นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวถึงความก้าวหน้าของโครงการอีอีซีและชี้แจงถึงประเด็นที่มีการกล่าวหาว่าอีอีซีขายชาติ ผ่านทางเฟซบุ๊ก ว่า ปัจจุบันการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการอีอีซีมีความคืบหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้มีการออกร่างขอบเขตการประมูล (ทีโออาร์) แล้ว คาดว่าในปีนี้จะได้รายชื่อผู้ร่วมลงทุน
ส่วนการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก คาดว่าทีโออาร์จะออกได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ เช่นเดียวกับท่าเรือแหลมฉบัง และมาบตาพุด ที่จะออกทีโออาร์ได้ในเดือน ต.ค. เช่นกัน
นอกจากนี้ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้นำคณะไทยเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนในอีอีซีนั้น ยังทำให้ที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในอีอีซีอย่างมาก สะท้อนได้จากตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวถึงร้อยละ 122 ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นการลงทุนจริงถึงร้อยละ 60 ในช่วงปี 2562
ส่วนที่มีการท้วงติงว่า พ.ร.บ.อีอีซี เปิดกว้างต่างชาติดำเนินธุรกิจ จึงขอชี้แจงว่า ตลอดเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา การลงทุนของต่างชาติต่ำมาก และสิ่งที่เห็นคือรัฐบาลพยายามส่งเสริมการลงทุน โดยปรับหลักเกณฑ์หลายอย่าง ผ่าน พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน และสร้างกลไกใหม่เป็นกองทุนพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน ทำให้สิทธิประโยชน์ทันสมัยขึ้น และ เป็นผลให้มีการลงทุนของต่างชาติเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันใช้ผังเมืองเดิมใน 3 จังหวัดเป้าหมาย ระหว่างรอจัดทำภาพรวมโครงการ
สำหรับประเด็นเรื่องการทำผังเมืองในอีอีซี ยืนยันว่าเป็นการทำงานร่วมของทุกฝ่ายและจะเร่งรัดการจัดทำผังเมือง โดยขณะนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการตามข้อระเบียบที่เคยมีมา ซึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง มีผังเมืองของเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการวางโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้พื้นที่จัดใช้ประโยชน์ปรับเปลี่ยนไป จึงต้องปรับผังเมืองใหม่ ซึ่งคาดว่า 6-12 เดือนหลังจากนี้ จะแล้วเสร็จ
นอกจากนี้ ข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. อีอีซี กำหนดในมาตรา 29 ให้จัดทำแผนภาพรวมของการพัฒนาอีอีซีให้แล้วเสร็จก่อน โดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ กพอ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้อนุมัติภาพรวมโครงการไปเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ขั้นตอนหลังจากนี้ จึงเริ่มเดินหน้าตามมาตรา 30 ว่าด้วยการจัดทำผังเมืองได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาที่ดินที่นำมาพัฒนาโครงการอีอีซีนั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของเอกชนที่มีอยู่แล้ว หรือเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยรวมเป็นเขตอุสาหกรรม 21 แห่ง บนพื้นที่ 2.8 หมื่นไร่ และขณะนี้ยังไม่มีการซื้อที่ดินใหม่ ส่วนการปรับขึ้นของราคาที่ดินในบริเวณโดยรอบก็เป็นไปตามกลไกตลาด ก็เกิดเป็นทั้งประโยชน์ของคนที่มีที่อยู่ เพราะบางคนมีธุรกิจที่ดีก็จะยอมจ่ายซื้อที่ดินในราคาสูง
"พ.ร.บ.อีอีซี ไม่ได้อนุมัติให้ต่างชาติถือครองที่ดิน แต่ในกฎหมายฉบับอื่นให้ต่างชาติถือครองได้ เช่น พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ดังนั้นเวลาลงทุนต้องไปขอที่บีโอไอ ไม่ได้มาขอที่สำนักงานอีอีซี" นายคณิศ กล่าว
แจงเปิดทางต่างชาติมีกรรมสิทธิ์อาคารชุด รับเทรนด์ธุรกิจอนาคต ใช้คอนโดฯ เป็นออฟฟิศมากขึ้น
ส่วนเรื่องต่างชาติถือครองอาคารชุดจะถูกตีความวัตถุประสงค์เพื่ออยู่อาศัย ซึ่งกำหนดให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองได้ร้อยละ 49 แต่สำหรับพื้นที่อีอีซี มีโอกาสที่จะเอาอาคารชุดมาพัฒนา หรือแนวโน้มเอาอาคารชุด มาประกอบกิจการอุตสาหกรรมได้ เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมนวัตกรรม ที่ไม่จำเป็นต้องพัฒนาภายใต้โครงการแนวราบ ส่งผลให้ พ.ร.บ.อีอีซี เปิดโอกาสให้ต่างชาติ นิติบุคคลถือครองอาคารชุดเพื่อประกอบกิจการและอยู่อาศัยได้
แต่มีข้อกำหนดคือต้องเป็นอาคารชุดที่ถูกพัฒนาอยู่ในพื้นที่จำกัด 3 จังหวัดไข่แดง (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) และต่างชาติต้องทำงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในพื้นที่ที่พัฒนาโครงการ หากกำหนดตามกฎหมายทั่วไป จำกัดให้ต่างชาติถือได้แค่ร้อยละ 49 หากไม่มี คนไทยเข้ามาถือครองในสัดส่วนร้อยละ 51 อาจทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อีกทั้งเพื่อป้องกันปัญหาการพัฒนาคอนโดมิเนียมทั่วพื้นที่อีอีซี เพราะการจำกัดพื้นที่อยู่อาศัย และปลดล็อกกฎหมายถือครองของต่างชาติ จะทำให้มีโครงการคอนโดมิเนียมเฉพาะจุด
"เดิม พ.ร.บ.อีอีซี กำหนดไว้ว่าระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แต่ถูกอนุมัติออกมาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพราะรัฐบาลต้องการให้พัฒนาทุกอย่างรอบด้าน ไม่เพียงเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเป้าหมาย เรามองโอกาสที่จะเอาโมเดลเหล่านี้ไปพัฒนาพื้นที่อื่น เช่น ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคตะวันตก ภาคเหนือ โดยเชื่อว่าการทำอีอีซีไม่ได้ทำเพียง 3 จังหวัด อาจจะขยายในอนาคต แต่ขอให้เราได้ลองทำก่อน เชื่อว่า 2 ปีจะสามาถบอกได้ว่า อันไหนดี อันไหนไม่ดี และเอาอันไหนไปใช้ กับพื้นที่อื่นได้บ้าง" นายคณิศ กล่าว
ส่วนเรื่องเช่าที่ดิน 99 ปี ยืนยันว่า ไม่เคยมีข้อมูลเขียนไว้ โดยอ้างอิงตาม พ.ร.บ. เช่าที่ดินประกอบการกิจการและพาณิชยการ ตั้งแต่ปี 2549 กำหนดให้เช่าที่ดิน 50 ปี และอาจขยายได้อีกไม่เกิน 50 ปี แต่ในส่วนของ พ.ร.บ.อีอีซี ให้เช่า 50 ปี แต่อาจขยายให้ได้อีกไม่เกิน 49 ปี
การใช้ประโยชน์ที่ดิน หากไม่ประกอบกิจการภายใน 3 ปีต้องคืนภายใน 1 ตามระเบียบการนิคมฯ
ขณะที่ นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานปฏิบัติการเชิงพื้นที่ สกพอ. กล่าวว่า พ.ร.บ.เรื่องยกเว้นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม มีการกำหนดใช้เฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัด ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ ผู้เชี่ยวชาญกำหนดตั้งแต่มาตรา 48-59 เป็นต้นไป ทุกข้อเขียนชัดเจน โดยเฉพาะมาตรา 49 เรื่องถือครองที่ดินและอาคารชุดก็มีขอบเขต และมาตรานี้ยังกำหนดชัดว่าถ้าไม่ประกอบกิจการภายใน 3 ปี ต้องคืนภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของการนิคมที่ทำอยู่แล้วแต่เดิม
ส่วนประเด็นของสิทธิประโยชน์ที่จะมอบให้ผู้เชี่ยวชาญ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมการท่องเที่ยวและ บริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และเทคโนโลยีเท่านั้น เป็นไปตามมาตรา 39 เพราะเป้าหมายของ ประเทศไทย ต้องการสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อาชีพหมอ ต้องการการแพทย์เก่งๆ แต่ไทยเขียนข้อจำกัดว่าอาชีพแพทย์ต้องเป็นสัญชาติไทย ทำให้ พ.ร.บ.อีอีซี เขียนไว้ว่า สามารถเอามาจากประเทศอื่นได้ แต่ยังไงก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายก่อน และต้องทำงานในเขตเล็กพื้นที่ไข่แดงเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :