ไม่พบผลการค้นหา
ทางการออสเตรเลียดักจับจระเข้ยาวเกือบ 5 เมตร หนัก 590 กก. สำเร็จ หลังค้นหามานานกว่า 8 ปี เพราะจระเข้เคลื่อนย้ายไปตามแม่น้ำที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ-เตรียมส่งไปศูนย์เพาะพันธุ์-ป้องกันอันตรายต่อมนุษย์

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าของออสเตรเลีย เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สามารถดักจับจระเข้น้ำเค็ม ยาว 4.7 เมตร หนัก 590 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นจระเข้ตัวใหญ่ที่สุดที่เคยพบในแม่น้ำแคทรีน รัฐนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี และเจ้าหน้าที่ตามล่าจระเข้ดังกล่าวมานานกว่า 8 ปี 

แกรห์ม เว็บบ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจระเข้ของออสเตรเลีย เปิดเผยกับสำนักข่าวเอบีซีนิวส์เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ว่าจระเข้ยักษ์ที่จับได้นั้นเป็นอันตรายกับมนุษย์มากกว่าที่คิด เพราะแม่น้ำดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้เดินทางมาทำกิจกรรมมากเป็นอันดับต้นๆ ของรัฐ แต่จระเข้ตัวดังกล่าวมีพฤติกรรมแปลกกว่าจระเข้น้ำเค็มทั่วไป เพราะไม่ได้อาศัยอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นหลักแหล่ง แต่กลับเคลื่อนย้ายไปตามแนวแม่น้ำแคทรีน และคนที่ไม่เคยเห็นจระเข้ในแหล่งท่องเที่ยวอาจเกิดความประมาท ลงเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมในแม่น้ำ ซึ่งอาจได้รับอันตรายจากจระเข้

เว็บบ์ระบุว่านับตั้งแต่ทางการออสเตรเลียประกาศให้จระเข้เป็นสัตว์คุ้มครองเมื่อปี 2524 ช่วยให้จระเข้ในธรรมชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยมีประชากรจระเข้น้ำเค็มราว 3,000 ตัวในรัฐนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีก็เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 - 100,000 ตัวในปัจจุบัน


https://scontent.fbkk12-1.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/36952827_1858778544182400_1469717137013604352_o.jpg?_nc_cat=0&oh=f311e033fc90f801d8e1aff32a3753ec&oe=5BE64BF3

ภาพจากเฟซบุ๊ก Northern Territory and Wildlife


AP-จระเข้ยักษ์ออสเตรเลีย

เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ประเมินว่าจระเข้ยักษ์ที่เพิ่งจับได้น่าจะมีอายุราว 60 ปี สภาพผิวหนังมีร่องรอยแผลจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่ต้องยิงยาสลบอย่างแรงและมัดปากด้วยเทปกาวอย่างแน่นหนา ก่อนจะขนย้ายไปยังศูนย์เพาะเลี้ยงที่อยู่ห่างจากอุทยานฯ ราว 300 ก.ม. โดยหวังว่าศูนย์เพาะเลี้ยงจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่

ทางการออสเตรเลียระบุว่า จระเข้น้ำเค็มโดยทั่วไปมีอายุยืนถึง 70 ปี และมีความยาวเฉลี่ยประมาณ 3.5-4.5 เมตร แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีจระเข้ขนาดใหญ่กว่าตัวที่เพิ่งดักจับได้อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ

ส่วนจระเข้ตัวใหญ่ที่สุดที่เคยจับได้ในออสเตรเลีย มีความยาว 6.4 เมตร จับได้ในแม่น้ำแมรี่เมื่อปี 2527 ซึ่งเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องฆ่าโดยใช้ขวานสับหัว แต่จระเข้ที่จับได้ในปัจจุบันจะถูกส่งไปยังศูนย์เพาะเลี้ยง ไม่สามารถปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ เพราะจระเข้จะกลับไปอยู่ในถิ่นเดิม ถ้าถิ่นของจระเข้อยู่ใกล้ชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยว ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้

จระเข้น้ำเค็มซึ่งพบมากในออสเตรเลียมีนิสัยดุร้าย มีสถิติทำร้ายและทำให้คนเสียชีวิตมากกว่าจระเข้น้ำจืด ในแต่ละปี มีคนถูกจระเข้น้ำเค็มโจมตีเสียชีวิตโดยเฉลี่ย 2 คน และปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จับจระเข้ไปปล่อยศูนย์เพาะพันธ์ประมาณ 250 ตัว

ที่มา: ABC News/ Sydney Morning Herald/ Washington Post

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: