ไม่พบผลการค้นหา
‘วราวุธ‘ ยันวงดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล ไร้สัญญาณปรับ ครม. มองกระแส อดีตรมต. 'ป' หนุน 'ศรีสุวรรณ' รีดทรัพย์ให้ถาม 'ประภัตร' จะชัดเจนที่สุด ระบุประชุมพรรคบ่ายนี้จะถามเจ้าตัว

วันที่ 30 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีการร่วมรับประทานอาหารระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา

โดย วราวุธ ระบุว่า ตนไม่ได้ไปร่วมรับประทานอาหารด้วย แต่ตนได้มอบหมายให้ นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค และประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรค เข้าร่วมแทน ซึ่งขณะที่ร่วมรับประทานอาหารกัน ก็มีการโทรหาตนอยู่ ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ เป็นการถามสารทุกข์สุกดิบเรื่องงาน ไม่ได้พูดคุยหารือการปรับ ครม. ตามที่เป็นข่าว 

ส่วนเรื่องกระแสข่าวการปรับ ครม. นั้น ตนมองว่า เป็นเรื่องปกติ เพราะรัฐบาลชุดนี้ก็ทำงานมา 4-5 เดือนแล้ว มีทั้งคนที่อยากให้ปรับ และไม่อยากให้ปรับ สุดท้ายแล้ว ก็คงเป็นไปตามพรรคร่วมรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะมีการปรับหรือไม่ แต่ตอนนี้ก็ยังยืนยันได้ว่า ในพรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่ในพรรคชาติไทยพัฒนาเองยังไม่ทราบข่าวแนวทางการปรับ ครม. 

สำหรับกรณีที่ ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ที่ถูกจับกุมในคดีข่มขู่เรียกเงินอธิบดีกรมการข้าว โดยมีกระแสข่าวพาดพิงถึงอดีตรัฐมนตรี ป. ซึ่งอาจหมายถึง ประภัตร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น 

วราวุธ กล่าวว่า การทำงานของพรรคชาติไทยพัฒนา ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เราจะให้เกียรติการทำงานของทุกคนในพรรค และในการประชุมพรรคทุกวันอังคาร คนที่รัฐมนตรีของพรรคก็จะ นำความคืบหน้าและการทำงานของกระทรวงตัวเอง รวมถึงปัญหาต่างๆ มาพูดคุยในพรรค ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ เรายังไม่ได้รับข่าวจากทาง ประภัตร 

วราวุธ มองว่า ข่าวที่ปรากฏออกมานั้น ก็มีอักษรย่อมากมาย แต่ถ้าจะให้ชัดเจนที่สุด คือฟังจากปากเจ้าตัว เพราะพรรคชาติไทยพัฒนาเน้นการทำงานที่รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุขึ้นมา ถ้ายังไม่มีการชี้ชัด ก็ถือเป็นส่วนหนึ่ง แต่ถ้ามีข้อสงสัยอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของบุคคลนั้นจะชี้แจงให้สาธารณะชนรับทราบ พร้อมย้ำว่า “เรื่องนี้ต้องให้เจ้าตัวพูดเอง น่าจะชัดเจนที่สุด ผมพูดก็ไม่เหมือนกัน” 

เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยกับเลขาธิการพรรคในเรื่องนี้หรือไม่ วราวุธ กล่าวว่า ในช่วงบ่ายนี้จะมีการประชุมพรรค คงมีการสอบถามกันว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร สื่อควรสอบถามเลขาธิการพรรคเองจะดีที่สุด


แนะฟังจากปาก 'ประภัตร' จะชัดเจนสุด




พม.ระดมภาครัฐ-เอกชน มอบเงินเยียวยาเหตุโรงงานพลุระเบิดไปแล้ว 7 ล้านบาท

วราวุธ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีโรงงานพลุระเบิดที่ จ.สุพรรณบุรี ว่า เรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การเยียวยาด้านปัจจัย ซึ่งในเรื่องงบประมาณนั้น ทาง พม.ร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มอบเงินไปทั้งสิ้นเกือบ 7 ล้านบาท ให้กับทุกครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ โดยในส่วนของ พม.นั้นได้มอบเงินเกือบ 6 แสนบาทสำหรับการเยียวยาให้ผู้สูญเสียและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการฌาปนกิจชิ้นส่วนของผู้เสียชีวิต และมอบเงินช่วยเหลืองวดสุดท้าย

ขณะที่การเยียวยาด้านจิตใจ ซึ่งทาง พม.ได้ส่งทีมนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา ไปพูดคุยกับทุกครอบครัวอยู่ตลอด โดยตอนนี้มี 3 ครอบครัวที่ยังน่าเป็นห่วง เช่นครอบครัวของลูกชายเจ้าของโรงงาน ซึ่งประสบเหตุการณ์มาตั้งแต่ครั้งที่แล้ว และมีความคิดต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่นักจิตวิทยาต้องประกบตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น แต่อีกครอบครัวหนึ่ง ยังทำใจไม่ได้กับการสูญเสีย นักจิตวิทยาก็ติดตามอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าสภาพจิตใจจะดีขึ้นตามลำดับ โดยจะดูแลไปอีกพักใหญ่


จ่อหารือ 'คกก.คุ้มครองเด็ก' ปรับอัตราโทษเยาวชน 1 ก.พ.

วราวุธ ให้สัมภาษณ์ ถึงความคืบหน้ากรณีที่มีเยาวชนอายุ 14 ปี ใช้อาวุธมีดแทงเพื่อนจนเสียชีวิต โดย วราวุธ กล่าวว่า เท่าที่ได้รับรายงานความคืบหน้าล่าสุด ยืนยันว่า เด็กที่ก่อเหตุนั้นไม่ได้อยู่ในบัญชีของเด็กพิเศษ ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมากระทรวง พม. เราได้ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร ส่งนักจิตวิทยา และเจ้าหน้าที่ของกรมสุขภาพจิตเข้าไปร่วมทำงานด้วย ได้มีการพูดคุยกับผู้ปกครองและเด็กผู้ก่อเหตุ ส่วนผู้ที่ถูกกระทำกำลังถูกเยียวยาทางด้านจิตใจ มีเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยอยู่ตลอด

ในส่วนรายละเอียด คงต้องเป็นการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ด้วยเงื่อนไขตามกฎหมาย จะมีเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ของกระทรวง พม.ประกอบอยู่ในทุกขั้นตอน เพื่อดำเนินการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน 

ส่วนปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น วราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. เร่งดำเนินการตั้งแต่ที่ตนเข้ามาทำงาน สิ่งต้องเน้นคือเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เพราะความใกล้ชิดเป็นสายใยที่จะป้องกันเหตุ รวมถึงเอาใจใส่ของผู้ปกครองในการพูดคุย ซึ่งจะเป็นสัญญาณว่า เด็กมีความรู้สึกเช่นไร อย่างไร 

ส่วนการเสนอแก้ไขกฎหมาย ที่ถูกมองว่ามีอัตราโทษของเด็ก และเยาวชนน้อยเกินไปนั้น วราวุธ กล่าวว่า มีหลายฝ่ายที่เสนอเข้ามา โดยในวันที่ 1 ก.พ.ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก คงจะต้องมีการรับฟังกัน ว่าหากจะลดอายุของเยาวชนลงตามที่หลายฝ่ายมีข้อสังเกตนั้น จะสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่อย่างไร 

หรืออาจจะทำให้เด็กที่ก่อเหตุอายุน้อยลงไปอีก คงจะต้องรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย และหาการแก้ไขที่ดีที่สุด หน้าที่ของเราไม่ใช่ความต้องการลงโทษ แต่เราต้องการปกป้องไม่ให้เด็กเจอกับสถานการณ์ต่างๆ จนทำให้มีพฤติกรรมเช่นนี้

สำหรับการแก้ปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนนั้น วราวุธ กล่าวว่า คงต้องฝากทางคุณครู และผู้บริหารสถานศึกษา เพราะการบูลลี่ในปัจจุบันบางครั้งไม่ได้แสดงออกทางวาจา หรือทางกายภาพ แต่เป็นการบูลลี่กันผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจส่งผลพลอยได้เป็นความรุนแรง