เทศกาลลอยกระทงนับเป็นหนึ่งอีเวนต์ที่ดอกไม้ ใบไม้ มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ จึงเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่พ่อค้าแม่ค้าแห่งปากคลองตลาดสามารถกอบโกยทรัพย์กันอีกครั้ง แม้ผลการสำรวจจากหอการค้าจะระบุว่า ปีนี้การใช้จ่ายช่วงวันลอยระทงจะสะพัดน้อยลงกว่าปีก่อน 2.3 เปอร์เซ็นต์ สู่มูลค่า 9,699 ล้านบาท เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งเลือกไม่ออกไปลอยกระทง เพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี และข้าวของแพง
ทว่าเมื่อทีมงาน Voice On Being ลงสำรวจตลาดปากคลองตรีเพชร ไม่ไกลจากย่านปากคลองตลาดเก่า ในช่วงเย็นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 กลับพบว่า เริ่มมีผู้คนมาซื้อวัสดุอุปกรณ์ไปทำกระทงกันแบบไม่ขาดสาย จนกระทั่งพ่อค้าแม่ค้ายังประสานเสียงกันว่า ปีนี้คึกคักเทียบเท่าปีก่อน และคาดว่าวันจริงอาจจะคึกคักมากยิ่งขึ้น
เดินเลาะเข้าไปในตลาดปากคลองตรีเพชร เจ้าแรกที่สะดุดตาสุดคือ ‘ร้านกุหลาบออยไอริณ’ ของเจ๊ออย-พิมพ์พิการ์ ทองทรัพย์ เนื่องจากทั้งร้านเต็มไปด้วยสีสันจากกระทงหลากรูปแบบ ทั้งกระทงเปลือกข้าวโพดย้อมสีประดับตุ๊กตาเด็กผู้หญิง กระทงขนมปังคัลเลอร์ฟูล และที่เด่นสุดๆ ย่อมหนีไม่พ้นกระทงดอก ‘มุราคามิ’ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย
“เป็นกระทงขนมปังน่ะค่ะ ขายดีมากค่ะ” เจ๊ออยยืนยัน ส่วนสายมุ้งมิ้งอื่นๆ ได้แก่ กระทงขนมปังซาลาเปาดอกกุหลาบทำจากขนมปังปลาเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้กระทงสายครีเอทีฟจะมาแรง แต่กระทงหยวกกล้วยแบบดั้งเดิมก็ยังคงนิยมต่อเนื่อง และท่วมท้น โดยผู้ขายหลายร้านบอกตรงกันว่า คนไทยหันมานิยมกระทงจากวัสดุธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นเห็นได้ชัด
“โฟมส่วนใหญ่ไม่ค่อยใช้แล้ว ตามโรงเรียนไม่ให้ใช้เลย คนหันมาใช้ของจากธรรมชาติกันเยอะ” เจ๊ออยย้ำ
เช่นเดียวกับ บรรพต จันเก พ่อค้าจาก ‘ร้านทุรคาราตรี’ ที่เห็นตรงกับเจ๊ออยว่า วัสดุธรรมชาติคนมาหาซื้อเยอะสุด รองลงมาเป็นกระทงทำจากขนมปัง และอาหารปลา ส่วนวัสดุที่เป็นโฟมไม่ค่อยนิยมแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น คนส่วนใหญ่มักมาหาซื้อวัสดุจำพวกใบตอง หยวกกล้วย ตะปู ทางมะพร้าว ส่วนดอกไม้ที่นิยมนำมาประดับกระทง ได้แก่ กล้วยไม้ ดาวเรือง กุหลาบ บรรพตบอกด้วยว่า ถือเป็นดอกไม้ในการสักการะบูชา
“ถ้าส่วนใหญ่กระทงขนมปัง ลอยไปปลาก็กินหมด พวกใบตองหยวกกล้วย ก็ตักขึ้นมาก็ไปทำปุ๋ยหมักได้อะไรได้”
ดูเหมือนความเชื่อของคนส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การลอยกระทงด้วยขนมปังแฟนซีสีสวยงาม เป็นแนวทางลดขยะลงแม่น้ำลำคลอง หรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ล่าสุด ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการวิทยาศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมายืนยันอีกครั้ง (หลังจากพูดมาแล้วหลายปี) ว่ากระทงขนมปังไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และควรหลีกเลี่ยง
“ถ้ายังตัดใจเลิกลอยกระทงไม่ได้ อย่างน้อยก็ขอให้หลีกเลี่ยงความเชื่อผิดๆ เรื่อง ลอยกระทงขนมปังเพื่อสิ่งแวดล้อม กระทงขนมปังเนี่ย ทำน้ำเน่าเสียมากกว่าอย่างอื่น เพราะกระทงขนมปังมันเป็นสารอินทรีย์ ลงน้ำก็ยุ่ย และเน่าอย่างรวดเร็ว จะเก็บขึ้นแบบกระทงใบตอง หรือโฟมก็ไม่ได้ ปลาก็ไม่ค่อยกิน แล้วถ้ากินไม่หมด มันก็จะกลายเป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ให้น้ำ ทำให้น้ำเน่าเสียหนักขึ้นอีก”
“เริ่มขายตั้งแต่วันนี้ วันพรุ่งนี้ แล้วก็ลอยกระทงวันมะรืน ขายดีครับ คนมาซื้อเรื่อยๆ ส่วนใหญ่มาซื้อเอาไปตกแต่งเอง หรือแม่ค้าที่มาซื้อต่อ แต่ก็ต้องดูว่าจะคึกคักไปจนถึงวันลอยเลยหรือเปล่า เพราะวันนี้เพิ่งเริ่มขายกันเอง” บรรพตกล่าวก่อนหันไปบริการลูกค้าชายวัยรุ่น ซึ่งมาหาซื้อวัสดุทำกระทงราคาส่ง โดยเขาเลือกซื้อหยวกกล้วยนับสิบใบที่ราคาเปลี่ยนเป็นไปตามขนาด ขนาดเล็กสุดราคาส่งใบละราว 8-10 บาท
ด้าน เจ๊นวย-ณุโรม บัวคลี่ เจ้าของ ‘ร้านเจ๊นวย กล้วยไม้’ ให้สัมภาษณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ปีนี้เทศกาลลอยกระทงค่อนข้างคึกคัก โดยในวันที่ 20 พฤศจิกายน ลูกค้าหลักมาจากต่างจังหวัดค่อนข้างเยอะ พ่อค้าแม่ค้าต่างจังหวัดรับไปวันนี้ก็ขายในวันถัดมา ซึ่งเป็นวันโกน ก่อนจะลอยวันรุ่งขึ้น
“คิดว่าคึกคักนะ คึกคักกว่าทุกๆ ปี เหมือนเราได้จัดงานกันหลายๆ ที่ แต่ตลาดปากคลองตอนนี้แตกไปหลายตลาด คนก็ไปเดินหลายที่ด้วย” เจ๊นวยบอก พร้อมกับเผยข้อมูลด้วยว่า ราคาวัตถุดิบในการประดิษฐ์กระทงปีนี้ไม่ได้แพงเท่าไหร่ อย่างน้อยก็ในส่วนของดอกไม้
“ราคากล้วยไม้ ดอกไม้น่าจะถูกลง คือผลผลิตมันออกมาเยอะช่วงนี้ ทำให้ล้นตลาด ราคาก็เลยถูกลง ปกติราคาจะอยู่ 70-80 ต่อกิโลกรัม ตอนนี้ประมาณ 30 บาท คนก็มารับไปแบ่งขาย”
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่ยอดขายดี หรือพอๆ กับปีก่อน เพราะ ป้าพีร์-สายสัมพันธ์ คุณทองดี เจ้าของ ‘ร้านป้าพีร์ บายศรี’ ซึ่งปกติรับทำบายศรี แต่ก็มีฝีมือการทำกระทงที่สวยงามจนมีลูกค้าประจำสั่งทำกระทงด้วยทุกปี บอกกับทีมงานว่า ปีนี้งานหายไปกว่าครึ่ง ปกติแล้วลูกค้าจะสั่งล่วงหน้ากันทั้งนั้น
“ปีนี้น้อยลงครึ่งหนึ่ง คิดว่าคึกคักประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์” คุณป้าบอก ไม่แน่ใจว่า ลูกค้าหันไปซบอกกระทงทางเลือกอื่นๆ หรือเพราะการสั่งทำมีมูลค่าสูงเกินไป แม้กระทงใบใหญ่ที่คุณป้ากำลังขะมักเขม้นทำจะสวยงามสมราคา 3,000 บาทก็ตาม
“ปีนี้ลูกค้าน้อยนะ เศรษฐกิจไม่ดีมั้ง” คุณป้าปิดท้าย