ย้อนกลับไปในอดีต ‘โรคยอดฮิตคร่าชีวิตผู้หญิงไทย’ คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก ‘มะเร็งปากมดลูก’ ทว่าช่วง 5-6 ปีหลัง ดูเหมือนยอดผู้ป่วยจาก ‘มะเร็งเต้านม’ จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนครองแชมป์อันดับหนึ่ง โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเมื่อปี 2557 ระบุว่า พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพศหญิงรายใหม่ 31.36 ต่อประชากร 100,000 คน หรือ 40 คนต่อวัน และเสียชีวิต 10 คนต่อวัน!
เมื่อสัปดาห์ก่อน Voice On Being มีโอกาสเข้าพบ ผศ.นพ. เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ร่วมด้วย รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์การเกิดมะเร็งเต้านม เรื่อยไปจนความเชื่อ และความเข้าใจผิดๆ ในสังคมไทยปัจจุบัน
ว่ากันตามข้อเท็จจริง อุบัติการณ์การเกิด ‘มะเร็งเต้านม’ เพิ่มขึ้นรวดเร็วกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ และกำลังเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศหญิง หรือเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ผลิตจากรังไข่ โดยผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกช่วงอายุล้วนเสี่ยงต่อของการเกิดมะเร็งเต้านมแทบทั้งสิ้น ทว่าผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปี ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงอย่างชัดเจน
สำหรับประเด็นการรักษาทางการแพทย์ มะเร็งเต้านมแบ่งออกเป็น 4 ระยะ เหมือนกับมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยระยะ 1-3 จำกัดพื้นที่อยู่บริเวณเต้านม หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ส่วนระยะ 4 เป็นการแพร่กระจายสู่ปอด ตับ กระดูก สมอง ฯลฯ ซึ่งระยะ 1-3 สามารถรักษาหายได้ ทว่าไม่ใช่กับผู้ป่วยทุกราย ส่วนระยะ 4 เป้าหมายของการรักษาไม่ใช่ให้หายขาด แต่ทางการแพทย์จะเป็นการบรรเทาอาการ และยืดชีวิตของผู้ป่วยให้ยาวนานที่สุด
จริงอยู่ว่า โรคมะเร็งเปี่ยมไปด้วยความซับซ้อน สังคมไทยจึงเกิดข่าวลือผิดๆ เกี่ยวกับแนวทางการป้องกัน และรักษามะเร็งเต้านมเผยแพร่ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลสะเทือนกับผู้คนเป็นวงกว้าง ดังนั้น Voice On Being จึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านร่วมคลายความสงสัยในมายาคติหลายแหล่เกี่ยวกับ ‘มะเร็งเต้านม’ ที่สืบทอดต่อกันมานานแสนนาน ทว่ากลับยังไม่พบข้อพิสูจน์แน่ชัด
นับเป็นหนึ่งความเชื่อระดับตำนานว่า มะเร็งเต้านมสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ความจริงแล้วคือ พันธุกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่ง และแค่เพิ่มความเสี่ยงเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนมากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจากพันธุกรรมมักพบประวัติว่า ครอบครัวมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะญาติสายตรงอย่าง แม่ พี่สาว หรือน้องสาว สำหรับช่วงอายุผู้เริ่มเป็นมะเร็งเต้านมทั่วๆ ไปมักจะเจอกับคนที่อายุ 40-50 ปี แต่ถ้าเป็นมะเร็งเต้านมจากพันธุกรรมอาจจะพบในช่วงอายุที่น้องลง เช่น 20-30 ปี ก็เป็นมะเร็งเต้านมแล้ว
“ไม่น่าเกี่ยวกัน” แต่การเป็นมะเร็งเต้านมบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการ หัวนมอักเสบ ดังนั้น ถ้าพบหัวนมอักเสบเรื้อรัง โดยไม่มีต้นสายปลายเหตุชัดเจน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบดูว่า อาการหัวนมอักเสบอาจบ่งชี้ว่า ผู้ป่วยมีมะเร็งเต้านมอยู่ด้านใน
แน่นอนว่า สำหรับระยะแรกๆ ผ่าตัดเต้านมเป็นการรักษาหลัก เพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาด แต่ปัจจุบันวิธีการผ่าตัดพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ จากสมัยก่อนต้องตัดเต้านมออกทั้งก้อน ต่อด้วยการผ่าตัดเสริมเต้านมเทียม จนกระทั่งทุกวันนี้ การรักษาไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออกหมด เพียงแค่ผ่าบางส่วนของเต้านมออก และเก็บส่วนที่เหลือไว้ได้
ผศ.นพ. เอกภพ ยืนยันชัดว่า “คงเป็นความเข้าใจผิด” ไม่ปรากฏรายงานการศึกษาเรื่องการสวมชุดชั้นในรัดๆ จะส่งผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ความจริงมะเร็งเต้านมมีหลายกลุ่ม หลายประเภท โดยประเภทหนึ่งที่ทราบสาเหตุชัดเจนคือ เรื่องของฮอร์โมนเพศหญิงจากรังไข่ไปกระตุ้นเซลล์มะเร็ง ดังนั้น การสวมชุดชั้นรัดๆ คงไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมอย่างแน่นอน
“มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่เกิดกับคนที่ฮอร์โมนเพศหญิงมากๆ หรือฮอร์โมนเพศหญิงอยู่นานๆ เช่น ประจำเดือนมาเร็ว และประจำเดือนหมดช้า จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมมากยิ่งขึ้นอีก อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของยีนก่อมะเร็ง ยกตัวอย่างเช่น โปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เฮอร์ทู (HER2) ซึ่งพบบ่อยในมะเร็งเต้านมกลุ่มหนึ่ง” ผศ.นพ. เอกภพ อธิบายเสริม
รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ อธิบายว่า“ไม่จริงแน่นอน” เช่นเดียวกับกรณีผู้หญิงสวมชุดชั้นรัดๆ คือมันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่น่าส่งผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
‘แมมโมแกรม’ (Mammogram) หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘เอกซเรย์เต้านม’ ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ตรง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้แพทย์เห็นรายละเอียดของเนื้อเต้านมชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งค่อนข้างสะดวก และรวดเร็ว เพราะผู้ป่วยบางรายตรวจร่างกายแล้วอาจไม่พบก้อนเนื้อใดๆ เลย แต่กลับพบความผิดปกติจากแมมโมแกรม โดยเฉพาะหากพบก้อนเนื้อระยะแรกๆ หากตรวจพบเร็วก็สามารถรักษาหายได้
ทั้งนี้ รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ชี้ว่า การตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมในผู้หญิงอายุน้อยๆ อาจแสดงผลลวง หรือไม่เป็นจริง เพราะเต้านมผู้หญิงอายุน้อยจะมีความหนาแน่นสูง ทำให้การเอกซเรย์เห็นผลไม่ชัดมากนัก ขณะเดียวกันบางคนอาจคิดว่า ทำแมมโมแกรมเพียงครั้งเดียวแล้วจบ แต่ความจริงแล้วต้องทำเป็นระยะๆ เพื่อตรวจดูความเปลี่ยนแปลง โดยขึ้นอยู่กับความผิดปกติของเต้านม ดังนั้น หากความเสี่ยงไม่มาก เช่น ไม่มีปัจจัยทางพันธุกรรมเลย แพทย์ก็ไม่แนะนำให้ตรวจแมนโมแกรมเร็วนัก
แม้ต้นตอของมะเร็งเต้านมจะมาจากเอสโตรเจน ทำให้เมื่อพูดถึงมะเร็งเต้านมหลายคนมักโฟกัสอยู่แค่ผู้หญิง แต่หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า “ไม่เป็นความจริง”
มะเร็งเต้านมเกิดกับผู้ชายได้ ซึ่งประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพศชายอยู่บ้าง แม้จะน้อยมากหากเทียบเคียงกับผู้ป่วยเพศหญิง โดยจำนวนผู้ป่วยเพศชายต่อปีอยู่ประมาณหลักสิบรายเท่านั้น หรือน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเด็นน่าเป็นกังวลคือ ผู้ป่วยเพศชายมักตัดสินใจเข้ารับการรักษาช้า หรือหลังจากมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลาม เนื่องจากเต้านมของเพศชายขนาดเล็กกว่าผู้หญิงจึงสังเกตลำบาก และวินิจฉัยเซลล์มะเร็งค่อนข้างยาก
เรื่องการทานอาหารเสริม หรือวิตามินดูจะตอบยากสักนิด ทว่า รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ช่วยไขข้อสงสัยว่า การกินวิตามินเป็นจำนวนมากกว่าปกติเป็นสิ่งไม่สมควรทำ เนื่องจากวิตามินบางชนิดหากรับประทานเข้ามากๆ จะทำให้เกิดการสะสม และเป็นพิษ “อย่างเช่นวิตามินดีทานเยอะมากไปไม่ใช่เรื่องดี” โดยทั่วๆ ไปวิตามินหลายๆ ชนิดจะเขียนบนฉลากเอาไว้ว่า ขนาดรับประทานต่อหนึ่งวันควรเป็นเท่าไหร่ ถ้าเป็นวิตามินรวมส่วนใหญ่ไม่ควรกินเกินกว่า 1 เม็ด/ครั้ง/วัน
ถือเป็นอีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่ยึดติดกันมานมนานว่า ซีสต์ (Cyst) บริเวณเต้านมปล่อยทิ้งไว้กลายเป็นมะเร็ง แต่แพทย์อธิบายว่า บ่อยครั้งสิ่งผิดปกติบริเวณเต้านมเป็นเพียงถุงน้ำ ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง และหากความผิดปกติเป็นเพียงถุงน้ำเฉยๆ ปราศจากก้อนเนื้อร้ายปะปนก็สบายใจได้ เพราะไม่พบความเสี่ยง แต่บางครั้งการตรวจด้วยวิธีคลำมันค่อนข้างแยกยาก ดังนั้น การตรวจด้วยแมมโมแกรม หรืออัลตราซาวด์ อาจช่วยวินิจฉัยได้ดียิ่งขึ้น
การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยการคลำเต้านมตัวเองเชื่อไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากข้อเสียคือ คนจำนวนมากไม่สามารถมั่นใจได้ว่าก้อนเนื้อผิดปกติหรือไม่ บวกกับบางครั้งความวิตกกังวลอาจส่งผลให้ต้องพบแพทย์เร็วขึ้น โดยไม่มีความจำเป็น
มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่พบมากกับผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ถ้าอายุน้อยมากๆ หรือไม่ถึง 20 ปี โอกาสเป็นค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ทางแพทย์ไม่ได้ห้ามการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง ทว่าสิ่งสำคัญควรทราบคือ พบลักษณะความผิดปกติชนิดใดจึงควรเข้าพบแพทย์เร็วขึ้น เช่น เมื่อก้อนนั้นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีประจำเดือนอยู่ หลังจากหมดรอบเดือนแล้วปรากฎว่า ยังคงคลำก้อนเนื้อในเต้านมได้อยู่ อาจต้องพบแพทย์สักครั้งหนึ่ง
ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า การทำศัลยกรรมเต้านมส่งผลต่อการเกิดมะเร็งบริเวณเต้านม แต่ความเสี่ยงของการศัลยกรรมเต้านมนั้นขึ้นอยู่กับ ‘ซิลิโคน’ ใต้ผิวหนัง ซึ่งบางคนแพ้อาจส่งผลต่อมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณเต้านมมากกว่า แต่พบน้อยมากๆ
นายกมะเร็งวิทยาสมาคมเผยว่า ขนาดหน้าอกทั้งเล็ก ทั้งใหญ่เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมเท่าๆ กัน
ไม่ขอเถียงว่า เรื่องผลกระทบจากกาแฟ หรือคาเฟอีน ได้มีการนำเสนอข้อมูลออกมาหลากหลายรูปแบบมากๆ ทั้งประเด็นกระตุ้นการเกิดมะเร็ง ไปจนถึงช่วยรักษามะเร็งได้ ดังนั้น ผศ.นพ. เอกภพ จึงขอสรุปสั้นๆ ว่า “มันเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน”