นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้(1ต.ค.62) มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาต่อไปอีก 1 ปี โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2563 จากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2562 โดยกรณีค่าไฟฟ้า ให้ใช้ไฟฟ้าในวงเงิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน และกรณีค่าน้ำประปา ให้ใช้น้ำประปาในวงเงิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน
นอกจากนี้ยังขยายระยะเวลามาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7 เปอร์เซ็นต์ ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ออกไปอีก 1 ปี โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2563 เช่นกัน โดยการคืนเงินภาษีแวตเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะแบ่งเป็น 1. ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะต้องจ่ายภาษีจากการซื้อสินค้าเองตามปกติในอัตรา 1 เปอร์เซ็นต์
2. รัฐบาลจะทำการคืนเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยการโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ทุกวันที่ 15 ของเดือน จำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเงินส่วนนี้สามารถกดเป็นเงินสดออกมาใช้ได้
และ 3. จะมีการเก็บเงินเข้าบัญชีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ของผู้ถือบัตรฯ จำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นเงินออมของผู้มีรายได้น้อย โดยงบประมาณที่จะใช้สำหรับค่าน้ำ ค่าไฟ อยู่ที่ 1,787 ล้านบาท ส่วนการคืนแวตอยู่ที่ 99.30 ล้านบาท
ลดหย่อนภาษีผู้ได้รับผลกระทบพายุ 32 จังหวัด
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. ได้เห็นชอบมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล และคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ใน 32 จังหวัด รวมประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 419,988 ครัวเรือน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 4,943 หลัง ประกอบด้วย มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ เป็นค่าค่าใช้จ่ายซ่อมแซมที่ได้จ่ายระหว่างวันที่ 29 ส.ค. ถึง 30 พ.ย.2562 จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100,000บาท และมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซ่อมแซมรถ เป็นค่าใช้จ่ายซ่อมแซมที่ได้จ่ายระหว่างวันที่ 29 ส.ค.ถึง 30 พ.ย.2562 จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 30,000บาท
โดยมีหลักเกณฑ์ คือ ทรัพย์สิน รถหรืออุปกรณ์ได้รับความเสียหายจากพายุโพดุล คาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในขณะที่ทรัพย์สิน รถอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยผู้มีเงินได้ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้เช่า หรือผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประกอบกิจการ หรือใช้ประโยชน์อื่น และในกรณีการซ่อมแซมทรัพย์สินหรือรถ มากกว่าหนึ่งแห่งหรือคันให้รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ ครม. ได้มีมติเห็นชอบการลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตามโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว ได้เพิ่ม 14 ล้านตันต่อปี ในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่ EEC
โดยมีมูลค่าการลงทุนโครงการรวม 55,400 ล้านบาท ประกอบด้วยแหล่งเงินทุนจาก 1.การนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 12,900 ล้านบาท ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน งานหลักเป็นการขุดลอกและถมทะเล 2.ภาคเอกชน ลงทุนท่าเทียบเรือก๊าซ จำนวน 35,000 ล้านบาท ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว จำนวน 4,300 ล้านบาท และคลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ จำนวน 3,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ ครม. ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ ร่างกฎกระทรวงฯฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานของปปง.ให้เสมอกับมาตรฐานสากล เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ให้สอดคล้องมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (International Standards on Combating Money Laundering and the Financing of Terrorism and Proliferation) และเพื่อให้การบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
และ ครม. ยังได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ปรับลดขั้นตอนการส่งออกกุ้งและปลาหมึกแช่เย็นและแช่แข็งไปสหรัฐและสหภาพยุโรปให้ทันสมัยไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิย์ที่กำหนดให้สินค้ากุ้งและปลาหมึกแช่เย็นหรือแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกุ้งผสมที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองด้านสุขอนามัยและผู้ส่งออกต้องเป็นสมาชิกสมาคมผู้ค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและอาหารแช่เยือกแข็งไทย