ไม่พบผลการค้นหา
กรมการค้าภายใน แจงกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตรียมยื่นศาลปกครอง ร้องปัญหา "ค่ารักษาพยาบาล ของโรงพยาบาลเอกชนสูงเกินจริง" ชี้กระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ควบคุมราคาต้องให้ กกร. นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีก่อน

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงประเด็นปัญหาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนสูงเกินจริง ตามที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุได้รับการร้องเรียนถึงปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนสูงเกินจริง โดยมีประเด็นดังนี้ 

1. ไม่มีหน่วยงานเข้าไปกำกับควบคุมค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่สูงเกินจริง โดยค่ายาบางชนิดราคาสูงเกือบ 200 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับร้านขายยาหรือโรงพยาบาลรัฐ รวมถึงค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าแพทย์ผ่าตัดมีราคาสูง ซึ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ  

2. มีการบวกเพิ่มค่ารักษาพยาบาลเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ 

3. ทางมูลนิธิฯ เคยทำหนังสือไปยังกรมการค้าภายในให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้ถึง 3 ฉบับ แต่ได้รับคำตอบว่า “ไม่สามารถทำได้” 

ทั้งนี้หากหน่วยงานไม่เข้ามาดูแล จะรวมตัวกันฟ้องศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครอง

ข้อเท็จจริง

1. ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลไม่ได้กำหนดเป็นบริการควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แต่ได้มีมาตรการกำกับดูแลคือให้ปิดป้ายแสดงค่ารักษาพยาบาลไว้ในที่เปิดเผยและชัดเจน หรือให้จัดทำเป็นเอกสารหรือ Website ของโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบอัตราค่ายาและค่าบริการก่อนการตัดสินใจใช้บริการ

2. กระทรวงสาธารณสุขมีพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 โดยการประกอบกิจการสถานพยาบาลและการดำเนินการสถานพยาบาล มาตรา 32 (3) ผู้รับอนุญาตต้องแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล และสิทธิของผู้ป่วยที่สถานพยาบาลต้องแสดงตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง โดยกำหนดโทษ มาตรา 59 ผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจะมีการประมาณการอัตราค่าบริการเบื้องต้น แจ้งให้ผู้รับการรักษาทราบก่อน

3. การแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงได้มีคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลราคาแพง และคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลราคาแพง ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและดำเนินการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน

การแก้ไขปัญหา

1. ขณะนี้กรมการค้าภายในได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้มีการบูรณาการงานร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้มีการประชุมหารือพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกรมการค้าภายในได้มีการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 62 แห่ง ซึ่งวานนี้ (9 พ.ย.) ได้กำหนดให้มีการประชุมหารือการดำเนินการกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อพิจารณาข้อมูลและแนวทางการดำเนินการต่อไป

2. การพิจารณาราคายาและอัตราค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมควรให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลค่ายาและค่ารักษาพยาบาลโดยตรง รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขมีการแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับดูแลอยู่แล้ว

3. ในเบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์จะทำให้ราคาค่ารักษาพยาบาลมีความโปร่งใส แข่งขันกันในโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ให้ประชาชนเป็นผู้เลือก โดยให้ประชาชนรู้และสามารถตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะราคาค่ารักษาพยาบาลได้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต เพื่อลดความสงสัยและโต้แย้ง 

ทั้งนี้ ในขั้นต่อไปหากจะให้กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุม โดยอาศัยอำนาจตาม พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กระทรวงพาณิชย์จะทำการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำข้อมูลหลักเกณฑ์และเหตุผล รวมทั้งเป็นผู้พิจารณาราคายาและอัตราค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมเช่นเดียวกับสินค้าควบคุมอื่น ๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำตาลทราย เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณากำหนดเป็นสินค้าและบริการควบคุมต่อไป ที่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงเป็นผู้พิจารณากำหนดและเสนอมายัง กกร. เพื่อดำเนินการต่อไป