ศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผู้ว่าแบงก์ชาติ ออกมาพูดว่า "เงินเฟ้อต่ำไม่ได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจ" ท่านน่าจะเข้าใจปรัชญาการบริหารระบบเศรษฐกิจไม่ถูกต้อง อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไป เช่น 1% ถึงติดลบ จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนไทย (e=Pt/Pw) มีค่าเท่ากับราคาสินค้าไทย (Pt) หารด้วยราคาสินโลก (Pw) เมื่อราคาสินค้าไทย เพิ่มขึ้นช้ากว่าราคาสินค้าโลก ก็ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว ตัวอย่างเช่น เงินบาทไทยแข็งกว่าเงินดองเวียดนาม 1.6 เท่า, แข็งกว่าเงินรูปีอินเดีย 2.58 เท่าในเวลา 20 ที่ผ่านมา ทำให้เวียดนามและอินเดียส่งออกได้มากมาย GDP เติบโตปีละ 6-7% และเงินเฟ้อ 3-5% ทำให้รายได้ที่เป็นตัวเงินของประชาชนเพิ่มปีละ 9-12%
ในขณะที่ประเทศไทย ใช้นโยบายเงินเฟ้อต่ำมากๆ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งมากๆ แข็งกว่าเกือบทุกชาติในโลก ผลก็คือ ส่งออกได้น้อยลงมาก ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำมาก จนไปลดการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ประชาชนไทยยากจนลงไปเรื่อยๆ
การที่ ผู้ว่าแบงก์ชาติ สอนนักศึกษาปริญญาโท-เอก ว่า "เงินเฟ้อต่ำไม่ได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจ" ความจริงเราสามารถแสดงโดยสมการคณิตศาสตร์ข้างบนว่า เงินเฟ้อต่ำ ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น การส่งออกและท่องเที่ยวลดลง มาลดรายได้ประเทศ (GDP) ทำให้การใช้กำลังการผลิต (Capacity) ลดลง จึงมาลดการลงทุนใหม่ ลดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เศรษฐกิจไทย ล้าหลังไม่เจริญเติบโต ประชาชนยากจน เป็นเช่นนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในญี่ปุนหลังเซ็น Plaza accord ปี 1985 ค่าเงินเยนแข็งขึ้นมากๆ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซาไม่เจริญเติบโตเป็นเวลานานมาก
การบริหารประเทศจึงต้องเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจมหภาคให้รู้แจ้ง หากไม่เห็นแจ้ง จะทำให้ประเทศไม่เจริญ ประชาชนยากจน น่าสงสารพี่น้องประชาชนมากๆ ครับ