นอกจากจะหมายถึงผีดิบ ที่แพร่เชื้อได้ไวอย่างกับโรคระบาดแล้ว ‘Zombie’ ก็ยังเป็นเพลงร็อคชื่อดัง ที่มีกลิ่นอายกรันจ์สุดดุเดือด ของวงดนตรีเชื้อสายไอริช สุดฮิิปอีกวงหนึ่งจากยุค 90’s อย่าง The Cranberries ด้วย
และถึงแม้ว่าจะมีเพลงฮิตอื่นๆ อย่าง Salvation หรือ Odd To My Family แต่ก็คงจะไม่ผิดอะไรนัก ถ้าจะพูดว่า Zombie เป็นเพลงที่ดังที่สุดของ The Cranberries ในระดับที่เรียกว่าเป็นภาพจำของวงเลยทีเดียว
เพราะหลังจากที่ซิงเกิลนี้จะถูกปล่อยออกมาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2537 เพลง Zombie ก็ได้ทะยานขึ้นไปยึดหัวหาดเป็นอันดับหนึ่งของชาร์ตเพลงฮิตในหลายต่อหลายประเทศ ภายในปีพุทธศักราชเดียวกันนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็น เบลเยี่ยม, ฝรั่งเศส, เดนมาร์ค, เยอรมนี หรือแม้กระทั่งประเทศที่อยู่ห่างจากทวีปยุโรปออกไปอย่าง ออสเตรเลีย ก็ตาม
ส่วนความสำเร็จที่จับต่้องได้ยิ่งกว่า ก็คือการที่เพลง ‘Zombie’ คว้ารางวัล ‘เพลงยอดเยี่ยมประจำปี พ.ศ. 2538’ จากเวที MTV Europe Music Award ประจำปี พ.ศ. นั้น โดยเอาชนะได้ทั้งซิงเกิ้ล You Are Not Alone ของราชาเพลงป๊อปอย่าง ไมเคิล แจ็คสัน (Michael Jackson) และอีกหนึ่งเพลงฮิตของวงเกิร์ลกรุ๊ปสุดชิคในช่วงเวลานั้นอย่าง Waterfall ของวง TLC เลยทีเดียว
แต่ Zombie ไม่ได้เป็นเพลงที่โดนใจเฉพาะแค่ในภาคส่วนของดนตรี ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพลงกรันจ์ที่เกรี้ยวกราด และดุดันที่สุดเท่าที่ The Cranberries เคยทำเพลงมาเท่านั้น (ก็เกี้ยวกราดเสียจนขนาดที่ว่า นักวิจารณ์ดนตรีให้นิยามว่า เป็นเพลงดุเดือดมายิ่งกว่าภาพลักษณ์ และอะไรหลายๆ สิ่งของ The Cranberries เองเสียอีก) ในภาคของเนื้อหา และประวัติที่มาเพลงก็ยิ่งมีอะไรที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ท่อนก่อนที่จะเข้าช่วงฮุคที่สองของเพลงนี้ มีเนื้อหาชวนงงที่ว่า
“It’s the same old theme, since nineteen-sixteen. In your head. In your head, they’re still fighting.”
ที่ผมว่าชวนงงนี่ก็คงจะเป็นเฉพาะใครต่อใครที่ไม่ใช่ไอริชชน หรือชนชาวไอร์แลนด์ อันเป็นสัญชาติตามทะเบียนบ้าน, บัตรประชาชน และสูติบัตรของสมาชิกวง The Cranberries ทั้งวงนะครับ
เพราะสำหรับผู้คนในประเทศไอร์แลนด์แล้ว เจ้า ‘nineteen-sixteen’ ในประโยคนี้ ก็สามารถสื่อให้พวกเขารู้ได้ทันทีว่าหมายถึง ปีคริสต์ศักราช 1916 (ตรงกับ พ.ศ. 2459) ปีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ชาติของพวกเขาที่เรียกกันว่า ‘Easter Rising’ หรือ ‘กบฏสัปดาห์อีสเตอร์’
กล่าวโดยสรุป เหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘กบฎสัปดาห์อีสเตอร์’ ในไอร์แลนด์นั้นก็คือ การลุกขึ้นมาต่อต้านอังกฤษ ซึ่งเป็นชาติพี่เบิ้มบนหมู่เกาะบริเตน (Britain) ที่มี อังกฤษ, สก็อตแลนด์ และเวลส์ ตั้งมั่นอยู่บนเกาะบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์ บนเกาะไอร์แลนด์ (ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ เป็นเหมือนบริวารของเกาะบริเตนใหญ่ จนพอจะเรียกเป็นบริเตนน้อยได้) เมื่อ พ.ศ.2459 หรือ nineteen-sixteen ในเพลง Zombie
อังกฤษนั้นพยายามควบคุมดินแดนต่างๆ บนหมู่เกาะบริเตน มาตั้งแต่ยุคหลังจากอิทธิพลของพวกโรมันหมดสิ้นไปจากหมู่เกาะแห่งนี้ และยุโรปได้เดินหน้าเข้าสู่ยุคกลางอย่างเต็มตัวแล้ว แต่จะหนักหน่วงเอามากๆ ในช่วงหลังจากมีสิ่งที่เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800’ (Act of Union 1800, ตรงกับ พ.ศ. 2343) ซึ่งเป็นกฎหมายที่รวมไอร์แลนด์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘สหราชอาณาจักร’ ที่นำโดยอังกฤษ จนทำให้เกิดกระแสชาตินิยมไอร์แลนด์คุกรุ่น และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามมา
โดยเฉพาะเมื่อการมีพระราขบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 นั้น ได้ทำให้บรรดาไอริชชนสูญเสียรัฐสภาในดับลิน และถูกปกครองด้วยการสั่งงานจาก พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ที่ถูกใช้เป็นรัฐสภาของอังกฤษ
เรื่องมันจะมาเกี่ยวข้องกับ nineteen-sixteen ในเพลง Zombie ก็ตรงที่ ในช่วงคาบเกี่ยวกับ พ.ศ. 2459 นั้น เป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นมานั่นเอง
หลังจากอภิมหาสงครามในดีกรีรุนแรงระดับที่โลกไม่เคยรู้จักมาก่อน อย่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2457 พรรครีพับลิคันภราดรภาพไอร์แลนด์ (Irish Republican Brotherhood หรือ IRB, ผมไม่ทราบว่า ชื่อเรียกทางการของ IRB ในภาษาไทยคืออะไร จึงขออนุญาตแปลตามคำศัพท์อย่างตรงตัว และทื่อๆ เพื่อความเข้าใจอย่างคร่าวๆ) ก็ได้รับความช่วยเหลือทางการทหารอย่างลับๆ จากเยอรมนี ชาติหัวหอกของฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งเป็นชาติคู่สงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่มี อังกฤษ เป็นหัวหอก
จนสุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นเป็น ‘กบฎสัปดาห์อีสเตอร์’ เมื่อ พ.ศ. 2459 หรือ nineteen-sixteen นั่นเอง
ไม่แปลกเลยนะครับที่เนื้อเพลงท่อนต่อจากประโยคข้างต้น ที่ระบเรือน ค.ศ. nineteen-sixteen นั้น จะมีใจความว่า
“With their tanks, and their bombs, and their bombs, and their guns. In your head, in your head, they are dying.”
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ กบฎสัปดาห์อีสเตอร์ก็คือ ความรุนแรง สงครามขนาดย่อมๆ ที่มีทั้งปืน และระเบิด อย่างในเนื้อเพลง (แต่ส่วน รถถัง นี่ผมไม่แน่ใจนัก เพราะบางประเทศในอีกร้อยปีถัดมา ได้แสดงให้เห็นว่า บางรถถังก็มีไว้จอดทิ้ง และออกโชว์ในงานวันเด็กเสียมากกว่า) แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความตายของใครหลายๆ คน
และอะไรที่เรียกว่า ‘กบฎ’ นั้นก็คือฝ่ายที่แพ้นะครับ เพราะถ้าชนะก็จะถูกเรียกอย่างผู้มีชัยว่า ‘รัฐประหาร’ ผลพวงที่ตามมาจากนั้นคือ ความโกรธแค้นที่มีมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการกดขี่ที่มีแต่เดิมของอังกฤษ ส่วนหนึ่งก็มาจากความคับแค้นที่พ่ายแพ้ในเหตุการณ์ nineteen-sixteen ที่ว่า อีกส่วนหนึ่งก็มาจากวิธีการตอบโต้ของอังกฤษภายหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เอามาขยำรวมๆ กัน แล้วก็จะได้เชื้อไขใช้กำเนิดอะไรที่เรียกว่า ‘กองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์’ (Irish Republican Army) หรือ ‘IRA’ นั่นเอง
ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2462-2464 ซึ่งเกิดสงครามเรียกร้องอิสรภาพต่ออังกฤษ ของไอร์แลนด์ จนทำให้ไอร์แลนด์ได้เป็นอิสระ และกลายเป็นประเทศที่มีเอกราชเป็นของตนเองในที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ไอร์แลนด์ทั้งหมดนะครับได้รับเอกราช เพราะยังมีดินแดนบางส่วนบนเกาะไอร์แลนด์ที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันในชื่อของ ‘ไอร์แลนด์เหนือ’
พวก IRA (ซึ่งควรจะเรียกว่าเป็น ขบวนการปลดแอกไอร์แลนด์เหนือออกจากอังกฤษ โดยชนชาวไอริชกลุ่มน้อยที่นับถือนิกายโรมันคาธอลิค ด้วยวิธีการรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น การปล้น ฆ่า และระเบิดพลีชีพ มากกว่ากองทัพ อย่างคำแปลในภาษาไทย) อ้างว่า ผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่งในสงครามเรียกร้องอิสรภาพในครั้งนั้น เป็นขบวนการของชนชาวไอริช ที่ปฏิเสธการเกณฑ์ทหารเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ของพวกอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2460 หรือหลังจาก nineteen-sixteen ที่เกิดเหตุการณ์กบฎสัปดาห์อีสเตอร์เพียงหนึ่งปี
แน่นอนว่า IRA อ้างว่าตนเองก็คือ ผู้ที่สืบทอดอุดมการณ์มาจากพวกเขา พร้อมกับที่เรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวก IRA ดั้งเดิม หรือ IRA เก่า
ไม่ว่าคำอ้างของพวก IRA จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่นี่ก็เป็นข้ออ้างสำหรับก่อความรุนแรงของพวกเขานะครับ อย่างน้อยในเพลง Zombie มีประโยคที่ว่า “It’s the same old theme, since nineteen-sixteen. In your head. In your head, they’re still fighting.” นั่นแหละ
‘same old theme’ หรือ ‘เรื่องเดิมๆ’ ที่ ‘เกาะอยู่ในหัว’ ไอริชชนว่า ‘มันยังรบกันไม่เลิก’ ก็เพราะการคงอยู่ของ IRA นี่เอง
โดโลเรส โอ’ริออร์แดน (Dolores O’Riordan) นักร้องนำสาวมาดพังค์ ของ The Cranberries ผู้แต่งเพลง Zombie เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า เธอแต่งเพลงนี้ขึ้นระหว่างที่กำลังอยู่ในช่วงทัวร์คอนเสิร์ต The Cranberries English Tour 1993 (พ.ศ. 2536) ในอังกฤษ ซึ่งก็เป็นช่วงที่เกิดเหตุระเบิดที่เมืองวอร์ริงตัน (Warrington) โดยการกระทำของฝ่าย IRA เมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ปีที่ว่า จนทำให้ โจนาธาน บอลล์ (Jonathan Ball) เด็กน้อยอายุ 3 ขวบ กับ จิม พาร์รี่ (Jim Parry) ในวัย 12 ปีเสียชีวิต พร้อมกับผู้บาดเจ็บอีกเรือนสิบราย เธอจึงแต่งเพลงนี้เพื่อระลึกถึงเด็กน้อยทั้งสอง และเหตุการณ์ในครั้งนี้
สำหรับ โอ’ริออร์แดน แล้ว อะไรที่ถูกฝัง ‘อยู่ในหัว’ ของ IRA พวกนั้นแหละครับ ที่เป็นอะไรที่ไม่ยอมตายซากไปเสียทีอย่างกับผี ‘ซอมบี้’ ที่อยู่มาตั้งแต่ยุค nineteen-sixteen ในท่อนฮุคเพลงนี้ของเธอ
และถึงแม้ โอ’ริออร์แดน จะเพิ่งจากเราไปในวันนี้ แต่เพลงที่โด่งดังที่สุดของเธอทั้งในฐานะผู้ร้อง และคนประพันธ์นั้น ก็ยังคงจะเตือนสติให้เราอยู่เสมอว่า ความคลั่งชาติไม่เคยมีประโยชน์อะไรนอกไปจากผลิตซอมบี้ในหัวของใครต่อใครราวกับเป็นโรคระบาด
ด้วยความระลึกถึง Dolores O’Riordan (พ.ศ. 2514-2561)