น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวต่อการลงมติเลือกนายกฯในวันที่ 5 มิ.ย. นี้ โดยระบุว่าเหตุผลที่ส่วนตัวที่จะเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ว่า พล อ.ประยุทธ์ และคสช.ถูกโจมตีว่าต่อท่ออำนาจในการตั้งพรรคพลังประชารัฐที่จะเป็นแกนเสนอชื่อตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ แต่ไม่มีใครพูดเพื่ออะไร ซึ่งคำถามพ่วงประชามติเมื่อทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ออกเสียงเห็นชอบ 15 ล้านเสียงหรือร้อยละ 58 เห็นชอบให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะที่เสียงไม่ให้ความเห็นชอบ 10 ล้านเสียงหรือ ร้อยละ 41.93 ในขณะที่ประชาชนให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญทั้งฉบับถึง 16,820,402คน หรือร้อยละ 61.35
นพ.เจตน์ ระบุว่าการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ ครม.จะต้องมารายงานรัฐสภาทุก3เดือน ส.ส.และส.ว.มีหน้าที่ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการปฏิรูป หรือเข้าชื่อเสนอประธานสภาในกรณีที่เห็นว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 จึงตราให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 และให้ คสช.มีอำนาจเลือกส.ว.ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา194คน และจากการเลือกกันเอง50คนตามมาตรา269
"พล อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯที่ผลักดันยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศมาตลอดในช่วงเวลา5ปีที่ผ่านมา อย่างชัดเจน ส่วนหัวหน้าพรรคอื่นที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ยังไม่เคยได้ยินใครว่าต้องการเข้ามาแล้วจะมุ่งมั่นเข้ามาปฏิรูปประเทศ แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเสนอใครมาสู้กับพล อ.ประยุทธ์ก็ตาม แต่เมื่อดูจากรายชื่อสามคนจากพรรคเพื่อไทย และผู้ที่พรรคอื่น (ที่มีส.ส.มากกว่า25 คน) เสนอชื่อทั้งหมด ได้ยินเพียงว่าจะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผ่านประชามติไปแล้วเท่านั้น ประเด็นการปฏิรูป คือเหตุผลที่ผมจะเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในวันที่ 5 มิ.ย.นี้" นพ.เจตน์ ระบุ
น.พ.เจตน์ ยังให้สัมภาษณ์ว่า ในการโหวตนายกฯนั้นจะใช้การลงคะแนนโดยเปิดเผยขานชื่อรายบุคคล ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วประธานและรองประธานจะงดออกเสียง ส่วนตัวเชื่อว่า ส.ว.ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์จะโหวตเลือกพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อไป ส่วนข้อเรียกร้องให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯในการประชุมรัฐสภาวันที่ 5 มิ.ย.นั้น ตนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้กลัวหรอก แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญและข้อบังคับไม่ได้กำหนดให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประชุมมาร่วม พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่จำเป็นต้องมา ซึ่งความเห็นส่วนตัวก็เห็นด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องมา แคนดิเดตนายกฯถือเป็นบุคคลภายนอก
สำหรับการตั้งข้อสังเกตว่า พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ยืนยันเข้าร่วมรัฐบาลอาจทำให้เกิดปัญหานั้น เชื่อว่า เสียงสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯนั้นเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่ 376 เสียงแน่นอน ส่วนในสภาล่างนั้น หากต้องเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ว่ากันไปภายหลังตอนบริหารราชการแผ่นดิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง