โดยความเคลื่อนไหวนี้เริ่มจาก จ.อุดรธานี หลัง ‘ติ๋ม แดงอุดร’ โพสต์เฟซบุ๊กว่า มีทหารมาสอบถามที่มาปฏิทินดังกล่าว โดยได้ชี้แจงว่า ได้มาหลังขึ้นศาลแขวงดุสิต ที่กรุงเทพฯ ช่วงปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ในคดีเดินรณรงค์คนอยากเลือกตั้ง ก่อนออกจากศาลได้มีคนนำปฏิทินมาแจก ซึ่งได้หยิบมาจำนวน 50 - 60 ใบ เพื่อนำมามอบให้คนที่อยากได้
สำหรับ ‘ติ๋ม แดงอุดร’ เคลื่อนไหวทางการเมืองมานานแล้ว เช่น เรื่องหมู่บ้านเสื้อแดง การเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติฯ
“เขาเพียงขอไปดู ไม่มีอะไรมาก ส่วนจะมีความผิดหรือไม่นั้น เชื่อว่าไม่มี แต่จะแจกได้หรือไม่ ผมไม่ทราบ ต้องไปถาม คสช. และเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจค้น ก็มีเพียง 3-4 คน ซึ่งผู้ที่ทำก็เป็นพวกรัฐบาลเก่า” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าว
“สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแล้ว ถ้าผิดหรือสร้างความแตกแยก ความไม่พอใจ ก็ว่าไป ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ต้องไปสอบสวนดู ส่วนจะให้แจกได้หรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ คือถ้าแจกได้เจ้าหน้าที่คงไม่ตามไปเก็บ ถ้าฝ่ายความมั่นคงไม่เข้าไปสอบสวน จะรู้ได้อย่างไรว่า สร้างความแตกแยก หรือเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ก็ให้เจ้าหน้าที่ดูก่อน แล้วรายงานมา” พล.อ.ประวิตร ระบุ
อีกพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหว คือ จ.อุบลราชธานี หลังทหาร - ตร. ฝ่ายปกครอง กว่า 50 คน ได้นำกำลังตรวจสอบและยึด ‘ปฏิทินสีแดง’ ไป หลังมีการโพสต์เฟซบุ๊กของ ‘รัตนา เสรีชน’ อดีตแกนนำแดงเสรีชน ว่า “วันนี้ไม่อยู่บ้าน มีแขกมาเยี่ยมบ้าน มาเอาของฝากไปหมดเลย ปฏิทินเป็นอาวุธร้ายแรง”
ต่อมาได้เชิญตัว ‘พรพิทักษ์ จันทาดี’ และ ‘รัฐวีร์ หรือ รัตนา ผุยพรม’ ไปพูดคุยที่ มทบ.22 ตามหนังสือเชิญโดยมี พ.อ.ชูชาติ อุปสาร เสนาธิการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.อุบลราชธานี พร้อมด้วย รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลฯ และ ฝ่ายปกครอง อ.วารินชำราบ โดยมีการเปิดเผยถึงที่มาของปฏิทินกว่า 5,300 แผ่น มีคนส่งมาให้ และ���าวบ้านได้มาขอไปแล้วประมาณ 400 แผ่น
โดยมีรายงานว่าเหตุผลที่เจ้าหน้าที่ยับยั้งการแจกปฏิทิน เพราะภาพผู้ต้องหาหลบหนีคดี จึงไม่เหมาะในการเผยแพร่ต่อสังคม ซึ่งสอดรับกับการชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กับ พล.อ.ประวิตร
“เรื่องนี้ก็ต้องดูว่าเป็นเรื่องที่ควรหรือไม่ควร ก็ต้องไปหามา เป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านความมั่นคงก็ต้องไปดูในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปฏิทินหรือเรื่องอื่นๆ ถ้าอะไรก็ตามที่มีผลต่อการสร้างความเกลียดชัง และผลกระทบต่างๆ ก็ต้องไปตรวจสอบ ถือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งก็ต้องไปดูว่าเหมาะสมหรือไม่ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีแต่มีความเกี่ยวข้องกับคดีความต่างๆ ที่ยังมีปัญหาอยู่ ก็ต้องไปดูว่าควรจะทำหรือไม่ควรทำ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
“การแจกปฏิทินไม่ผิด หากทำเพราะรักเพราะชอบก็ว่าไป เขารู้ว่าคนไหนเป็นพวกใคร แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองไม่สามารถแจกได้ และการที่ภาพในปฏิทินเป็นบุคคลหนีคดี จำเป็นต้องพิจารณาหรือไม่ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่จะไปดูว่าสมควรให้แจกหรือไม่ สำหรับภาพคนหนีคดี ผมในฐานะฝ่ายนโยบาย ไม่ได้กำชับอะไรลงไป เพราะไม่ได้เดือดร้อนอะไร” พล.อ.ประวิตร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายความมั่นคง ได้ประเมินว่า เรื่องปฏิทินสีแดงรูปอดีตนายกฯ ไม่ได้มีผลต่อการเคลื่อนไหวมากนัก และไม่มีคำสั่งพิเศษใดๆ มาให้ติดตาม แต่มีการติดตามกลุ่มแจกปฏิทินเป็นกลุ่มต่อต้าน คสช. หรือ คนเสื้อแดงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเครือข่ายกลุ่มคนเหล่านี้มักทำสินค้าเป็นภาพเกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง อดีตนายกฯ หรือแม้แต่ทำเป็นภาพสัญลักษณ์ต้านคสช.ออกมาจำหน่าย ตามกระแสที่เกิดขึ้นช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งยังคงเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้มีการเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ในขณะนี้ด้วย ด้วยเป็นแฟนคลับของ 2 อดีตนายกฯ ที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว
โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ไปพบกลุ่มเครือข่ายเหล่านี้แล้ว หลังมีการเผยแพร่ภาพผ่านเฟซบุ๊ก โดยรายได้จากการจำหน่ายสินค้าบางอย่างก็จะนำไปสนับสนุนการจัดรณรงค์การเลือกตั้ง และการช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557
อย่างไรก็ตาม มีการระบุถึง ‘โพลลับ’ ประเมินสถานการณ์เลือกตั้ง โดย ‘พรรคเพื่อไทย’ หลังจากมีการประเมินติดตาม ‘กลุ่มหัวคะแนน’ ในแต่ละพื้นที่ของแต่ละพรรค ที่ช่วงนี้อยู่ในห้วงการเปลี่ยนค่ายสลับขั้วทางการเมือง แต่เชื่อกันว่าพรรคเพื่อไทยแม้ชนะก็จะไม่ชนะขาดเช่นในอดีต ด้วยเหตุปัจจัยทางการเมืองที่เปลี่ยนไปและระบบการการเลือกตั้ง
รวมถึงพรรคที่มีการแตกสาขาออกมา เช่น พรรคเพื่อธรรม ที่มีแกนนำอย่าง นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ , พรรคเพื่อชาติ มีแกนนำอย่าง นายยงยุทธ ติยะไพรัช นายจตุพร พรหมพันธุ์ พรรคประชาชาติ นำโดย นายวันมะหะมัด นอร์มะทา และ พรรคไทยรักษาชาติ ที่ทีมเพื่อไทยจำนวนหนึ่งได้ย้ายไป
แต่สุดท้ายก็ต้องมารวมพลังกัน รวมทั้งพรรคที่ต้าน คสช. ชัดเจน เช่น พรรคอนาคตใหม่ ที่ก็ถูกจับตาไม่น้อย เพราะฐานเสียงของพรรคนี้ยังสามารถดูดมายังพรรคอื่นๆได้ เพราะไม่ได้เป็น ‘แฟนพันธุ์แท้พรรค’ เหมือน ‘แฟนคลับ’ พรรคเพื่อไทย ที่เหนียวแน่นกว่า
จึงเป็นปรากฏการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะยิ่งระอุขึ้นเรื่อยๆ ตามวันเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา แม้รัฐบาล - คสช. จะตั้งไว้วันที่ 24 ก.พ.62 แต่ในความเป็นจริงสามารถยืดไปได้ถึง 9 พ.ค.62 ซึ่งเป็นกรอบระยะเวลา 150 วัน ที่จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะประกาศใช้วันที่ 11ธ.ค.นี้
แต่ ‘แรงสวิง’ ทางการเมืองเกิดขึ้นได้ตลอด ตราบใดที่ยังไม่ถึงเวลา ‘เปิดคูหา หรือการเปิดสภา ‘เลือกนายกฯ’ อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะ ‘งูเห่า’ มีทุกยุค
เลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่ ‘แพ้-ชนะ’ แต่จะมี ‘ล้ม-ยืน’ เข้ามาเป็น ‘เดิมพัน’ ด้วย !!