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า สมาร์ทแกดเจ็ตทั้งหลายอาจกลายเป็นสิ่งที่น่ากังวลเมื่อใช้ โดยเฉพาะเมื่อคนอื่นเป็นผู้ติดตั้งเอาไว้
ศาสตราจารย์วูดเวิร์ดให้ลองจินตนาการว่า คุณจะรู้สึกไร้อำนาจและโง่เง่าขนาดไหน เพราะเราใช้สมาร์ทแกดเจ็ตไม่เป็น จนทำให้เชื่อว่าจำเป็นต้องพึ่งพาคู่รักหรือคนในครอบครัวเพียงคนเดียวที่ใช้งานสมาร์ทแกดเจ็ตเหล่านี้ได้เพียงคนเดียว
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์วูดเวิร์ดย้ำว่า สิ่งที่ทุกคนพึงจดจำไว้คือ การทำให้ผู้ใช้รู้สึกอับอายในทุกสถานการณ์แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของผู้ออกแบบ ไม่ใช่ความล้มเหลวของผู้ใช้
ด้านนายเคน มันโร นักวิจัยด้านความปลอดภัยกล่าวว่า มีหลายกรณีที่คู่รักเก่าใช้เทคโนโลยีคุกคามกัน บางกรณีจำเป็นต้องเปลี่ยนสมาร์ทแกดเจ็ตใหม่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้แฟนเก่าเข้ามาคุกคามได้
ดังนั้น การตรวจสอบเทคโนโลยีที่ใช้กับเครื่องใช้ภายในบ้าน รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับบ้านจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก เมื่อเลิกรากับคู่รักไปแล้ว อาจต้องเปลี่ยนล็อกประตูบ้าน หรือเปลี่ยนรหัสเข้าสมาร์ทแกดเจ็ตต่างๆทั้งหมด
ที่มา: The New York Times, BBC
อ่านเพิ่มเติม: