นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่าปลดล็อกที่ไม่ปลดล็อก แม้จะมีการยกเลิกประกาศคำสั่งของ คสช. แต่ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างที่ยังไม่ยกเลิกคำสั่งยังถูกผูกมัดด้วยโซ่ตรวนด้วยคดีความ ดังนั้นการดำเนินคดีต่างๆของคสช. ควรถูกยกเลิกและต้องได้รับความยุติธรรม การเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 คสช ไม่ใช่ “คนกลาง” แต่เป็นคู่ขัดแย้ง เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในการเมืองไทย การกำหนดให้ดำเนินคดีกับประชาชนต่อ เป็นประจักษ์พยานชั้นดี
"ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ เดิมพันสำคัญ คือ เราต้องยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. ให้จงได้" ปิยบุตร ระบุ
เช่นเดียวกับนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊ก ต่อกรณีการออกคำสั่งมาตรา 44 ปลดล็อกพรรคการเมือง ว่าภายหลังการออกคำสั่งดังกล่าว ทำให้พรรคการเมืองหาเสียงได้ รวมถึงหลักเกณฑ์จำกัดการหาเสียงยกเลิกแล้ว ขณะที่การชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไปไม่เป็นความผิด ส่วนบุคคลที่เคยถูกทหารบังคับเซ็นต์เอ็มโอยู ตอนนี้ฝ่าฝืนเอ็มโอยู ก็ไม่เป็นความผิด ส่วนอำนาจทหารจะอ้างไปปิดกิจกรรม ห้ามจัดเสวนา ไม่มีแล้ว
อย่างไรก็ตาม "ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยพลังอำนาจของ มาตรา44 และยกเลิกไปด้วยพลังอำนาจของ มาตรา44 ทำงานมาแทบตาย ยังจับความรู้สึกไม่ได้ว่า จะดีใจหรือเสียใจ" ยิ่งชีพ ระบุ
ด้าน ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลใช้มาตรา 44 ปลดล็อกการทำกิจกรรมทางการเมือง ว่า ถึงแม้รัฐบาลจะมีการปลดล็อกมางการเมืองแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังในการทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะถึงแม้จะให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ แต่ก็ยังคงไม่ให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ลงพื้นที่หาเสียง ซึ่งเรื่องนี้ยังคงต้องรอดูต่อไป แต่ส่วนตัวเชื่อว่า การปลดล็อกทางการเมืองนี้จะเป็นผลดีกับพรรคการเมืองต่าง ๆ
คสช. พร้อมดูแลความสงบหลังปลดล็อกพรรคการเมือง
ขณะที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า โดยกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จะยังคงทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยโดยรวมของประเทศ พร้อมสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเตรียมการเลือกตั้ง ควบคู่ไปกับสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนเรื่องการสกัดกั้นยาเสพติด การช่วยเหลือเกษตรกร สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าถึงโครงการรัฐที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งจะคงความต่อเนื่องในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกด้าน
นอกจากนี้จะช่วยสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในสาระสำคัญของการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ส่วนเรื่องใดที่เป็นกิจกรรมทางการเมือง ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็สามารถดำเนินการได้ตาม กฎ กติกา และกฎหมายการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม คสช.จะยังคงดำเนินการไปตามโรดแมปเดิมที่กำหนดไว้ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือจากพรรคการเมืองและทุกภาคส่วน ร่วมกันดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ตามหลักการประชาธิปไตย ใช้กระบวนการต่างๆอย่างเหมาะสม ยึดประโยชน์ของประเทศชาติในอนาคตเป็นหลัก ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับภาคี ตั้งศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 62
ด้านสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ตั้งศูนย์อำนวยการวาระเลือกตั้ง 62 ทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลความรู้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จัดเวทีรับฟังเสียงความต้องการของกลุ่มประชาชน และเวทีแสดงวิสัยทรรศน์ของพรรคการเมือง เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ และผลักดันให้พรรคการเมืองนำนโยบายที่ใช้หาเสียงไปสู่การปฏิบัติจริง ด้วยการเป็นประเด็นต่อรองการร่วมรัฐบาลแทนการต่อรองด้วยเก้าอี้รัฐมนตรี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง