เลี้ยวรถเข้าจอด ณ วัดม่วงแคซอยเจริญกรุง 34 ก่อนเดินเลาะซอยเล็กๆ ที่เชื่อมกันสู่ซอยเจริญกรุง 36 อันเป็นที่ตั้งของชุมชนมัสยิดฮารูณ ชุมชนมุสลิมเก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ บ้านเรือนถูกปลูกติดเรียงกันอย่างอบอุ่น ใกล้ชิด ตามแบบฉบับผังเมืองเก่า ล้อมรอบมัสยิดฮารูณอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน
ด้านข้างหนึ่งเป็นวัด ขณะที่ปากทางเข้าชุมชนมัสยิดฮารูณเป็นที่ตั้งของสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ที่เพิ่งสร้างใหม่เสร็จในปี 2015 รูปทรงเรือ สีขาว สไตล์ทันสมัย
มัสยิดฮารูณสร้างขึ้นโดย ‘โต๊ะฮารูณ บาฟาเดน’ ชาวเมืองปนเจอะนะ ประเทศอินโดนีเซีย เขาเป็นหนึ่งในพ่อค้าที่แล่นเรือมาค้าขาย ณ ชุมชนริมน้ำนับตั้งแต่อดีต ก่อนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงปี พ.ศ. 2371 เดิมทีมัสยิดบนพื้นที่ประวัติศาสตร์เคยเป็นอาคารไม้สักยกพื้นชั้นเดียวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จึงต้องก่ออิฐถือปูนสร้างขึ้นใหม่ ลึกเข้ามาในชุมชน ไกลออกมาเล็กน้อยจากริมแม่น้ำ
จากชุมชนมุสลิมริมน้ำในวันวาน ปัจจุบัน มัสยิดฮารูณเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติไม่เว้นแต่ละวันโดยเฉพาะในวันศุกร์ ซึ่งคนมุสลิมจะมารวมตัวทำ ‘การละหมาดวันศุกร์’ (ญุมุอะฮฺ) ร่วมกัน และด้วยความที่ชุมชนตั้งอยู่กลางเมือง สะดวกต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทำให้ผู้นับถือศาสนาอิสลาม หากมีเหตุให้ต้องเดินทางมายังประเทศไทย มัสยิดฮารูณก็ถือเป็นหนึ่งนตัวเลือกที่พวกเขาจะเข้ามาละหมาด
“ชาวต่างชาติเขารู้จักในนาม ‘มัสยิดฮารูณ’ แต่สำหรับคนที่เกิด และเติบโตแถวนี้ พวกเขารู้จักกันในนาม ‘มัสยิดวัดม่วงแค’ มันแสดงให้เห็นถึงความผสมผสาน ความสมานฉันท์ที่เกิดขึ้น เอาชื่อวัดมาตั้งชื่อมัสยิด” อิหม่ามบอย ผู้นำชุมชนมัสยิดฮารูณรุ่นปัจจุบันบอก
“ชุมชนม่วงแคฮารูณ เวลาทำอะไรเราทำร่วมกันมาตลอด ช่วยเหลืองานกันตลอด นี่คือความเป็นอยู่ตั้งแต่เริ่มแรกที่เราอยู่ปะปนกันมาทุกศาสนา ส่วนชาวคริสต์จะเข้ามาผ่านทางการเรียนรู้ หรือการเข้ามาชม ซึ่งถือว่าสัมพันธ์กันอยู่”
ภายนอกชุมชน เชื่อมสัมพันธ์แม้ต่างศาสนา ต่างความเชื่อ
ภายในชุมชน ความเชื่อเดียวกัน แตกต่างที่มา ถิ่นกำเนิด
‘อาหาร’ จึงเป็นสิ่งที่ผูกพันมุสลิมในชุมชนที่อพยพมาจากหลากถิ่นที่อยู่อาศัย ในช่วงเวลาที่ต่างกันได้ดีที่สุด และเป็นวัฒนธรรมที่แลกเปลี่ยนกันได้ไม่สิ้นสุด ทั้งในด้านรสชาติ สูตรการปรุง และมิตรภาพ ต่อคนในชุมชนด้วยกันเอง กระทั่งคนนอกชุมชน
ชุมชนฮารูณม่วงแคโดดเด่นด้วยร้านอาหารฮาลาลเจ้าอร่อยนับสิบ ไม่่ว่าจะเป็นร้านน้ำชา ร้านหอยทอด ผัดไท ร้านอาหารตามสั่ง ไก่ทอดเครื่อง โรตี ข้าวราดแกง และข้าวหมกต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวจากข้างนอก ทั้งไทยและเทศ แวะเวียนกันมาชิมไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในช่วงเช้าถึงเที่ยงของวันศุกร์ ที่ร้านค้าร้านอาหารตั้งเรียงรายตลอดทั้งตรอกสายหลักข้างมัสยิด
ศุกร์กลางเดือนตุลาคม Voice On Being ลงสัมผัสชุมชนฮารูณม่วงแค เป็นจังหวะเดียวกับที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พานักศึกษามาดูกรรมวิธีทำ ‘ข้าวหมก’ แบบฉบับชุมชนฮารูณ พร้อมจัดเวทีเสวนาวิชาการ ‘โรงครัวฮารูณ: พ่อครัว ชาวบ้านและศิลปะการกิน’
‘โมฮัมหมัด ฮุสเซน’ พ่อครัวประจำชุมชน ประจำการอยู่หน้าเตา ณ ลานกว้างหลังมัสยิดฮารูณ พร้อมด้วยหม้อใบใหญ่ขนาดเลี้ยงคนหลายสิบ และลูกมือวัยรุ่นหนุ่มสาวอีก 2-3 คน
ข้าวหมกเป็นหนึ่งในจานอาหารที่สะท้อนรากเหง้าทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ข้าวหมกไม่ใช่อาหารของชาติใดชาติหนึ่ง แม้จะมีต้นกำเนิดมาจากตะวันออกกลางก็ตาม แต่เป็นกรรมวิธีทำอาหารที่ถูกส่งต่อมาสู่หลายอารยธรรม สู่หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เปอร์เซีย เมียนมา ปากีสถาน ฯลฯ และมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ถูกปรับให้แตกต่างกันออกไป
ฮุสเซนมีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘กีโอ ซาน’ (Kyaw Zan) มุสลิมชาวเมียนมาผู้อพยพเข้ามาอยู่ในไทยราว 21 ปีก่อน ตอนเขาอายุได้ 37 ปี โดยช่วงแรกๆ ที่เข้ามาหางานทำ บังฮุสเซนช่วยมัสยิดทำความสะอาด และรับผิดชอบสุเหร่าในด้านต่างๆ ส่วนอาชีพพ่อครัวข้าวหมกเริ่มต้นที่ ‘พี่ดิน’ คนเก่าคนแก่ ซึ่งเคยเป็นพ่อครัวประจำชุมชนมาก่อน และได้ถ่ายทอดกรรมวิธีการทำข้าวหมกให้แก่ฮุสเซน
เขาเริ่มตั้งแต่เป็นลูกมือ กระทั่งพ่อครัวคนเก่าแก่ชราลง และทำต่อไม่ไหว พ่อครัวประจำชุมชนถูกเปลี่ยนมือมาเป็นหน้าที่ของฮุสเซน ไม่ว่าจะเป็นงานทำบุญ งานแต่ง งานบริจาค หรืองานละศีลอด บังฮุสเซนดูแลอาหารการกินทั้งหมด ควบคู่กับการขายข้าวหมกราว 200 กล่องในชุมชนทุกวันศุกร์
ด้วยความที่บังฮุสเซนมาจากเมียนมา แต่ชุมชนฮารูณเองกลับใกล้ชิดชุมชนอินเดียรอบๆ ส่วนตัวพี่ดินครูของฮุสเซนก็เป็นคนไทยมุสลิม ทำให้ข้าวหมกของเขาผสมผสานกรรมวิธีจากต่างวัฒนธรรม และมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ได้ชิมแล้วไม่เหมือนที่อื่น
เริ่มต้นจากการเอาข้าวแช่น้ำ 2-3 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ข้าวสุกง่าย โดยระยะเวลาแช่ขึ้นอยู่กับชนิดของข้าว โดยบังฮุสเซนแนะนำว่า หากเป็นข้าวเสาไห้จะหุงง่ายหน่อย จากนั้นทำการต้มน้ำแล้วใส่เครื่องเทศต่างๆ เช่น ลูกกระวาน กานพลู และเมื่อน้ำเดือดเทข้าวลงต้ม
ส่วนหม้ออีกใบหมกเนื้อสัตว์กับแกงทิ้งไว้ และใช้ ‘กี’ น้ำมันเนยแบบแขก เพื่อช่วยเรื่องกลิ่น และไม่ทำให้ติดก้นหม้อ เมื่อข้าวสุกครึ่งหนึ่งแต่งสีข้าวเพิ่มเติมด้วยสีผสมอาหารรับประทานได้ ข้าวของบังฮุสเซนใส่ 2 สี คือเหลือง และส้ม บางทีอาจจะเพิ่มสีแดงเข้ามาด้วย ต่อด้วยการตักข้าวมาหมกต่อในหม้อเดียวกับเนื้อสัตว์จนสุก โรยหน้าข้าวด้วยถั่ว และลูกเกด ซึ่งต้มสุกมาก่อนหน้านั้นแล้ว
บังฮุนเซนเฝ้าสังเกตข้าวหมกด้วยการพลิกดูด้านล่างว่าน้ำแกงแห้งหรือยัง โดยเขาพลิกข้าวจนเผยให้เห็นเนื้อแพะถูกหมก พร้อมส่งกลิ่นหอมยวนใจ ก่อนพูดว่า “อีก 5 นาที” ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณว่าใกล้เวลาได้กินแล้ว
เมื่อทุกอย่างสุกตั้งแต่บนลงล่าง บังตักข้าวแยกมาอีกหม้อ และตักข้าวเสิร์ฟคู่กับเนื้อแพะ ทานคู่กับซุปไก่
“ไทยหมกข้าวหม้อ ไก่หม้อ แต่ของผมใส่รวมกัน อินเดียก็ทำแบบผม แต่อินเดียทำเสร็จจะไม่ได้แยกข้าวออกมา เขาจะตักเลยทีเดียว” บังฮุสเซนบอก
“ข้าวหมกเป็นตัวอย่างอันดีที่สะท้อนรากเหง้าวัฒธรรม แถวนี้คนอินเดียเยอะหน่อยตั้งแต่สมัยโบราณที่มาตั้งรกรากทำอะไรกัน ข้าวหมกแถวนี้ก็จะสไตล์อินเดียหน่อย ในวิธีคลุกเครื่อง หรือวิธีทำแกงคู่กันไป ถ้าไปแถวมีนบุรี หนองจอก ข้าวหมกเขาก็มีแต่จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็จะเป็นแบบมลายูหน่อย เครื่องจะกลมกล่อมไม่เข้มข้นเท่านี้” ‘ก้อง ฤทธิ์ดี’ คอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์บางกอก โพสต์ ซึ่งกำลังทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมข้าวหมกไก่ทั่วประเทศไทยเล่าให้ฟังในฐานะผู้เกิดและเติบโตในชุมชมม่วงแคฮารูณ
นอกจากนั้น ก้องยังเล่าต่อด้วยว่า ข้าวหมกทางภาคใต้ข้าวจะผ่านกรรมวิธีการหมกอีกแบบ หรือที่ชุมชนมุสลิมบางกอกน้อยก็หมกอีกแบบ โดยข้าวมีสีแดงมากกว่า ในประเทศไทย คนนับถือศาสนาอิสลามแต่ต่างชุมชน ต่างต้นกำเนิด ทุกคนนำสูตรอาหารของตัวเองติดตัวมา แต่พอมาอยู่ที่นี่ก็เกิดการผสมผสานกันไป ไม่ว่าจะผ่านการแลกเปลี่ยน หรือข้อจำกัดด้านวัตถุดิบก็ตาม
“เมืองไทยเป็นที่ๆ ทุกคนมาอยู่รวมกัน อาหารจีน อาหารแขก ต่างมีหลายแบบเช่นเดียวกัน วัฒนธรรม ชีวิต ประวัติศาสตร์ มันก็เล่าผ่านอาหารได้เยอะทีเดียว”