ไม่พบผลการค้นหา
ผอ.นิด้าโพล โต้ อธิการบดีนิด้า เหตุระงับการเผยแพร่โพล "นาฬิกาหรูของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ขัดหลักเสรีภาพทางความคิด และความกล้าหาญทางจริยธรรมของนักวิชาการ
ประดิษฐ์_วรรณรัตน์.jpg

หลังจากนายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' เนื่องจากถูกระงับการเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนาฬิกาหรูของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ

รศ.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยอมรับว่าเป็นคนสั่งให้ชะลอผลสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวเอง เนื่องจากเป็นประเด็นที่ ป.ป.ช. กำลังสอบสวน และยังไม่ได้ข้อยุติ หากทำโพลหัวข้อนี้อาจไปสร้างกระแสชี้นำสังคม และการจะทำโพลชี้ไปที่ตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่เหมาะสมเพราะที่ผ่านมา นิด้าโพล ทำผลสำรวจความคิดเห็นในภาพรวมไม่ได้เจาะจงที่ตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงแจ้งไปที่ ผู้อำนวยการนิด้าโพลให้ชะลอผลสำรวจนี้ออกไปก่อน ยืนยันที่ผ่านมานิด้าโพลให้เสรีภาพทางวิชาการมาตลอดเพราะเป็นสถาบันทางวิชาการ

ทั้งนี้หากผลสอบสวนของ ป.ป.ช. ได้ข้อยุติ คณะกรรมการจะพิจารณาถึงความเหมาะสมที่จะเผยแพร่ผลสำรวจของประชาชนในประเด็นนี้อีกครั้ง ถ้าเหมาะสมก็จะเผยแพร่หากผลสำรวจนั้นไม่กระทบกับใคร อย่างไรก็ตามจะมีการเรียกนายอานนท์มาพูดคุยอีกครั้งในเร็วๆนี้

1505002_10202071617505582_1514375776_n.jpg

ด้านนายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ โต้แย้งว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นเป็นเสรีภาพทางความคิดของประชาชน ไม่จำเป็นจำเป็นต้องรอให้การสอบสวนของ ป.ป.ช. ยุติก่อน เพราะหากประชาชนเห็นว่ารัฐบาลทำไม่ได้ดี ก็มีเสรีภาพที่จะวิจารณ์ได้ ส่วนการทำโพลที่เจาะจงไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นเรื่องที่ทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว เช่น โพลประเมินการทำงานของรัฐมนตรีว่าสอบผ่านหรือไม่ เป็นต้น ทั้งนี้ ตนอาจจะด้อยความสามารถ จึงไม่สามารถแยกตัวบุคคล กับรัฐบาลได้ เพราะรัฐมนตรีก็ถือว่าเป็นหนึ่งในรัฐบาล นอกจากนี้นายอานนท์ ยังกล่าวชี้แจงว่าตนไม่ได้โกรธ แต่ต้องการเสรีภาพทางวิชาการ และความกล้าหาญทางจริยธรรม เพื่อไม่สามารถทำได้ ก็ขอลาออกจากตำแหน่ง แม้จะเพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' ไม่นานมานี้ก็ตาม ดังที่ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 'Arnond Sakworawich'

"ผมลาออกจากตำแหน่ง ผอ นิด้าโพลล์ พรุ่งนี้เช้าครับ เสรีภาพทางวิชาการและการให้เกียรติกัน สำคัญที่สุดสำหรับผม แม้ไม่มีตำแหน่งใดๆ ผมก็มีที่ยืนในสังคมได้เพราะยืนอยู่บนความถูกต้องมาโดยตลอด. ผมสนับสนุนรัฐประหารและสนับสนุนรัฐบาลอยู่ แต่ถ้าสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ผมก็ไม่จำเป็นต้องเลีย top boot นะครับ ยิ่งมีหลักฐานทางวิชาการที่รัดกุมเป็นความคิดเห็นของประชาชน หน้าที่ผมในฐานะนักวิชาการยิ่งต้องนำเสนออย่างตรงไปตรงมา. ตำแหน่งบริหารใดๆ ในสถาบัน ผมไม่รับเงินค่าตอบแทนอยู่แล้วเพราะถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมือง ต้องทำด้วยความเสียสละ และยืนอยู่บนความกล้าหาญทางวิชาการ เสรีภาพทางวิชาการ และความกล้าหาญทางจริยธรรม หากไม่สามารถธำรงสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ในตำแหน่ง ผอ นิด้าโพลล์ ซึ่งต้องทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนอย่างซื่อสัตย์ และกล้าหาญ ผมจะไม่มีวันทรยศต่อประชาชนและความถูกต้อง"

ขณะที่ รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Phichai Ratnatilaka Na Bhuket' ยืนยันว่าสาเหตุที่ ผอ.นิด้าโพล ลาออก เนื่องจากผู้บริหารสถาบันระงับการเผยแพร่โพลเกี่ยวกับการยืมนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

“ได้ข่าวยืนยันมาแล้วว่า โพลสุดท้ายที่ทำเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เผยแพร่สัปดาห์นี้ ของ ผอ.นิด้าโพล เป็นเรื่องเกี่ยวกับการยืมนาฬิกา ถูกผู้บริหารสถาบันระงับการเผยแพร่ ท่าน ผอ. จึงตัดสินใจลาออก เอวัง..ครับ สำหรับเสรีภาพทางวิชาการ ในสถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศ หากผู้บริหารมีวิธีคิดเช่นนั้น”

ซึ่งหัวข้อการสำรวจความคิดเห็นที่ถูกระงับคือ เรื่อง “นาฬิกาหรูที่ยืมเพื่อน แค่บิดเบือนหรือพูดความจริง” โดยประชาชนส่วนมากไม่เชื่อว่า การที่นักการเมืองอ้างว่าทรัพย์สินมูลค่าสูงมากที่ครอบครองมาจากการหยิบยืมเพื่อน

ขณะที่ความคืบหน้าการตรวจสอบที่มาของนาฬิกาหรู ที่ปรากฎภาพในเพจดังทั้ง 25 เรือน ขณะนี้อยู่ในชั้นการรวบรวมหลักฐานของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่าจะตรวจสอบข้อมูลแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป

ส่วนโพลล่าสุดของนิด้าซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นการสอบถามความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ความเชื่อมั่นต่อการทำงานตรวจสอบรัฐบาล/คสช. ของ ป.ป.ช." ระหว่างวันที่ 24-25 ม.ค. พบว่า ประชาชนที่ตอบแบบสอบถาม 76.32% ระบุว่า มีความไม่ปกติ/ไม่โปร่งใสเกิดขึ้นในรัฐบาล/คสช.

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนว่ามีความคิดเห็นเกี่ยวกับว่าการแทรกแซงการทำงานของ ป.ป.ช. จากรัฐบาล/คสช. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 61.04% ระบุว่า มีการแทรกแซงการทำงานของ ป.ป.ช. จากรัฐบาล/คสช. รองลงมา 28.72% ระบุว่า ไม่มีการแทรกแซงการทำงานของ ป.ป.ช. จากรัฐบาล/คสช. และ 10.24% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ