ในการประชุมเชิงปฎิบัติการจัดทำแผนการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพโดยโครงการ Biodiversity Finance Initiative - BIOFIN/ไบโอฟิน) จัดโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP/ยูเอ็นดีพี) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
นายมาร์ติน ฮาร์ท–แฮนเซ่น รองผู้แทนยูเอ็นดีพีประเทศไทย กล่าวว่า มีบริษัทไทยถึง17 บริษัทได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ประจำปี 2560 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จเรื่องการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม
อย่างไรก็ตาม บริษัทดังกล่าวล้วนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) สิ่งที่เป็นความคาดหวังต่อไปจึงเป็นเรื่องของการส่งต่อแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปถึงภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เพื่อให้เกิดความตระหนักว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ
สำหรับการดำเนินโครงการไบโอฟินในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนการระดมทรัพยากรเพื่อดูแลความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ผ่านการวิจัยและจัดทำแผนด้านการเงินและทรัพยากรในการสนับสนุนการลงทุนและการบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างบูรณาการ ตลอดจนการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ตามเป้าหมายไอจิภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
ดร. ธีธัช เชื้อประไพศิลป์ นักวิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการทบทวนค่าใช้จ่ายด้านความหลากหลายทางชีวภาพของโครงการไบโอฟิน กล่าวว่า โครงการไบโอฟินทำให้ทราบถึงการใช้จ่ายงบประมาณจากภาครัฐและความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยร้อยละ 80 ของงบประมาณเพื่อดูแลความหลากหลายทางชีวภาพจากภาครัฐได้รับการจัดสรรให้กับหน่วยงานที่มีพันธกิจโดยตรง ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช กรมป่าไม่ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะมีหลายภาคส่วนจะมาร่วมทำแผนระดมทรัพยากรเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นจริง เนื่องจากการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพต้องใช้การจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการรักษาทุนธรรมชาติ หากจะต้องระดมทุนใน ประเทศไทยให้มากขึ้น ควรมุ่งเน้นให้มีช่องทางอื่น เช่นภาคธุรกิจและภาคธนาคารเข้ามาเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ รศ.ดร.อรพรรณ ณ บางช้าง ศรีเสาวลักษณ์ ได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินความต้องการทางการเงิน โดยใช้ฐานการคำนวนงบประมาณจริงจากแผนงานของหน่วยงานภาครัฐหลัก และการจัดสรรงบประมาณเพื่อการดูแลระบบนิเวศ เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและกรมป่าไม้ พบว่า เฉพาะต้นทุนขั้นต่ำที่จำเป็นในการจัดสรรเพื่อดูแลระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งในระหว่างปี 2561 – 2570 ก็ต้องการงบประมาณกว่า 41,065 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้ดูแลป่าชายเลน 19,930 ล้านบาท การรักษาหญ้าทะเล 11,354 ล้านบาท และการดูแลปะการัง 9,781 ล้านบาท
รศ. ดร. อรพรรณ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่พบในขณะนี้คือ สัดส่วนงบประมาณจากภาครัฐยังไม่เพียงพอต่อการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ไบโอฟินจึงต้องการหาโมเดลที่เหมาะสม มีความเป็นไปได้และเกิดผลกระทบด้านบวกในการอนุรักษ์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้ทั้งภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาครัฐ เข้ามามีส่วนระดมความเห็นร่วมกัน เช่น การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งนักท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมาร่วมมือกันระดมทรัพยากรการเงิน บุคคล เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อนำไปใช้ดูแลทรัพยากรในพื้นที่อย่างเหมาะสม
ตัวอย่างเช่น หากขาดการดูแลระบบนิเวศป่าชายเลนที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 287,000-497,000 ล้านบาทต่อปี ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจที่หายไปจากระบบนิเวศนี้ราว 1,750-3,150 ล้านบาทต่อปีต่อขนาดพื้นที่ 10,000 ไร่
ทั้งนี้ยูเอ็นดีพี จะนำผลการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ได้รับฟังความเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี จะสามารถจัดทำเป็นข้อเสนอต่อคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปพิจารณากำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้านการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศต่อไป และโครงการไบโอฟินจะร่วมกับรัฐบาลไทยจัดทำแผนการระดมทุน Biodiversity Finance Plan ผ่านโครงการนำร่องในระยะ 5 ปีจากนี้ไป