ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ progressivemovement เนื่องในโอกาสวันแรงชาติแห่งชาติ ระบุ “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” และ “UBI : Universal basic income” (เงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า) ในไทยนั้นเป็นไปได้
สถานการณ์โควิด-19 มันช่วยทลายมายาคติอะไรหลายอย่าง อันดับแรก เราไม่เถียงกันแล้วว่าเอาเงินมาจากไหน เพราะเราเห็นแล้วว่าประเทศนี้มีเงินมากพอในการที่จะดูแลประชาชน
สิ่งที่เราเห็นหลายอย่าง แม้ว่ามันจะเป็นนโยบายที่ไม่ได้ก้าวหน้ามาก อย่างเช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการ ม.33 เรารักกัน เราเห็นว่าเมื่อคนได้เงิน ไม่ได้น่ากลัวมากอย่างที่คิด
"แต่ก่อนนักวิชาการพวกเสรีนิยมมักจะประสาทแดกล่วงหน้าถ้าคนธรรมดาได้เงิน กลัวว่าเดี๋ยวต้องใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือย ไม่มีวินัย ขาดการวางแผน ประเทศเราจะเป็นแบบกรีซ แบบเวเนซุเอลา มันจะมีผีอย่างนี้คอยหลอกหลอน
"แต่ในสถานการณ์นี้พิสูจน์แล้ว เงินที่รัฐให้ที่ผ่านมาต้องถือว่าเป็นสเกลที่ใหญ่และเยอะ แต่เราก็เห็นว่า คนก็ไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นสำหรับเขา ถามว่า มีคนที่เอาตรงนี้ไปเทรดเป็นเงินสดไหม มันก็มี แต่มันน้อยมาก ไม่ได้แบบเยอะขนาดนั้น"
ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนก็ไม่น่ากลัว ซึ่งนี่ทลายมายาคติเรื่องรัฐสวัสดิการไปเยอะ วันนี้ไม่ต้องเถียงกับใครแล้วว่าจะเอาเงินมาจากไหน ไม่ต้องเถียงกับใครแล้วว่าคนจะงอมืองอเท้าอยู่บ้าน เพราะว่าคนก็ยังอยากได้งาน ยังอยากหางาน ยังอยากออกไปทำงาน แม้จะมีเงินตัวนี้อยู่
เรื่องเงินเด็ก เงินคนแก่ หรือว่าแม้แต่การเรียนหนังสือฟรีในระดับมหาวิทยาลัย คิดว่ามายด์เซ็ต (Mindset)โดยรวมของคนไทยไม่ได้มีปัญหาต่อเรื่องเรื่องรัฐสวัสดิการแล้ว แต่มีปัญหากับกลุ่มชนชั้นนำในรัฐบาล หรือชนชั้นนำในสังคมไทยที่ยังขวางอยู่ ทุกคนคิดว่าเป็นไปได้ และควรจะเป็น เหลือแค่การต่อสู้ทางการเมืองให้ปลดล็อกได้มาแค่นั้นเอง
เมื่อถามว่า สถานการณ์แรงงานปัจจุบัน มาตรการเพื่อพี่น้องแรงงาน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ควรเป็นอย่างไร ?
ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ระยะสั้นที่สุด คือ สำหรับเรื่องแรงงานจริงๆ คือสิ่งที่พยายามจะสะท้อนถึงชนชั้นนำมาโดยตลอดว่า รัฐสวัสดิการถ้วนหน้ายังสามารถเป็นทางออกที่จะเรียกให้สังคมมีจุดประนีประนอมกันได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเห็นพ้องต้องกัน แต่เป็นจุดที่ทำให้คนได้มายืน แล้วสามารถคุยกัน เจรจากันภายใต้เงื่อนไขความขัดแย้งได้
"รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ และทำให้สังคมมาถึงจุดที่จะคุยเรื่องอื่นหรือแก้เรื่องอื่น ไปกันต่อได้"
"แต่ว่าถ้าช้ากว่านี้ เมื่อความโกรธ ความไม่พอใจของคนไปไกลกว่านี้ รัฐสวัสดิการอาจไม่สามารถที่จะเยียวยาได้แล้ว คือรัฐสวัสดิการมันเคยประสบความสำเร็จในสังคมที่เกิดวิกฤตมากๆ มันทำให้ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายมาคุยกันและหาทางออก แต่ว่าถ้ามันช้า ผมคิดว่าบางทีรัฐสวัสดิการก็อาจจะไม่เพียงพอในการเยียวยาผู้คน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และความพอใจทางการเมือง"
เขาระบุว่า เรื่องเงินเลี้ยงดูเด็ก เงินบำนาญถ้วนหน้า การยกหนี้ กยศ. หรือว่าทำอะไรต่างๆ อย่างยกระดับประกันสังคมที่สามารถไปคุ้มครองแรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบ ให้เขาดีมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ คุณทำตอนนี้ คุณจะใช้เงินเพิ่มอีกประมาณปีละ 1 ล้านล้านบาท แต่มันจะทำให้ประเทศไม่ล่มสลาย ระยะสั้น ผมคิดว่าต้องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเท่านั้น
ส่วนในระยะกลาง และระยะยาว สิ่งหนึ่งที่อยากชี้ให้เห็นคือ ต้องปลดล็อกเรื่องการเมืองที่ทำให้เดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ไม่อย่างนั้นจะทำให้พื้นที่การเจรจาต่างๆ ไม่มี
สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ การต่อสู้ในครั้งนี้มันเป็นมากยิ่งกว่าการต่อสู้เรื่องเจเนอเรชัน (Generation) มันมีประเด็นชนชั้นที่แหลมคมมากขึ้น ชนชั้นทางเศรษฐกิจ ชนชั้นทางการเมือง จะสังเกตว่า ทำไมเรื่องรัฐสวัสดิการอยู่ในทุกม็อบเลย ทั้งม็อบธรรมศาสตร์และการชุมนุม ม็อบเยาวชนปลดแอก หรือม็อบรีเดม ฯลฯ เพราะเขารู้ว่า เขาเงยหน้าไปในประเทศนี้ตอนนี้มันไม่เห็นอนาคต ทั้งเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ เขาเชื่อมได้ เป็นเรื่องเดียวกัน
ถ้ารัฐบาลอยากจะทำให้ทุกอย่างคลี่คลาย ระยะสั้นคือรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ระยะกลางคือการปรับเปลี่ยนเรื่องกลไกการเมือง อำนาจนิยมให้ลดน้อยลง และระยะยาวก็เป็นเรื่องประชาชนว่ากันไป นี่คือสิ่งที่ต้องทำ
อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มธ. กล่าวว่า เรื่อง UBI ถูกพูดถึงกันมากขึ้น แต่พรรคการเมืองก็ยังกล้าๆ กลัวๆ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล
เรื่องที่ว่าทุกคนมีเงินเดือนเป็นอะไรที่ใหม่มาก แม้แต่ในประเทศรัฐสวัสดิการ เขาทำให้ทุกคนมีงานทำ แต่ว่าถ้าใครไม่ได้ทำงานก็รับเบี้ยว่างงานไป แต่เรื่องการให้เปล่าเงินกับคนไปเลยนั้น ก็ยังเป็นแค่ในระดับท้องถิ่น หรือระดับการทดลองอยู่ เช่น ในรัฐอลาสก้า ที่ทำกันอย่างจริงจังเรื่องนี้
"สิ่งที่อยากพูดคือ เรื่อง UBI คนอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าถ้าเราคิดง่ายๆ ว่า การแก้เรื่องคนจน ก็คือการทำให้คนจนมีเงิน หรือถ้าอยากให้คนมีสุขภาพดี ก็ต้องทำให้คนรักษาฟรี ถ้าเรากลับมาคิดง่ายๆ แบบนี้ มันก็เป็นไปได้ ผมมีโอกาสฟังเสวนาสาธารณะในหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ยังรู้สึกว่า นักการเมืองยังไม่ซื้อไอเดียเรื่องนี้เต็มที่นัก"
เขากล่าวว่า สำหรับพรรคการเมือง นโยบายที่ก้าวหน้าแบบนี้เท่านั้นที่จะทำให้คุณอยู่ในใจคนรุ่นใหม่ได้ พรรคการเมืองจำเป็นต้องก้าวออกจากกรอบการกำหนดนโยบายแบบเดิม และพยายามมองว่า คนรุ่นใหม่ต้องการอะไรจริงๆ คืออย่ามองเขาด้วยสายตาพ่อที่อยากให้ลูกเป็นอะไร แต่ให้มองในสายตาที่ว่า ถ้าคุณเป็นเขา คุณอยากโตมาในสังคมแบบไหน
"คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเรื่องนี้เลย คนที่มีปัญหาคือคนที่ไม่คุ้นชินกับเสรีภาพ ความเสมอภาค และก็ดันคิดว่าคนรุ่นใหม่ไม่คุ้นชินกับเรื่องนี้ด้วย คือมันจะมีปัญหาอะไรกับการที่คนแก่ทุกคนมีเงินเดือน จะมีปัญหาอะไรกันกับการที่เด็กทุกคนมีเงินเลี้ยงดู จะมีปัญหาอะไรกันกับการที่ทุกคนเรียนหนังสือฟรี และจะมีปัญหาอะไรกันกับการที่ทุกคนมีเงินเดือนยืนพื้นกันคนละ 4,000-5,000 บาท เพื่อทำให้ไม่ต้องกังวลเวลาจะเปลี่ยนงาน หรือฝึกสกิลใหม่ๆ หากอยากเปลี่ยนงาน"