นักสิทธิมนุษยชนจากองค์กร Licadho กล่าวว่า นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (27 ก.ค.) ยังไม่มีใครสามารถเข้าเว็บไซต์ของสื่อหลายสำนักเช่น Radio Free Asia (RFA), Voice of America (VOA) and Voice of Democracy (VOD) รวมถึงเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในกัมพูชา ไม่ว่าจะเข้าผ่านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเจ้าไหน หรือใช้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือค่ายไหน
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์สก็รายงานว่า ไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ของสำนักข่าว Radio Free Asia Khmer, Voice of America Khmer และ Voice of Democracy แต่รอยเตอร์สยังไม่สามารถติดต่อเพื่อสอบถามความเห็นของรัฐบาลได้ รวมถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตค่ายต่างๆ ด้วย ด้านซีอีโอบริษัท Mobitel ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือก็ปฏิเสธที่จะออกความเห็นใดๆ
Licadho ระบุว่าพวกเขารู้สึกเจ็บแค้นที่บริษัทเอกชนบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์ข่าว โดยที่ยังคิดค่าบริการผู้ใช้ในราคาเต็ม นอกจากจะไม่ใช่การทำธุรกิจที่ดี ยังไม่ตรงตามมาตรฐานสากลอีกด้วย
การบล็อกเว็บไซต์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเซ็นเซอร์สื่อออนไลน์ นับตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่รัฐบาลประกาศคำสั่งให้มีการบล็อกหรือเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียที่มีเนื้อหา "ยั่วยุ" หรือเป็นภัยต่อความมั่นคง
ช่วงปีที่ผ่านมา สื่ออิสระในกัมพูชาถูกกดดันอย่างหนักจากรัฐบาลพรรค CPP ของนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีการกำจัดเสรีภาพสื่อในกัมพูชาอย่างร้ายแรงก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 29 ก.ค.นี้
ก่อนหน้านี้ สถานีวิทยุถูกสั่งปิดไปมากกว่า 30 แห่ง ขณะที่สำนักข่าว Cambodia Daily หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในกัมพูชาก็ต้องปิดตัวลงเช่นกัน หลังถูกสั่งให้จ่ายภาษีย้อนหลังจำนวนหลายล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ชาวมาเลเซียเจ้าของบริษัทประชาสัมพันธ์เพิ่งซื้อสำนักข่าว Phnom Penh Post หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวันของกัมพูชา โดยนายฮุน เซนก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของบริษัทประชาสัมพันธ์นั้น ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า การซื้อสื่อครั้งนี้เป็น "หายนะ" ของเสรีภาพสื่อ
สหประชาชาติและประเทศตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน หลังศาลสูงสั่งยุคพรรค CNRP พรรคฝ่ายค้านหลักของกัมพูชาไปตั้งแต่ปลายปี 2017 ด้วยข้อหากบฏและสมคบคิดกับสหรัฐฯ ในการโค่นล้มรัฐบาล เปิดทางให้นายฮุน เซนที่อยู่ในอำนาจมาก 33 ปีลงเลือกตั้งแบบไร้คู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ
ที่มา : Voa Cambodia