วันที่ 10 ต.ค. ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมครั้งแรก ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า วันนี้หลังจากคุยกรอบความคิด แนวทางจะมีคณะอนุกรรมการ มาศึกษาหลังจากนั้นจะพยายามทำให้เสร็จภายใน 4 ปี ก็มีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณา โดยเฉพาะการตัดสินใจทำประชามติ เพราะนายกรัฐมนตรี ได้ให้ดำริไว้ว่า ให้ทำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ ส่วนรายชื่อกรรมการก็คงมีเท่านี้หลังพรรคก้าวไกล ยืนยันไม่เข้าร่วม และไม่ถือว่าเป็นปัญหา คณะกรรมการพร้อมจะรับฟังความเห็นให้มากที่สุด ยอมรับว่าเสียดาย ที่พรรคก้าวไกลปฏิเสธ แต่ถึงเวลาเราก็ต้องออกไปฟังความเห็นอยู่ดี และมีหลายวิธีที่สามารถจะส่งข้อมูลเข้ามาที่คณะกรรมการได้ ขณะเดียวกันก็ยังต้องสื่อสารทั้งกับสื่อมวลชน ที่ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่รับฟังความคิดเห็นมากที่สุด
ถามว่าจะถูกมองว่าไม่มีความเชื่อมั่น เพราะไม่มีพรรคก้าวไกลหรือไม่ ภูมิธรรมตอบว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นพรรคเดียวที่จะมารับประกันว่าจะทำให้มีความน่าเชื่อถือ เพราะวันนี้พยายามจะเชิญทุกฝ่ายจากหลายพรรค และให้เสนอชื่อมาอย่างที่แต่ละพรรคเสนอ ทั้งนี้ก็มีฝ่ายค้านเข้าร่วม ทั้งพรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ จึงคิดว่าความน่าเชื่อถือไม่ได้อยู่ว่าพรรคไหนเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม แต่อยู่ที่บุคลากร ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดที่เราเลือกมามากกว่า และเป็นที่ยอมรับในสังคม ทั้งนักวิชาการ ที่มีบทบาทในการต่อสู้รัฐธรรมนูญมาพอสมควร รวมถึงอดีตข้าราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจากองค์กรอิสระ สำนักงานอัยการ สถาบันพระปกเกล้า หรือแม้แต่ตัวแทนของทหาร ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และไม่อยากคิดว่าเป็นการจ้องล้มหรือดิสเครดิตทางการเมืองของพรรคก้าวไกล เพราะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายก็ล้วนปรารถนา เพียงแต่รายละเอียดอาจมีความแตกต่างกันออกไป เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการ เคารพในสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย ใครจะร่วมหรือไม่ร่วมก็ไม่เป็นไร แต่รัฐบาลได้แสดงความจริงใจ ด้วยการดึงทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันทำงาน ไม่มีใครสามารถไปบริหารจัดการใครได้ แต่ต้องทำให้โปร่งใสและตั้งเป้าไม่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาที่รัฐบาลมีวาระอยู่ และเราต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด
เมื่อถามว่า คาดหวังให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือไม่ ภูมิธรรม ตอบว่า ให้สอดรับและเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด จากความสำรวจความคิดเห็น และยืนยันชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่แตกหมวด 1 และหมวด 2 ที่เป็นพระราชอำนาจ จึงขอให้เชื่อใจว่า เป็นความปรารถนาของคนส่วนใหญ่ในสังคมและไม่คิดว่าจะมีส่วนไหนของสังคม ที่มีปัญหากับหลักการข้อนี้
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการ ทั้ง 35 คน เป็นคณะกรรมการที่ด้านรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ภูมิธรรม ตอบว่าไม่มีความคาดหวังใดๆทั้งสิ้น แต่คิดว่าจำนวนเท่านี้ จะทำให้การทำงานคล่องตัวมากที่สุด และหากมีคณะอนุกรรมการที่จะมาขับเคลื่อนต่อ ก็จะตั้งขึ้นมาใหม่
ทั้งนี้ ภูมิธรรม ได้ย้ำกับคณะกรรมการในที่ประชุมว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นที่จับตาและเป็นที่ได้รับความสนใจจากสื่อและประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะระยะเวลา และ กรอบการทำงาน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและสนใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงมอบหมายให้ตนมาเป็นประธาน และเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาร่วมพูดคุยเพื่อไม่ให้เป็นปัญหา หรือถกเถียงกัน ว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จากเดิมที่ได้เชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จำนวนหนึ่ง เพราะถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชน และพรรคการเมืองที่เสนอเข้ามา และคิดว่าเป็นกรรมการศึกษา ที่จะทำประโยชน์เรื่องรัฐธรรมนูญ และทำหน้าที่ในสภามีหน้าที่พิจารณากฎหมายอยู่แล้ว แต่เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาทักท้วง จึงถอดรายชื่อ สส. ออก เพราะถ้าหากว่านั่งตกกิ่งกับเรื่องนี้ก็จะเป็นการเสียเวลา และให้แต่ละพรรคเพิ่มบุคลากรของตัวเองเข้ามา จนตอนนี้ไม่มีข้อถกเถียงและสงสัย และจะเริ่มต้นทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยการทำประชามติ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ จะยึดเอาจุดยืนนั้นเป็นหลัก และสำคัญที่สุดคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะไม่หมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงไม่แตะพระราชอำนาจ แล้วต้องจบภายใน 4 ปีซึ่งเป็นวาระรัฐบาล และทำให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามตินำไปใช้จริงให้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการนัดการประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกในวันที่ 10 ตุลาคม เวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยคาดว่าจะประชุมเพื่อวางกรอบต่างๆ ในการทำประชามติ เช่น เรื่องของคำถามว่าจะถามกันอย่างไร และต้องกำหนดว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง ทั้งนี้ ตามกรอบทั่วไปจะพยายามให้มีการทำประชามติถามครั้งแรกช่วงต้นปี 2567