ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยที่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ได้มีคำตอบว่าจะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีโอกาสเป็นไปได้ในหลายทิศทาง โดยบนพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังติดลบอยู่ ประเด็นนี้อาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าได้ แต่ขณะนี้ยังถือว่าไม่ใช่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุมยังเห็นว่าสถานการณ์ยังควบคุมได้ โดยความรู้สึกของนักลงทุนหากพิจารณาในส่วนของตลาดทุนพบว่าเป็นในทิศทางที่บอกว่ายังเฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่
ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงมากที่สุดต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ คือ การขับเคลื่อนในประเทศของรัฐบาล โดยเฉพาะการกระตุ้นให้เกิดการบริโภค ที่ขาดความต่อเนื่อง ตามการหายไปของทีมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านการลงทุนของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชน
โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้มีการปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะติดลบอยู่ที่ 8% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบที่ 5% เนื่องจากเศรษฐกิจยังหาความมั่นใจค่อนข้างยากในหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ แต่แต่ในส่วนของสถานการณ์การเมืองคงไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจปีนี้ให้ติดลบไปมากกว่า 8% ขณะที่ในปี 2564 ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นบวกได้ที่ 2% แต่จะกลับไปถึงบวกในระดับที่ 3% ก่อนช่วงโควิด-19 อาจต้องใช้เวลามากกว่า 3-4 ปี เช่นเดียวกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศที่จำนวนแตะระดับ 40 ล้านคนต่อปี ต้องใช้เวลา 3-5 ปี