วันที่ 17 ม.ค. 2565 ที่มหาลัยวิทยารังสิต คณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 แถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์เข้าชื่อ “ยกเลิกอำนาจ สว. เลือกนายกฯ” โดยมี รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดร.บุญส่ง ชเลธร 1 ใน 13 กบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ชายนริศ ผดุงกุล ผู้ออกแบบเว็บไซต์ลงชื่อ ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิการเมือง และ เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนหลายฝ่าย
โดง ดร.บุญส่ง ระบุว่า เหตุที่ต้องเสนอแก้ มาตรา 272 ซึ่งมุ่งเน้นให้ยกเลิกอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นประเด็นสำคัญเพียงประการเดียว ความตั้งใจนี้เป็นความเห็นร่วมจากประชาชนหลายกลุ่มฝ่ายโดยเฉพาะกิจ และปราศจากการแบ่งข้างทางการเมือง เพราะหลักการของระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องไม่ปล่อยให้เสียงที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้ามาเกี่ยวพัน จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกกลุ่ม ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล รวมทั้ง ส.ว. ทุกท่าน ช่วยกันผลักดันเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น คือการแก้ไขบทเฉพาะกาลฯ มาตรา 272
ทั้งนี้ ดร.บุญส่ง เชื่อว่า ส.ว. เป็นฝ่ายที่จะเห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวที่สุด เพราะหากถือว่าการได้เป็น ส.ว. ต้องตอบแทนผู้ที่แต่งตั้งเข้ามา การเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็ถือว่าตอบแทนไปแล้วด้วยการโหวตเลือกนายกฯ แต่ถ้า ส.ว. ยังโหวตเลือกใครก็ตามอีกครั้งในคราวหน้า จะโดนครหาจากประชาชนมากกว่าเดิมหลายเท่า โดยความเป็นจริง หากรัฐบาลมีเสียง ส.ส. ไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่อาศัยเสียง ส.ว. มาเติม สะท้อนว่ารัฐบาลนั้นไม่สามารถบริหารประเทศได้ ดังนั้น การแก้ไขมาตรา 272 นี้จะเป็นประโยชน์แก่ ส.ว. เองด้วยซ้ำ
ด้าน รศ.สมชัย ในฐานะผู้ริเริ่มแคมเปญรณรงค์ ระบุว่าจะใช้เวลารวมรายชื่อออนไลน์ 3 เดือนเต็ม เริ่มตั้งแต่วันนี้ (17 ม.ค.) ไปจนถึง 16 เม.ย.2565 และกำหนดวันยื่น 70,000 รายชื่อต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 มี.ค. หลังปิดประชุมสามัญสมัยที่สองของรัฐสภา เพื่อให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถบรรจุเป็นวาระการพิจารณษในสมัยประชุมแรกของปี 2565 คือเดือน พ.ค. และประเมินว่ากระบวนการพิจารณาของรัฐทั้ง 3 วาระ น่าจะเสร็จสิ้นไม่เกิน ก.ค. 2565 จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อให้ขั้นตอนแรกผ่านไปได้อย่างราบรื่นรวดเร็ว
ระหว่างนี้ ทางคณะรณรงค์ฯ จะเดินสายทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องกว้างขวาง เช่น การเดินสายพบพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อขอความสนับสนุนจากทั้งในและนอกสภา โดยตั้งใจจะเข้าพบให้ครบทุกพรรค รวมถึงเข้าพูดคุยกับ ส.ว. เพื่อมั่นใจว่าจะมีเสียงสนับสนุนอย่างเพียงพอในสภาฯ เพราะที่ผ่านมาก็มี ส.ว. หลายท่านประกาศจุดยืนหรือเคยร่วมโหวตให้การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 56 เสียง ในครั้งนี้การจะเพิ่มให้ถึง 84 เสียง คงไม่ใช่เรื่องยาก นอกจากนี้ คณะรณรงค์ฯ ยังมีแผนจะเดินทางเข้าพบสื่อมวลชนทุกแขนงเพื่อมอบป้ายรณรงค์ที่มีโลโก้และ QR Code สำหรับลงชื่อออนไลน์ และการจัดเวทีเสวนาทั่วประเทศเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ ณัฏฐา กล่าวว่า จากที่หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ของแคมเปญรณรงค์ ตนมั่นใจว่ามีความเป็นไปได้สูงสุดว่าจะสำเร็จ ไม่เห็นสาเหตุที่จะล้มเหลวเลย เพราะมีสัญญาณบวกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการรวมรายชื่อได้เกือบ 40,000 ชื่อ ตั้งแต่ก่อนเปิดตัวเว็บไซต์ สะท้อนฉันทามติจากประชาชนทุกฝ่าย และการเสนอแก้ไขครั้งนี้มีเงื่อนไขน้อยที่สุดแล้ว เพราะเป็นการแก้ในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ก่อน คือเพียงลดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ เท่านั้น ทั้งนี้ ยังได้เรียนเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้ร่วมเข้าชื่อออนไลน์ด้วยเช่นกัน
โดยผู้ประสงค์ร่วมลงชื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูณ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ สามารถเข้าไปทาง https://www.nosenatevote.net ได้ ปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วไม่ต่ำกว่า 38,000 รายชื่อ