Penguin Eat Shabu–เพนกวินกินชาบู เป็นร้านอาหารที่สร้างชื่อและประสบความสำเร็จไม่น้อยภายในระยะเวลาแค่ 6 ปี โดยขยายสาขาไปถึง 9 สาขา รวมถึงเคยสร้างปรากฏการณ์ในวันหยุดต้องโทรจองล่วงหน้าถึง 7 วัน
อย่างไรก็ตามเส้นทางที่กำลังราบรื่น ยอดขายหลักแสน หลักล้านมีอันต้องสะดุด เพราะการเข้ามาของ ‘โควิด-19’ โรคระบาดที่ไม่ปราณีใครในโลก ตั้งแต่ผู้บริโภค ลูกจ้าง กระทั่งเจ้าของกิจการ
“ปกติใครมาสัมภาษณ์ ผมจะเลี้ยงชาบู แต่วันนี้ไม่มีปัญญาครับ” ต้น-ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี ผู้ก่อตั้ง Penguin Eat Shabu ส่ายหัวและยิ้มเบาๆ สะท้อนสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ภายในร้าน ‘สาขาสะพานควาย’ อันเงียบสงบ
แม้จะเริ่มปรับตัวและวางแผนจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 หรือปลายปี 2562 รวมถึงข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน เมื่อปลายเดือน ม.ค.แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ
ธนพันธ์ เล่าว่า มีการพูดคุยคาดการณ์กันในทีมบริหารแล้วว่า ในที่สุดโควิด-19 จะแพร่ระบาดในไทย ขอให้ปรับระบบการทำงาน บริหารค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม คำนวณต้นทุนเป็นรายวันเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
กระทั่งในช่วงเดือน ก.พ. ทีมงานเห็นว่าโควิด-19 กระจายไปหลายประเทศทั่วโลก เริ่มมีผลกระทบต่อไทย ยอดขายทางร้านเริ่มตก จึงตัดสินใจจำกัดต้นทุน ลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด
เมื่อไม่สามารถรักษากำไรได้เท่าเดิมอีกแล้ว ผู้บริหารเลยตัดสินใจบอกกับพนักงานทุกคนว่า “จะไม่รับเงินเดือน 3 เดือน” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ทีมงานรับรู้ว่า ทุกคนต้องรีบปรับตัว บริหารบัญชีเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะวิกฤตกำลังจะมา
กลางเดือน ก.พ. เพนกวิน อีท ชาบู สาขาสีลม ซึ่งทำกำไรน้อยที่สุดปิดตัวลง เพื่อรักษาสภาพคล่องให้ธุรกิจ ขณะที่ทีมผู้บริหารเริ่มกักตุนข้าวสารอาหารสำเร็จรูปจำนวนมากเพื่อรับมือกับความอยู่รอดของพนักงานราว 200 คน
“เราต้องทำให้พนักงานกว่า 200 คนพร้อมรับกับวิกฤต คุณรายได้ลด คุณไม่มีรายได้ คุณกลับบ้านไม่ได้ เราต้องการันตีให้ได้ว่า 3 เดือนคุณจะมีข้าวกิน มีที่พัก มีของใช้”
ต้นเดือน มี.ค. เพนกวิน อีท ชาบู วูบหายไปอีก 1 สาขาที่สยาม จนกระทั่งมีประกาศจากรัฐบาลให้ปิดสถานบริการ–ร้านอาหาร ซึ่ง ‘ธนพันธ์’ คาดไว้แล้วแต่ไม่คิดว่าจะเร็วถึงเพียงนี้
“จริงๆ เราวางแผนไว้ 4 เฟส เฟสสุดท้ายคือการโดนปิดทั้งหมด รวมทั้งชัตดาวน์ แต่มันมาเร็วกว่าที่คาดไว้ เราแอ็กชันไม่ทัน ขนาดพยายามเตรียมตัวไว้แล้ว”
ผู้ประกอบการร้านอาหารลักษณะชาบูนั้นต้องสั่งวัถตุดิบมาสต็อก มีต้นทุนที่แบกรับจำนวนมาก การปิดร้านกะทันหันไม่ได้นับเป็นตัดจบภาวะขาดทุน แต่ยังมีช่วงอาฟเตอร์ช็อกตามมาให้ท้าทาย อย่างการดูแลพนักงาน ที่ไม่ใช่แค่ข้าวปลาอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ยังหมายถึงที่พักอาศัย เนื่องจากลูกจ้างหลายรายเป็นคนต่างจังหวัดและชาวต่างชาติ
“รายได้เราหายไปทันที แต่ต้นทุนเราไม่ได้หยุด ทุกอย่างมันยังรันเหมือนเดิม”
ก่อนกลางเดือน มี.ค.ในภาวะยากลำบาก ธนพันธ์ ตัดสินใจให้พนักงานบางส่วนออก ขณะที่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ‘ลาโดยไม่รับเงินเดือน’ หรือ leave without pay เป็นเวลา 2 เดือน
“ศุกร์ 20 มี.ค.คือวันสุดท้ายของพนักงานหลายคน หลายคนเตรียมตัวกลับบ้าน ส่วนคนที่ไม่กลับและยังอยู่ต่อ บริษัทสัญญาว่า ทุกคนจะมีห้องนอน มีข้าวปลาอาหาร มีของใช้ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน แชมพู ของใช้ส่วนตัว ผ้าอนามัย เพื่อให้อยู่รอดตลอด 3 เดือนนี้ให้ได้ เราจะยังดูแลคุณทั้งหมด”
ผู้บริหารหนุ่มวัย 36 ปีเล่าว่า วันสุดท้ายที่ปิดร้าน พนักงานหลายคนเข้าใจถึงสถานการณ์ แทบทุกคนพร้อมสู้ไปด้วยกัน ยินดีไม่รับเงินเดือน และเชื่อว่าถ้าเรายังสู้ “เพนกวินจะรอดตาย” และกลับมาได้ในสถานการณ์ปกติ โดยปัจจุบันมีคนรับเงินเดือนอย่างแท้จริงเหลือเพียงแค่ 7 คน
ล่าสุดเขาตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้กับพนักงานบางรายที่มีรถมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว โดยขอแทรกตลาดส่งสินค้าเดลิเวอรี หาเงินเลี้ยงชีพเล็กๆ น้อยๆ
“แทนที่จะพึ่งพาแต่กลุ่มธุรกิจเดิมๆ ผมเห็นว่ามีพนักงานตกงาน ไม่มีรายได้ แต่มีมอเตอร์ไซค์ เราเปลี่ยนให้เขามาเป็นไรเดอร์ ดีกว่าอยู่เฉยๆ ขับรถได้วันละ 200-300 บาท ให้เขาพอมีกินมีใช้ ต่อเวลาตายให้ผมได้มากที่สุด”
ในฐานะผู้ประกอบการ ‘ธนพันธ์’ เห็นว่าถึงวันนี้มาตรการของรัฐยังไม่ชัดเจน มีการสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพและขัดแย้งกันเองระหว่างหน่วยงาน “ทำงานเหมือนไม่ได้คุยกัน” เขาบอก ขณะนี้ผู้ประกอบการจำนวนมากยังมึนงงและสับสน
“เขายอมเจ็บแต่จบ ผมว่าผู้ประกอบการคิดอย่างนั้นจริงๆ ถ้ามันเจ็บสั้นๆ แล้วจบ ผมว่าทุกคนยอมเสียสละ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ รัฐออกมาตรการแต่ไม่มีอะไรรองรับ มันไม่ใช่เจ็บแล้วจบ มันจะเจ็บแบบยาวๆ จนสุดท้ายมันจบ แต่เป็นผู้ประกอบการจบชีวิต พนักงานจบชีวิต"
“เหมือนเลือดไหลแล้วคุณขอให้เราตัดแขน ตัดขา เราบอกเรายอม ตัวจะได้รอด แต่คุณไม่มีมาตรการรองรับว่า คุณจะห้ามเลือดผมยังไงต่อ กลายเป็นว่าใครเลือดไหลช้าสุด คนนั้นคือคนที่รอด ใครเลือดไหลเร็วต้องยอมตายไประหว่างทาง”
โควิด-19 ปรากฏการณ์นี้เป็นบทเรียนให้กับทุกคน หากผ่านไปได้เสมือนติดอาวุธและภูมิต้านทานให้ชีวิต
ธนพันธ์ บอกว่า สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้คือ “การบริหารจัดการความเสี่ยง ตั้งแต่ยังไม่เสี่ยง” มีสติเพื่อตัดสินใจแก้ปัญหา ซึ่งอาจไม่ดีที่สุด แต่ต้องเร็วที่สุดต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า
“เราจะบริหารเงินในมือยังไง สภาพคล่องยังไง ความเป็นอยู่ของพนักงานจะเป็นยังไงต่อ” เขาบอกและว่า ช่วงเวลายากลำบากแบบนี้ได้เห็นน้ำใจของคน เช่น พนักงานที่บอกว่าขอสู้ไปด้วยกัน คู่ค้าที่เข้าใจและยอมยืดการชำระเงินเงิน เพราะรู้ว่าสถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว
วิกฤตและความล้มเหลวยังเรียกสติให้ผู้บริหารกลับมา “FOCUS” มุ่งมั่นกับสิ่งที่ทำอีกครั้ง จากเมื่อก่อนที่ยอมรับว่ามีแต่ข้ออ้างและละเลยบางเรื่องสำคัญไป
“เมื่อก่อนเราอ้างว่า กูขายดี กูคนเยอะ กูงานยุ่ง กูไม่มีเวลาทำ แต่วันหนึ่งพอกูว่างงานเนี่ย กูต้องทำทุกอย่างที่กูเคยคิด แล้วมันกลายเป็นว่าเรากลับมาโฟกัส ไม่ได้โฟกัสเพราะเราอยากรวย แต่กลับมาโฟกัสเพราะเรารู้สึกว่าเราต้องรอด คราวนี้เราไม่ต้องรอดเพื่อตัวเองแล้ว แต่ต้องรอดเพื่อคนรอบข้าง ทำไงก็ได้ให้พนักงาน 200 คน มีกินตลอด 3 เดือน เราต้องรอดเพื่อดูแลเขาให้นานที่สุด”
ช่วงเวลาแห่งการแชร์ ออกแบบความคิดสร้างสรรค์ และรวมตัวกันเพื่อรอดมาถึงแล้ว
เจ้าของร้านชาบู ชื่อเตะหู โลโก้เตะตา บอกว่า เป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการจะแชร์ข้อดีของกันและกัน เพื่อเอาตัวรอด เรียนรู้จากวิกฤต ตกต่ำก่อนเติบโต
“เลิกบ่น เลิกด่าโชคชะตา ตอนนี้มันเป็นสิ่งที่เราห้ามไม่ได้แล้ว ผมว่าถ้าทุกคนมารวมกัน จับมือกันจริงๆ ไม่มีทางหรอกที่เราจะตาย” ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกและมั่นใจว่าเมื่อสถานการณ์เลวร้ายคลี่คลาย ความสำเร็จและรอยยิ้มจะกลับมา