ไม่พบผลการค้นหา
กรมการแพทย์ เผยควันบุหรี่เป็นภัยใกล้ตัวที่ทำให้เด็กป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง จากการสูดดมควันบุหรี่จากคนในบ้าน แนะร่วมกันปกป้องลูกหลานห่างไกลพิษภัยควันบุหรี่ด้วยการทำให้บ้านปลอดบุหรี่

นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ควันบุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งในร่างกายมนุษย์ที่ไม่มีความปลอดภัย ในควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด และมีมากกว่า 60 ชนิดที่ทางการแพทย์ระบุว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ทั้งนี้เด็กจะหายใจเอาอากาศปนเปื้อนควันบุหรี่ที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกาย หากผู้ปกครองหรือบุคคลในบ้านสูบบุหรี่ ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยของเด็กเพิ่มขึ้น เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ โรคเกี่ยวกับหูชั้นกลาง เป็นหวัดบ่อยขึ้น และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กที่เป็นโรคหืดอยู่แล้วมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคหูอักเสบ โรคภูมิแพ้ ภาวะการตายของทารกเฉียบพลัน (SIDS-Sudden Infant Death Syndrome) และควันบุหรี่ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตและพัฒนา

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีป้องกันลูกจากควันบุหรี่ควรปฏิบัติ ดังนี้ บ้านควรเป็นที่ปลอดภัยสำหรับสมาชิกในครอบครัวเพื่อสุขภาพที่ดีไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ไม่สูบบุหรี่โดยอยู่ใกล้เด็กหรือคนท้อง หลีกเลี่ยงพาเด็กไปในสถานที่ที่มีโอกาสเจอควันบุหรี่ เมื่อจำเป็นต้องออกไปข้างนอกพ่อแม่และผู้ปกครองควรเตรียมหน้ากากอนามัยหรือผ้าปิดจมูกไปด้วยทุกครั้ง พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กโดยไม่สูบบุหรี่ 

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจหากสมาชิกในบ้านสูบบุหรี่ ดังนั้นจึงขอเชิญชวนพ่อแม่และผู้ปกครองทุกท่านร่วมกันทำบ้านให้ปลอดควันบุหรี่