ไม่พบผลการค้นหา
เกิดปฏิกิริยาทันทีกับปรากฎการณ์ ล้างไพ่ 'ผู้ตรวจการเลือกตั้ง' ใน 77 จังหวัด เมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 36 คน รวมพลังเข้าชื่อ เสนอให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. พ.ศ. 2560

เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น เมื่อสมาชิก สนช. คณะดังกล่าว เห็นรายชื่อ ผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณาคัดเลือกเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 แล้วเกิดความข้องใจ

เป็นความข้องใจที่ชัดเจน แจ่มแจ้งที่สุดคือ ปฏิกิริยาคำพูดของสมาชิก สนช. อย่าง 'มหรรณพ เดชวิทักษ์' แกนนำผู้รวบรวมรายชื่อ สนช. ออกอาการไม่พอใจกับโฉมหน้าผู้ตรวจการเลือกตั้งที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบพฤติกรรมความเหมาะสมโดยประชาชน

"ควรเปลี่ยนลำตัว แขน ขาด้วย ไม่ใช่เอาหัวมาสวมอย่างเดียว และอาจเกิดปัญหาความไม่เป็นเอกภาพในการทำงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับคัดเลือกจาก กกต.ชุดปัจจุบันไม่ดี แต่ต้องการให้เกิดความชัดเจน รัดกุม ไม่มีเจตนาต้องการล้มอะไร" มหรรณพ ระบุ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ งบประมาณ รัฐสภา ประยุทธ์ 180607115223.JPG

เช่นเดียวกับ 'วัลลภ ตังคณานุรักษ์' สมาชิก สนช. ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ก็ออกตัวในทำนองเดียวกันว่า กกต. ชุดปัจจุบัน รีบร้อนตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยไม่รอให้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่

"คล้ายการโยกย้ายข้าราชการ กรณีรัฐมนตรีคนเดิมกำลังจะหมดวาระ รัฐมนตรีคนใหม่ที่จะเข้ามาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตรรกะที่เกิดขึ้นจึงเห็นว่าการกระทำของ กกต.ชุดปัจจุบันน่าเกลียด เมื่อพูดถึงมารยาทแล้วไม่ควรทำ ควรรอ กกต.ชุดใหม่มาดำเนินการ สิ่งที่ สนช.ทำ ไม่ใช่การแทรกแซงอำนาจ กกต.ชุดปัจจุบัน" วัลลภ ระบุ

ทั้งที่ ‘ศุภชัย สมเจริญ’ ประธาน กกต. ย้ำตรงไปตรงมาว่า การคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง 77 จังหวัด เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ เพราะปฏิทินการสรรหา ส.ว. จะเกิดขึ้นหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ย.นี้

"เราเห็นว่าถ้าจะมีการเลือกตั้งในต้นปีหน้า หากรอให้ชุดใหม่มาคัดสรรอาจจะดำเนินการไม่ทัน" ประธาน กกต.ระบุ

นำไปสู่กระบวนการเปิดให้ประชาชนเข้ามาให้ความคิดเห็นกับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ผ่านเว็บไซต์ของวุฒิสภาโดยทันที ซึ่งจะต้องรับฟังความเห็นภายใน 15 วันก่อนบรรจุเข้าสู่การพิจารณาขั้นรับหลักการในที่ประชุม สนช.

โดยเหตุผลที่ สมาชิก สนช.ได้เข้าชื่อขอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ครั้งนี้ ได้ระบุว่า "โดยที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง และการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวักบการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้นเพื่อให้การคัดเลือกบุคคลในการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ควรกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีองค์ประกอบที่หลากหลาย และมีความเป็นอิสระจึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้"

ความแตกต่างจากเดิม คือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ฉบับ 36 สนช. เข้าชื่อ ได้เพิ่มถ้อยคำไว้ในกฎหมายดังกล่าวให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยให้แต่ละจังหวัดมีคณะกรรมการที่มาจาก ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานอัยการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ประธานหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นกรรมการ

ส่วนกรุงเทพมหานคร ให้มีคณะกรรมการคัดเลือก จำนวน 7 คน โดยมีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธาน ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา ผู้แทนอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทนหอการค้าไทย ผู้แทนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ

ในขณะที่กฎหมายเดิม ให้อำนาจ กกต.เป็นผู้ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งของเดิมมีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง จำนวน 9 คน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มากกว่าร่างแก้ไขฉบับใหม่

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขล่าสุด ยังกำหนดถ้อยคำในมาตรา 9 ว่า "บรรดาการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือก และการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งได้ดำเนินการอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันสิ้นผลไปนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ"


ศุภชัย สมเจริญ.jpg

นั่นเท่ากับว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่เพิ่งผ่านการคัดเลือกจาก กกต.ชุด 'ศุภชัย สมเจริญ' จะต้องถูกเซ็ตซีโร่ทั้งหมด

และเริ่มต้นเข้าสู่โหมดสรรหาใหม่อีกครั้ง หากร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของ สนช. ใน 3 วาระ

สำหรับอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ตามกฎหมายกำหนดให้เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส. หรือการเลือก ส.ว.แต่ละครั้งให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต.แต่งตั้งขึ้น ปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละจังหวัดในระหว่งมีการดำเนินการเลือกตั้ง และการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง โดยให้สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดมีหน้าที่สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง

ผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ละจังหวัดมีไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 8 คน โดยมีวาระไม่เกิน 5 ปี เมื่อผ่านการคัดเลือกจาก กกต.แล้วจะต้องประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ประชาชนทราบไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้ตรวจสอบความเหมาะสม

คุณสมบัติ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ต้องไม่เป็นข้าราชการ มีเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในเวลา 5 ปีที่ผ่านมาก่อนแต่งตั้ง เป็นบุคคลมีความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย

ความกังวลการเดินหน้ารื้อ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ซึ่งเป็น 1 ใน 4 กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ครบทุกฉบับก่อน

ทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย บอกทันทีว่า "ผมกำลังทายใจ ถ้าผ่านกระบวนการสภาจะดึงเวลาได้ยาวที่สุด กระบวนการแก้ไม่มีกำหนดนะ ว่าจะแก้ให้เสร็จเมื่อไร ดังนั้น เขาจะดึงยังไงก็ได้ไม่ให้น่าเกลียดเกินไป ถ้าเข้าสู่กระบวนการให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก"

"มันเป็นหมากอีกหมากหนึ่ง ถ้า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ จะเลือกตั้งช้าสุดในเดือน พ.ค. 2562 ถ้าต้องการให้เลือกตั้งช้าสุด กฎหมายฉบับนี้ (ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ฉบับแก้ไข) จะช่วยดึงให้ได้"


จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์ _MG_0890.JPG

(จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์)

ขณะที่ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประเมินท่าทีของ 36 สมาชิก สนช.ไม่ได้ว่าจะแก้ไขกฎหมายดังกล่าวออกมาแบบไหน และจะนำไปสู่ผลการเปลี่ยนรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นใหม่หรือไม่

"ผมคิดว่าต้องระวังเหมือนกัน อย่างน้อยที่สุด ก็มีผู้เริ่มออกมาให้ความเห็น แม้แต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และหลายฝ่ายท้วงติงว่า ความจริงเป็นอำนาจ กกต. ซึ่งตั้งมาโดยการใช้อำนาจที่มีอยู่ ถ้า สนช. ซึ่งเป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สาย จะมาดำเนินการ เพื่อให้มีผลการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง มันจะทำให้เกิดคำถามเรื่องการสุจริต เที่ยงธรรมในอนาคตของคนมาเป็นกรรมการการเลือกตั้งในจังหวัดเกิดขึ้นหรือไม่" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำ

เมื่อถามว่า วาระซ่อนเร้นทางการเมืองของ สนช. หรือไม่ เพราะรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ออกมาอาจไม่ตรงใจ สนช. นายจุรินทร์ ระบุว่า ตอบไม่แทนไม่ได้ เพียงแต่ดูเหมือนฟังเหตุผลหนึ่ง อยากจะให้ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้แต่งตั้ง แต่ความจริง กกต.ชุดเดิมก็มีอำนาจตามกฎหมายเหมือนกัน ต้องรอ สนช.ชี้แจงถ้าต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ

ขณะที่ตัวแทนของ สนช.อย่าง นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ระบุกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' โดยเชื่อว่า สมาชิก สนช. ที่เดินหน้าแก้ไข ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ได้พิจารณารอบคอบ

เจตน์ ศิรธรานนท์ วิป สนช สภานิติบัญญัติแห่งชาติ G83A8378.JPG

(นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช.)

เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ถูกมองว่า สนช.กำลังออกกฎหมายไม่รอบคอบ ทั้งที่ กกต.ชุดปัจจุบันก็ทำตามหน้าที่ นพ.เจตน์ ย้ำว่า เรื่องนี้เป็นความเห็นต่าง หากไม่ใช้การแก้ไขกฎหมาย และใช้กฎหมายที่มีอยู่จะทำได้หรือไม่ แต่เชื่อว่าสมาชิก สนช.ได้พิจารณารอบคอบแล้วถึงเสนอร่างแก้ไขกฎหมายเข้ามา

ส่วนข้อครหาที่ สมาชิก สนช.กำลังถูกมองว่าจ้องเซ็ตซีโร่ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง นพ.เจตน์ ระบุว่า กฎหมายออกมามีความเป็นอิสระ แต่เจตนาของสมาชิก สนช.ที่เสนอต้องการให้มีคณะกรรมการขึ้นมาคัดเลือก แทนที่ กกต.จะเป็นผู้กำหนด อีกทั้งยังมีคำถามด้วยว่าการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งของ กกต.ชุดปัจจุบันมีความเหมาะสมในเรื่องของเวลาหรือไม่

โฆษกวิป สนช. ยังย้ำว่า หากร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ชั้น สนช. จะไม่กระทบต่อการเลือกตั้ง

"ไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง แต่จะกระทบต่อการทำงานของ กกต. เพราะว่าตัว พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. มีผลบังคับใช้แล้ว แต่การแก้ไขจะแก้ไขเฉพาะผู้ตรวจการเลือกตั้งเท่านั้น หากไปศาลรัฐธรรมนูญแล้วบอกว่าขัดก็ขัดแค่ประเด็นที่แก้ไข ไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้งแน่นอน"

เพียงแต่การพิจารณาจะไม่รวดเร็วแน่นอน เนื่องจากต้องรอขั้นตอนการเข้าคิวพิจารณาร่างกฎหมายในวิป สนช. นี่คือ คำยืนยันของโฆษก วิป สนช.

แน่นอนหากเริ่มต้นนับหนึ่งของการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.แล้ว กรอบเวลาการพิจารณาในชั้น สนช. จะต้องพิจารณาให้เสร็จใน 180 วัน

คำถามที่ตามมา และสิ่งที่กังวลที่สุดคือ โรดแมปเลือกตั้งในปี 2562 ยังคงเป็นตามเดิมหรือไม่

เพราะกรอบเวลาการรื้อปม ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะทันเวลาที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะประกาศใช้ในอนาคตนี้หรือไม่

นพ.ชลน่าน ตอบทันทีว่า ผู้มีอำนาจคงไม่เสียสัจจะ เพราะผู้มีอำนาจไม่มีสัจจะ ถ้าไม่มีเครื่องมืออย่างอื่นมาดึงให้การเลือกตั้งต้องขยับออกไปจากปี 2562 ส่วนตัวยังมองว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ที่จะมีการแก้ไข อาจดึงการเลือกตั้งให้ขยับออกไปได้อีก 3-4 เดือน จาก พ.ค. 2562 


ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย น่าน _MG_0865.JPG

(นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย)

นพ.ชลน่าน ชี้ว่า ถ้าดึงได้คนไทยอาจจะได้เห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นต้นปี 2563 ก็เป็นได้

"แต่รัฐบาลชุดนี้ยังต้องรอทำงบประมาณปี 2563 ดังนั้นการเลือกตั้งอาจจะเลยเดือน มิ.ย. 2562" นพ.ชลน่าน ระบุ

ขณะที่ 'จุรินทร์' ก็ชี้ว่า คสช. หรือรัฐบาลประกาศหลายรอบว่าจะเลือกตั้งตามโรดแมป แต่ดูเหมือนอารมณ์สังคม ยังมีเครื่องหมายคำถาม

"อันนี้ไม่ใช่ผมถาม แต่ผมติดตามบรรยากาศอารมณ์สังคม และโพลล์ยังมีเครื่องหมายคำถามอยู่ ซึ่งโรดแมปเลือกตั้งก็เลื่อนมาหลายครั้ง เที่ยวนี้จะมีการเลื่อนเลือกตั้งอีกหรือไม่" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำ

ภาพ - สุรศักดิ์ บงกชขจร / ฐานันด์ อิ่มแก้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง