ไม่พบผลการค้นหา
ทุกครั้งที่มีภาพข่าวเกณฑ์ทหารจับใบดำใบแดง เราจะเห็นภาพความโศกาอาดูรของผู้แจ๊คพอตจับได้ใบแดง และเห็นความโลดเต้นของผู้จับได้ใบดำ มีน้อยนักจะยืดอกเข้าประจำการอย่างยิ้มแย้มแช่มชื่น แค่ภาพแบบนี้ที่จริงก็บอกได้กลายๆ แล้วว่าการเกณฑ์ทหารสำหรับ 'คนจำนวนมาก' ไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์ ด้วยหลายๆ เหตุผลทั้งการเสียโอกาสทางการศึกษา การทำงาน ภาระทางบ้าน ซึ่งแต่ละคนล้วนมีเหตุต่างๆ กันไป

คนเกณฑ์ทหารคือ 'คนไม่มีเงิน'

แต่ดั้งแต่เดิมมารัฐไทยยุคโบราณไม่ได้มีการเกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่ แต่มีสิ่งที่เรียกว่า 'การเกณฑ์เลข' ชายอายุ 18-60 ปี (เอาซะตั้งแต่หนุ่มยันเฒ่า) ต้องมาขึ้นทะเบียนกับกรมพระสุรัสวดี เข้าสู่กระบวนการสักข้อมือ เพื่อระบุว่าอยู่สังกัดกรมกองไหน

พอถึงปลายสมัยกรุงศรีฯ ราชสำนักจึงเริ่มผ่อนผันให้ 'ไพร่' จ่ายเงินแลกกับการถูกเกณฑ์ พอถึงตอนนี้มันเลยกลายเป็นเรื่องของ 'คนมีเงิน' และ 'คนไม่มีเงิน' พวกมีเงินก็ส่งเงินแลกกับอิสรภาพในชีวิต ส่วนพวกไม่มีเงินก็ต้องเข้าสู่กระบวนการเกณฑ์เลขไปตามระเบียบ

มีตัวอย่างชัดเจนในปี พ.ศ. 2418 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดเหตุฮ่อก่อความไม่สงบที่เมืองเวียงจันทน์และเมืองหนองคาย ฝ่ายกรุงเทพมหานครจึงยกทัพไปปราบ ให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เป็นแม่ทัพยกทัพไปทางลำน้ำป่าสัก ต้องเดินบกตั้งแต่สระบุรี นครราชสีมา ผ่านดงพญาไฟในช่วงฤดูฝนที่มีไข้ป่าชุกชุม แค่นึกก็สยอง ดังนั้น เมื่อมีการสั่งเกณฑ์เลขเอาไพร่ไปรบ จึงเกิดภาวะ 'วิ่งเต้น' เพราะไม่อยากเป็นทหารกันวุ่นวาย ซึ่งบันทึกไว้ในวรรณกรรมเรื่องลือลั่น 'นิราศหนองคาย' ของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) นิราศฉีกขนบ เพราะไม่มีบทพรรณาความรักต่อหญิงสาว มีแต่บทบรรยายความทุกข์ยากในการเป็นทหารเกณฑ์ล้วนๆ

โดยนิราศบันทึกสภาพไพร่ที่ไม่อยากเป็นทหาร และนายเงินที่ไม่อยากเสียกำลังแรงงานเอาไว้อย่างละเอียด

เกณฑ์เลขทาสทั้งที่มีค่าตัว             ดูนุงนัวนายหมวดเร่งกวดขัน

ผู้ที่เป็นมูลนายวุ่นวายครัน             บ้างใช้ปัญญาหลอกบอกอุบาย

ว่าตัวทาสหลบลี้หนีไม่อยู่               ข้างเจ้าหมู่เกาะตัวจำนำใจหาย

ที่ตัวทาสหนีจริงวิ่งตะกาย              ทำวุ่นวายยับเยินเสียเงินทอง

เกณฑ์ขุนหมื่นขึ้นใหม่ในเบี้ยหวัด      ขุนหมื่นตัดเกณฑ์ตามสามเอาสอง

ท่านนายเวรเกณฑ์กวดเต็มหมวดกอง           เอาข้าวของเงินตราปัญญาดี

เหล่าพวกขุนหมื่นไพร่ต้องไปรบ    ที่มีทรัพย์พอจะจ่ายไม่หน่ายหนี

สู้จ้างคนแทนตัวกลัวไพรี                  ที่เงินมีเขาไม่อยากจะจากจรฯ



transcript01.jpg

(ภาพทหารพักผ่อนอิริยาบถ จากจิตรกรรมรามเกียรติ์วัดพระแก้ว ห้องที่ 3 “ท้าวชนกจักรวรรดิให้ป่าวประกาศเชิญหน่อกษัตริย์ต่างเมืองมายกศร”)

นอกจากนี้ จากรายงานเรื่อง 'ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารในสังคมไทย' ของ อ.ธนัย เกตวงกต ยังศึกษาพบข้อมูลว่า จากเรื่องการจ่ายเงินแทนการเกณฑ์เลข ทำให้คนที่ถูกเกณฑ์ถูกมองว่าเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอก ไม่มีเงิน ไม่มีทางเลือกอื่นในชีวิต จึงต้องมาเป็นทหาร โดยได้ยกหลักฐานจากพระราชดำรัสระหว่างรัชกาลที่ 5 ต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ช่วงเดือนเมษายน ร.ศ.122 ว่า

               "...คนที่ส่งมาเป็นทหารนั้น เฉพาะแต่คนที่ไม่มีเงินเสียส่วนประการหนึ่ง คนที่เปนโทษบางอย่างประการหนึ่ง ฤๅผู้ที่เลวทรามที่สุดในพื้นเมืองนั้น คือจะทำอะไรไม่ได้เปนต้นก็มี..." (สำเนาราชหัตถเลขา 39/143 สวนดุสิต 23 เมษายน ร.ศ.122)

               "คนในมณฑลอีสานซึ่งเลือกคัดส่งมารับราชการทหารอย่างทุกวันนี้ ตกอยู่ในชนชั้นเลวที่มีความผิดหรือไม่สามารถจะกระทำการอย่างอื่นได้แล้วจึงส่งมาเป็นทหาร พาให้คนทั้งหลายแลเห็นว่า ทหารเป็นบุคคลจำพวกที่เลวทรามกว่าพลเมืองสามัญ" (กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปรเวต 27/1083 ศาลาว่ากลางมหาดไทย 27 เมษายน ร.ศ. 122)

จาก 2448 – 2561 เรายังคงกลัวใบแดง


transcript02.jpg

(ภาพทหารสมัย ร.5 ยังต้องเอาผ้าห่มนอนมาคล้องตัวเพราะไม่มีเป้: ภาพจาก สุทนต์ ขวัญนคร, ข้าราชฯ - สำนักไทย ประมวลภาพประวัติศาสตร์กองทัพไทย, กรุงเทพฯ : สิบห้า มีน, 2538.)

อย่างไรก็ตาม การเกณฑ์เลขมีข้อด้อยอย่างหนึ่งคือ ทหารไพร่แทบไม่เคยได้ฝึกฝนการใช้อาวุธมาก่อน หรือพูดง่ายๆ คืออาจจะด้อยสมรรถนะในการรบ จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆ และการเข้ามาของอาณานิคม ใน ร.ศ. 122 นี่เองที่สยามมีการออก 'ข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.122' ขึ้น เพื่อเกณฑ์ทหารแบบทันสมัยในมณฑลพิษณุโลก มณฑลนครสวรรค์ มณฑลนครราชสีมา และมณฑลราชบุรี เป็นการทดลองหยั่งเชิงไม่ประกาศเกณฑ์ทหารทั่วราชอาณาจักร เลือกเฉพาะบางมณฑลเพื่อป้องกันความตื่นตระหนกจนเลยเถิดถึงการเกิดกบฏ

เมื่อเห็นว่าไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรง จึงมีการอีโวขั้นสุดของการเกณฑ์ทหารด้วยการประกาศ 'พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.124' (พ.ศ. 2448) ให้ชายฉกรรจ์อายุครบ 18 ปีต้องเข้ารับราชการทหาร เป็นรูปแบบที่สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

ถึงตอนนี้ก็ 113 ปีมาแล้วที่เรามีการเกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่เต็มระบบ แต่ดูเหมือน "ความไม่อยากเป็นทหาร" จะยังคงอยู่ไม่ต่างจากในอดีตยุคเกณฑ์เลข เห็นได้จากบ้านเรามีสถานที่บนบานขอให้ไม่ติดทหาร (แม้แต่ศาลแม่นาคยังเชื่อกันว่าบนขอใบดำได้) มีเทคนิคการตรวจร่างกายให้พิกลพิการ หรือแม้แต่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า "จ่ายก็จบ" ไม่อยากเป็นทหารก็เพียงต้องมีเงิน

มีนักคิดที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และซิกมุนด์ ฟรอยด์ มองว่า "การเกณฑ์ทหารเป็นการใช้แรงงานทาสรูปแบบหนึ่ง" โดยในหลายประเทศยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปแล้ว เปลี่ยนเป็นการให้ความสำคัญการสร้างทหารและกองทัพมืออาชีพ เปิดให้สมัครกันและเคี่ยวกรำตามหลักสูตร ลดปัญหากองทัพไม่มีประสิทธิภาพ มีมากเกินความจำเป็น และไม่เบียนเวลาของทรัพยากรมนุษย์ที่ยังสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อีกมาก

และถ้าหากกลัวว่าถ้าเอาระบบนี้มาใช้ในบ้านเราแล้วจะไม่มีใครไปสมัครทหารก็อย่างกังวล ในเฟสบุ๊คยังมีคนอีกมากที่สนับสนุนเย้วๆ ออกตัวอยากรับใช้ชาติ แนะนำให้เริ่มเรียกคนเหล่านี้มาสมัครก่อนเป็นอันดับแรก


วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog