บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ออกเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ ผู้พิการนั่งรถเข็น ทุบกระจกลิฟต์โดยสารสำหรับผู้พิการที่สถานีรถไฟฟ้าอโศก เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา
โดยนายมานิตย์ใช้บริการมาจากทางเชื่อมอาคารเทอร์มินัล 21 เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่ประจำสถานีขอให้กรอกเอกสารบันทึกการโดยสาร ซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้พิการ แต่นายมานิตย์ ปฏิเสธการลงชื่อและได้เข้าไปทุบกระจกประตูลิฟต์แตก
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ได้นิ่งนอนใจ หากขั้นตอนการปฏิบัติทำให้ผู้พิการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ และบริษัทฯ จะทำการทบทวนปรับปรุงขั้นตอนปฏิบัติให้มีความสะดวกขึ้น แต่ยังคงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เป็นผู้พิการ
ทั้งนี้ ลิฟต์ที่ให้บริการในสถานีบีทีเอส แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
หนึ่ง ลิฟต์สำหรับผู้พิการ ใน 4 สถานี ได้แก่ สถานีหมอชิต, ช่องนนทรี, อโศก, และอ่อนนุช โดยก่อสร้างให้สามารถขึ้นตรงจากชั้นพื้นถนน ผ่านชั้นจำหน่ายตั๋ว ไปถึงชั้นชานชาลาได้โดยตรง เพื่อให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยกับผู้พิการมากที่สุด ซึ่งได้ก่อสร้างและเปิดให้บริการพร้อมรถไฟฟ้าบีทีเอสมาตั้งแต่ปี 2542 ตามขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อการใช้งานของผู้พิการ
"โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) บริษัทฯ และสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ได้หารือร่วมกันในขณะนั้นว่า จะมีการล็อกประตูลิฟต์ไว้ และเมื่อมีผู้พิการมาใช้บริการ ให้กดปุ่มเรียกเจ้าหน้าที่มารับ เพื่อกรอกแบบฟอร์มบันทึกการเดินทาง และให้เจ้าหน้าที่พาขึ้นไปยังชั้นชานชาลา เพื่อให้โดยสารรถไฟฟ้าไปยังสถานีปลายทาง โดยมีเจ้าหน้าที่มารอรับที่สถานีปลายทางนำลงสู่พื้นถนนอย่างปลอดภัย"
สอง กทม.มีการสร้างลิฟต์เพิ่มเติมจนครบในเส้นทางเดิมและในส่วนต่อขยายทุกสถานี โดยลิฟต์เหล่านี้เปิดให้ประชาชนทุกคนใช้งานได้ตามปกติ โดยลิฟต์จะมี 2 ส่วน คือ ลิฟต์จากชั้นพื้นถนนไปยังชั้นจำหน่ายตั๋ว และอยู่นอกเขตชำระเงิน และลิฟต์จากชั้นจำหน่ายตั๋วไปยังชั้นชานชาลา จะอยู่ในเขตชำระเงิน จึงสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องกดเรียกเจ้าหน้าที่ แต่สำหรับผู้พิการ เมื่อขึ้นมายังห้องจำหน่ายตั๋วแล้วต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อกรอกแบบฟอร์มและรับบริการจากเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้พิการทุกประเภทเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส วันละประมาณ 2,800 คน
'สามารถ' ชี้ปมลิฟต์ BTS ทำ 2 รอบ วิธีการใช้ต่างกัน
ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความคิดเห็นกรณีเหตุการณ์ชายพิการนั่งวีลแชร์ทุบกระจกลิฟต์โดยสารสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอโศก หลังรอพนักงานมาเปิดประตูให้นานเกินไป จนเกิดความไม่พอใจ โดยได้เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์ทุบรถเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2561 บริเวณตลาดในหมู่บ้านเสรีวิลล่า กรุงเทพฯ ซึ่งทางหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนคือ กทม. ได้เข้าไปดูแลทันที
ส่วนกรณีทุบกระจกลิฟต์บีทีเอสอโศกเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา คาดว่าผู้ใช้บริการคงไม่พอใจที่ไม่ได้รับความสะดวกสบายในการใช้ลิฟต์สำหรับคนพิการ เนื่องจากต้องกดปุ่มเรียกพนักงานมาเปิดประตูให้ บางครั้งต้องรอนาน ถ้าฝนตกแดดออกก็ต้องรอกันไป เป็นเรื่องน่าเห็นใจอยู่
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าบีทีเอส กำกับดูแลโดยกรุงเทพมหานคร และได้ให้สัมปทานแก่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี โดยตัวสัมปทานระบุให้บีทีเอสซีต้องลงทุนเองทั้งหมด โดยมี กทม. ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการโยกย้ายระบบสาธารณูปโภคภายในวงเงิน 500 ล้านบาท แต่ในสัญญาไม่มีการระบุให้บีทีเอสซีต้องติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้พิการไว้ด้วย
ลิฟต์สถานีหมอชิต-สยาม-อโศก-อ่อนนุช-ช่องนนทรี ถึงเวลาปรับปรุง
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก กทม. เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ จึงได้ลงทุนติดตั้งลิฟต์ไว้ 5 สถานี ประกอบด้วยสถานีหมอชิต, สยาม, อโศก, อ่อนนุช, และช่องนนทรี (เมื่อปี 2542) ซึ่งลิฟต์เหล่านี้จะให้บริการเฉพาะคนพิการเท่านั้น โดยจะนำคนพิการจากบริเวณทางเท้าไปสู่ชั้นชานชาลา ไม่แวะที่ชั้นขายตั๋ว
ขั้นตอนการใช้ลิฟต์มีดังนี้
1. คนพิการกดปุ่มเรียกพนักงาน
2. พนักงานมาเปิดประตูลิฟต์ซึ่งถูกล็อกไว้ คนพิการไม่สามารถเปิดเองได้ ในขั้นตอนนี้ผู้พิการจะต้องแสดงบัตรผู้พิการเพื่อรับคูปองใช้บริการฟรี และเพื่อให้พนักงานของบีทีเอสซีบันทึกข้อมูลการใช้รถไฟฟ้าของคนพิการไว้ เหตุที่ต้องล็อกประตูลิฟต์ไว้ก็เพราะบีทีเอสซีต้องการป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารอื่นขึ้นไปใช้รถไฟฟ้าโดยไม่เสียค่าโดยสารและเพื่อรักษาความปลอดภัย
3. พนักงานนำคนพิการขึ้นลิฟต์ไปสู่ชั้นชานชาลาเพื่อเตรียมขึ้นรถไฟฟ้า พร้อมกับแจ้งไปยังพนักงานที่สถานีปลายทางว่าคนพิการอยู่ตู้ไหน ให้รอรับด้วย
กระทั่ง ต่อมา กทม. ได้ติดตั้งลิฟต์ครบทุกสถานี แต่ไม่ครบทุกฝั่ง ลิฟต์ชุดใหม่แตกต่างจากลิฟต์ชุดเดิมซึ่งติดตั้งที่ 5 สถานีดังกล่าวข้างต้น คือลิฟต์ชุดใหม่เป็นลิฟต์ที่ทุกคนสามารถใช้บริการได้ ไม่มีการล็อกประตูลิฟต์ไว้ การใช้ลิฟต์ชุดใหม่แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. ผู้โดยสารขึ้นลิฟต์จากทางเท้าไปสู่ชั้นขายตั๋ว
2. ที่ชั้นขายตั๋ว คนพิการจะต้องแสดงบัตรเพื่อรับคูปองใช้รถไฟฟ้าฟรี และเพื่อให้พนักงานของบีทีเอสซีบันทึกข้อมูลการใช้รถไฟฟ้าของคนพิการไว้ ส่วนผู้โดยสารอื่นจะต้องซื้อตั๋ว
3. ขึ้นลิฟต์จากชั้นขายตั๋วไปสู่ชั้นชานชาลาเพื่อรอขึ้นรถไฟฟ้า
ทำให้เห็นได้ว่าลิฟต์ชุดใหม่ไม่ได้สร้างความยุ่งยากให้กับคนพิการ เพราะไม่ต้องรอให้พนักงานมาเปิดประตูลิฟต์ให้ ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องหาทางแก้ปัญหาความยุ่งยากในการใช้งานลิฟต์ชุดเดิม ซึ่งติดตั้งมาตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2542
ชง กทม. ติดเครื่องตรวจตั๋วชั้นชานชาลา ไม่ต้องล็อกประตูลิฟต์
โดยนายสามารถได้เสนอแนะให้กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพร่วมหารือกับบีทีเอสซี และสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยเพื่อหาหนทางปรับปรุงและแก้ไขสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ดังนี้
1. ทำหลังคากันแดดกันฝนบริเวณที่รอลิฟต์ และตลอดทางลาดสำหรับรถเข็น
2. ให้บีทีเอสซีติดตั้งเครื่องตรวจตั๋วโดยสารที่ชั้นชานชาลา ซึ่งจะช่วยให้บีทีเอสซีไม่ต้องล็อกประตูเข้าลิฟต์ เพราะผู้โดยสารที่ใช้ลิฟต์ทุกคนจะต้องมีตั๋วโดยสาร มิฉะนั้น จะเข้าชานชาลาไม่ได้ ในกรณีเป็นคนพิการก็ต้องมีคูปอง แนวทางนี้มีใช้อยู่แล้วที่ฝั่งขาออกของสถานีหมอชิต และช่องนนทรี ซึ่งคนพิการไม่ต้องเสียเวลารอพนักงานมาเปิดประตูลิฟต์ให้
3. หากไม่ใช้วิธีการในข้อ 2 ขอเสนอให้มีการสแกนบัตรคนพิการที่ประตูเข้าลิฟต์ที่ถูกล็อกไว้ เพื่อให้คนพิการเท่านั้นที่สามารถใช้ลิฟต์ได้ ผู้โดยสารอื่นไม่สามารถใช้ได้ วิธีการนี้จะสามารถป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารอื่นที่ไม่มีตั๋วโดยสารขึ้นลิฟต์ไปสู่ชั้นชานชาลาได้ และจะช่วยให้คนพิการไม่ต้องเสียเวลารอพนักงานให้มาเปิดประตูลิฟต์
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
ลิฟต์บีทีเอสอโศกล็อก หนุ่มนั่งวีลแชร์ใช้มือทุบกระจกจนแตก