ไม่พบผลการค้นหา
ในการอภิปรายโดยไม่ลงมติ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ฉายภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว จำแนกรายจ่ายประชาชนละเอียดยิบ ด้านนิคม บุญวิเศษ ชำแหละการใช้งบกลาง โอนงบ เพิ่มงบกลางปี ลากตั้งแต่ยุค คสช.ถึงปัจจุบัน ทรัพยากรเงินมหาศาลกว่าใคร แต่บริหารไร้ผลงาน ไร้การตรวจสอบ

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ในเวลานี้ประเทศไทยเผชิญภาวะ Stagflation หรือภาวะที่ 'เงินฝืดและเงินเฟ้อ' เกิดขึ้นพร้อมกัน ตัวบ่งชี้ที่สำคัญ คือ 1.รายได้ของประชาชนลดลง ไม่มีเงิน 2.รายจ่ายกลับเพิ่ม ของกินของใช้แพง 3.หนี้สูงทะลุเพดาน จึงเป็นที่มาของคำว่า “แพงทั้งแผ่นดิน แต่จนทั้งแผ่นดิน”

ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน เป็นเพราะรัฐบาลไม่สามารถสร้างงานได้ กู้เงินมาแจก ใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ ไม่กระตุ้นผ่านตัวคูณทางเศรษฐกิจ มีแต่แจกเงินและซื้ออาวุธ ซึ่งเป็นการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง การทุจริตก็ฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง การจัดอันดับความโปร่งใสของโลก ไทยก็อันดับต่ำลง 5 ปีต่อเนื่อง

"เรื่องเศรษฐกิจฝืดเคืองนั้นรัฐบาลจะอ้างโควิดไม่ได้ เพราะตกต่ำมาตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 โดยพล.อ.ประยุทธ์ใช้งบประมาณ 20 กว่าล้านล้านบาท ใช้เงินพ.ร.ก.กู้เงินอีก 1.5 ล้านล้านบาท มีเวลาบริหาร 7 ปีกว่า แต่สิ่งเดียวที่ท่านไม่มีคือความรู้ความเข้าใจในการบริหารเศรษฐกิจให้ดี"

"ถ้ายังบริหารไม่รู้ทิศรู้ทางแบบปัจจุบัน ปีนี้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังจะถีบตัวสูงขึ้นแน่นอน เพราะราคาน้ำมันมีความไม่มั่นคงจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน , เรื่องของหมูก็ยังไม่สามารถทดแทนได้เพราะต้องใช้เวลาในการเริ่มใหม่ เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นเพราะต่างประเทศฟื้นแล้วจากโควิด ส่วนเราไม่ได้ฟื้นตัวใดๆ เลยเทียบกับต่างประเทศ และเรากำลังตกขบวนการฟื้นตัวนี้"

ในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย ถึง 20%

  • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30-35% โดยเฉพาะราคาเนื้อหมู
  • ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการเดินทางเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 35%
  • ราคาน้ำมันดีเซล B10 จากราคา 21.49 บาท/ลิตร(11/1/64) เพิ่มขึ้นเป็น 29.84 บาท/ลิตร(18/1/65)
  • ค่าทางด่วน จาก 50 บาท เพิ่มเป็น 65 บาท
  • ค่าไฟฟ้า ปรับขึ้น 16.71 สตางค์/หน่วย (ประมาณ 5%)
  • ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างจำเป็น อย่างหน้ากากอนามัย หรือชุดตรวจ ATK
  • ต้นทุนการผลิต (ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ฯลฯ) เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 187.78%
  • ปุ๋ยสูตรหลักเพิ่มขึ้นจาก 400 บาท เป็น 1,000 บาทต่อกระสอบ 150%
  • ปุ๋ยยูเรีย เพิ่มจาก 500 - 600 บาท เป็น 1,400 บาท 180%
  • ยาปราบศัตรูพืช ก็ขึ้นจากลิตรละ 300 - 400 บาท เป็นลิตรละ 1,000 บาท 233%
  • ต้นทุนการปลูกข้าวต่อไร่เพิ่มขึ้น 500 - 800 บาท

ขณที่หนี้สิน หนี้ครัวเรือน” หรือหนี้ของประชาชนกลับเพิ่มสูง ตัวเลขหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน 90 เปอร์เซนต์ของจีดีพี ในช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์ นำรัฐบาล หนี้ครัวเรือนของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 4 ล้านล้านบาท โดยในปี 2562/63 ถีบตัวสูงขึ้นถึง 10 เปอร์เซนต์ หรือเฉลี่ยแล้วมีหนี้ 2 แสนบาทต่อครัวเรือน

ด้านการว่างงานก็สูงถึง 8.7 แสนคน คิดเป็น 2.3% ของประชากรทั้งหมด แต่หากรวมการว่างงานแอบแฝง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินอาจมากกว่า 4 ล้านคน เพราะระบบของไทยคำนวณว่าทำงาน 1 ชม.ในเดือนก็นับว่าไม่ว่างงานแล้ว คนที่ตกงานจำนวนมากกลับภูมิลำเนาเข้าสู่ภาคการเกษตร แต่ไม่มีผลิตผลเพิ่มในภาคการเกษตรแต่อย่างใด

สิ่งเดียวที่รัฐบาลประสบความสำเร็จ คือการสร้าง “ความเหลื่อมล้ำ”เงินกระจุกตัวที่ธุรกิจรายใหญ่ ในขณะที่ประชาชนเดือดร้อนมากขึ้น เช่น การปล่อยให้มีการควบรวม เช่น แม็คโครโลตัส ครองส่วนแบ่งตลาด 75 เปอร์เซนต์ การควบรวมของดีแทค-ทรู

ขณะที่คนยากคนจน มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขปี 2564 คนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน มีถึง 4.8 ล้านคน แต่หากนับคนที่พ้นเส้นความยากจนมาเพียงปริ่มน้ำ มีอีกถึงเกือบ 6 ล้านคน คนจนจริงๆ ในประเทศไทย จึงมีกว่า 10 ล้านคน ที่สำคัญ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ตรึงเส้นความยากจนมา 7 ปี แทบไม่มีการปรับเพิ่มเลยเมื่อเทียบเงินเฟ้อ เพื่อทำให้จำนวนคนจนมีไม่มากเท่าที่เป็นจริง

จุลพันธ์กล่าวว่า ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องดำเนินการให้สภาดำเนินการสรรหานายกใหม่ หรือยุบสภา ให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ให้โอกาสคนไทยมีโอกาสเลือกนายกที่มีความพร้อม มีความสามารถ เข้ามานำพาประเทศแทน กรณีที่นายกบอกว่าไม่ยุบสภาเพราะเปลืองงบประมาณในการเลือกตั้ง แต่ตลอด 7 ปีรัฐบาลสร้างหนี้สาธารณะ เพิ่มมากขึ้น 5 ล้านล้านบาท เฉลี่ย 70 ล้านบาทต่อปี ตกเป็น 2,000 ล้านบาทต่อวัน ดังนั้นถ้าหยุดสร้างหนี้แบบ พล.อ.ประยุทธ์ เพียง 2 วัน ก็จะได้เงินเลือกตั้งมา 4,000 ล้านแล้ว ถึงแม้การเลือกตั้งใจใช้งบประมาณมากเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติเท่ากับการที่ พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งต่อไป

นิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย อภิปรายเกี่ยวกับแผนปฏิรูปประเทศที่ไม่มีความคืบหน้า และการใช้งบประมาณมหาศาล มีการโอนงบประมาณ ใช้งบกลางที่เพิ่มมากขึ้น

หากพิจารณางบกลางในเวลา 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ มีการใช้ไปรวม 75,000 ล้านบาท เงื่อนไขการใช้ไม่มีรายละเอียด ไม่มีแผนการใช้เงิน เพราะเป็นเงินที่เอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ อาจมีการรั่วไหลหรือทุจริตได้ นายกฯ สามารถอนุมัติตามอำเภอใจ และเป็นไปได้มากที่จะไม่คุ้มค่า ไม่มีประสิทธิภาพ ถามว่าถ้าซื่อสัตย์ทำไมโอนงบปมาณมาอยู่ในอำนาจตัวเองมากขนาดนี้ 

สมัยเป็นรัฐบาล คสช. ได้มีมติเมื่อ 16 ก.ย.2557 เห็นชอบแนวทางการขออนุมัติงบกลาง โดยเฉพาะเงินสำรองจ่ายฉุกเฉิน เพื่อใช้จ่ายตามอำเภอใจ โดยให้นายกฯ มีอำนาจอนุมัติงบในวงเงิน 100 ล้านโดยไม่ต้องผ่านใคร ถ้าแต่มากกว่านั้นให้ผ่าน ครม.  

นอกจากนี้ยังมีการทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี หรือเรียกว่า 'งบกลางปี' เพิ่มเติม ตั้งแต่ปี 2559-2561 ใช้เงินไป 396,000 ล้านบาท เงินเหล่านี้ไม่ได้รายงานในที่ประชุมและไม่รู้ว่าสัมฤทธิ์ผลอย่างไรบ้าง งบกลางปีลักษณะนี้เคยออกอยู่ 2 ครั้ง คือ ปี 2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อเกิดวิกฤตการเงินโลกเลยต้องมีการโอนงบเพิ่มเติมเข้ามา 116,000 ล้านบาท หรือ 6.4% ของงบประมาณประจำปี ครั้งที่สอง เมื่อปี 2554 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเกิดอุทกภัยหนักมีการเพิ่มงบกลางปีราว 99,000 ล้านบาท ดังนั้นจะเห็นว่างบกลางปีนั้นต้องใช้เมื่อประเทศประสบภัยร้ายแรงต้องฟื้นฟูบูรณะอย่างเร่งด่วน แต่ คสช.ทำงบประมาณแบบนี้โดยตลอด 

นอกจากนี้ คสช.ยังจัดทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย มาใส่ไว้ในงบบกลางรายจ่ายฉุกเฉินเร่งด่วนซึ่ง 'ตัวเอง' มีอำนาจอนุมัติ โดยโอนไปแล้ว 5 ครั้ง วงเงินรวมกว่า 140,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปี 2558 จำนวน 7,900 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 22,000 ล้านบาท ปี 2660 จำนวน 11,000 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 12,000 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 88,000 ล้านบาท

ถามว่าเงินที่โอนมาใส่งบกลาง เอามาจากไหน คำตอบก็คือ โอนมาจากเงินที่จะเอาไปใช้หนี้ต้นเงินกู้ เช่น เดิมทีตั้งไว้ว่าจะใช้เงินต้นหนี้เงินกู้ 88,7000 ล้านบาท ก็ไปแบ่งโอนมาใส่งบฉุกเฉินเร่งด่วน 55,4000 ล้านบาท โดยแอบไปแก้กรอบกฎหมายขยายวงเงินฉุกเฉิน จาก 3.5% เป็น 7.5% ส่วนการใช้หนี้ที่เคยกำหนดไว้ว่าต้องใช้ 2.5% ของวงเงินงบประมาณ ก็ไปแก้กฎหมายวินัยการเงินการคลังให้เหลือการใช้หนี้แค่ 1.5%

"ใช้หนี้น้อยแบบนี้ ชาตินี้ ชาติหน้าจะใช้หนี้หมดหรือไม่ มีคนเคยคำนวณว่าถ้าใช้หนี้แบบนี้ ต้องใช้เวลา 70-80 ปีหนี้ถึงจะหมด ยังไม่นับการสร้างหนี้สาธารณะเพิ่ม เอามาแจกจ่ายไม่ทั่วถึง ใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ นี่คือหายนะของประเทศ ความล้มเหลวของรัฐบาลนี้ ประวัติศาสตร์จะจารีกไว้ว่า มีนายกฯ ที่มาจากการสืบทอดอำนาจมานั่งคุมเศรษฐกิจโดยขาดความรู้ความสามารถ" นิคมกล่าว