ไม่พบผลการค้นหา
ค้นหาคำตอบคาใจผู้บริโภค ทำไมร้านค้าจำนวนมากในโซเชียลมีเดียถึงไม่บอกราคาในเบื้องต้น

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ร้อนๆ หนาวๆ เมื่อกรมการค้าภายในสั่งปรับร้านค้า 26 ราย รวมเป็นเงินกว่า 87,000 บาท หลังให้ลูกค้าต้องสอบถามทางอินบอกซ์ ไม่ปิดป้ายราคาให้ชัดเจน

การจับกุมดังกล่าวเป็นไปตามประกาศฉบับที่ 49 พ.ศ. 2561 เรื่องการแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้ผู้ค้าต้องแจ้งราคาสินค้าให้ชัดเจนบนร้านค้าออนไลน์ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 28 และมีโทษตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท


ความชัดเจนเป็นเรื่องที่ดี

“การเอาจริงเอาจังกับความชัดเจนของราคาและรายละเอียดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก” แอดมินเฟซบุ๊กเพจผู้บริโภคกล่าวกับ วอยซ์ออนไลน์

เขาบอกต่อว่า มาตรการเดินหน้าจับกุมเป็นการเริ่มต้นสร้างมาตรฐานเชิงบวกให้กับการค้าในโซเชียลมีเดีย กระตุ้นให้ผู้ค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและยกระดับการขาย โดยยึดมั่นความชัดเจนต่อผู้ค้าเป็นหลัก

“ผู้ค้าก็มีเหตุผลที่อ้างว่าไม่ต้องการแสดงราคาในเบื้องต้น แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือความชัดเจน ถ้าชัดเจนในรายละเอียด ก็เท่ากับคุณสามารถตอบโจทย์ รวมถึงสร้างความประทับใจแรกให้กับผู้บริโภคได้แล้ว ไม่ต้องรอให้เขาอินบอกซ์มา เพราะถ้าเกิดตอบช้าก็อาจเสียความรู้สึก และเสียลูกค้าได้”

ทั้งนี้ นอกเหนือจากความชัดเจน 'คุณภาพและบริการหลังการขาย' ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่แอดมินเพจผู้บริโภคแนะนำให้ผู้ค้ารักษาเอาไว้อย่างเหนียวแน่น


บันทึกแบบเต็มหน้าจอ 26102561 194324.jpg

เพิ่มความยุติธรรมให้กับการค้า

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย มองว่า ประกาศดังกล่าวสร้างความยุติธรรมมากขึ้นให้กับผู้บริโภค แม้ในบางมุมจะดูฝืนธรรมชาติของการใช้สื่อในโซเชียลมีเดียอยู่บ้าง เนื่องจากผู้ค้าหลายรายให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การเจรจาเพื่อปิดการขาย ขณะที่สินค้าบางประเภทก็มีการปรับเปลี่ยนราคาอยู่บ่อยครั้ง

“จุดอ่อนของโซเชียลมีเดียคือโพสต์ไปแล้ว มันไหลไปเลย ถ้าจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอาจเป็นความซ้ำซ้อนทางด้านราคา”

คำถามที่ภาวุธคิดก็คือ กรมการค้าภายในจะสามารถเข้มงวดและดำเนินการในลักษณะดังกล่าวได้อีกนานเพียงใด เนื่องจากกำลังของเจ้าหน้าที่และการเติบโตของการค้าในโลกโซเชียลมีเดีย


เผยเหตุผลทำไมต้องอินบอกซ์

กลุยทธ์ด้านการตลาดกลายเป็นเหตุผลของผู้ค้าในการปกปิดราคาเบื้องต้น

แอดมินแฟนเพจแม่ค้าออนไลน์ อธิบายว่า สินค้าบางประเภทมีคู่แข่งเป็นจำนวนมาก เกรงว่าจะถูกตัดราคาจากร้านอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีเหตุผลเรื่องการป้องกันมิจฉาชีพอีกด้วย

“มีคนบางประเภทส่งข้อความเข้าไปทักลูกค้าตามเพจต่างๆ และเสนอราคาที่ถูกกว่า เมื่อลูกค้าเห็นแบบนั้นก็ยอมโอนเงินให้ แต่สุดท้ายกลับโดนหลอก”

เธอเห็นว่าการเอาผิดทางกฎหมายกับแม่ค้าที่ไม่เปิดเผยราคาเบื้องต้น รุนแรงเกินไป เนื่องจากวิธีการนำเสนอเป็นสิทธิและกลยุทธ์ที่ไม่ได้เอาเปรียบลูกค้า พูดง่ายๆ คือ “เป็นทางเลือกมากกว่าการบังคับ”   

พ่อค้ามากประสบการณ์ทางโซเชียลมีเดียรายหนึ่ง ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ให้เหตุผลการปกปิดราคาเบื้องต้นว่า

1.หลังไมค์นั้นมีโอกาสเจรจาต่อรอง เพิ่มโอกาสในการขาย และลูกค้าอาจจะได้ราคาลดพิเศษ ผู้ค้าเองไม่สามารถบอกราคาพิเศษในที่สาธารณะได้ เพราะแต่ละคนจะได้ส่วนลดแตกต่างกันตามจำนวนการสั่งซื้อ

นอกจากนั้นการพูดคุยหลังไมค์ยังเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งส่งผลต่อการซื้อขายในระยะยาว

2. หลายคนมีเว็บไซต์หลักคอยบอกราคาอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการโปรโมทเท่านั้น

3. การบอกราคาที่โพสต์หรือคอมเมนต์ ราคาจะติดอยู่ตลอดไป หากเกิดการเปลี่ยนแปลงจะสร้างความสับสนให้กับลูกค้าใหม่ๆ ได้

“สำหรับคนที่สนใจและตั้งใจซื้อสินค้าตัวนั้นจริงๆ เขาจะหาทางติดต่อมาพูดคุยจนได้” เขาให้ความเห็น


AFP-มือถือ-แอปพลิเคชั่น-WhatsApp-วอทแอพ-เฟซบุ๊ก-facebook-อินสตาแกรม-IG

แจ้งจับปรับที่สายด่วน 1569

วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เผยว่า ถ้าพบเห็นการขายสินค้าโดยไม่ปิดป้ายแสดงราคา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน โทร. 1569 หรือเว็บไซต์ www.dit.go.th หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในพบว่า การสืบหาข้อมูลผู้ประกอบการค้าออนไลน์มีกระบวนการที่ซับซ้อน เพราะไม่สามารถค้นหาที่ตั้งที่ชัดเจนได้เหมือนร้านค้าทั่วไป จึงขอให้ประชาชนแจ้งรายละเอียดอย่างชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตามข้อร้องเรียนได้สะดวก

สำหรับประกาศ ฉบับที่ 49 พ.ศ. 2561 เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้ผู้ค้าต้องแจ้งราคาสินค้าให้ชัดเจนบนร้านค้าออนไลน์ ซึ่งบังคับใช้กับผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้า หรือบริการออนไลน์ เช่น ไลน์, เฟซบุ๊ก, เว็บไซต์, อินสตาแกรม ต้องบอกรายละเอียดของสินค้าให้ชัดเจน เช่น ประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนักของสินค้า และการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ

เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันสินค้า และราคาที่แสดงต้องแสดงให้ตรงกับราคาจำหน่ายหรือค่าบริการที่ให้บริการ ยกเว้นกรณีจำหน่ายในราคาต่ำกว่า หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 28 และมีโทษตามมาตรา 40 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

Photo by Andrew Neel on Unsplash

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog