ไม่พบผลการค้นหา
ฝรั่งมีเมกะโปรเจ็คมาตั้งแต่ล่าอาณานิคมแล้ว

เพิ่งจะมีข่าวว่า ‘จีน’ ยอมถอย และเลิกระเบิดแก่งต่างๆ ใน ‘แม่น้ำโขง’ (ซึ่งก็คือ แม่น้ำหลานซาง หรือล้านช้าง ตามชื่อท้องถิ่นในมณฑลหยุนหนาน หรือที่เรียกแบบไทยๆ ว่า ยูนนาน ประเทศจีน และอีกสารพัด ตามแต่จะเรียกกันในแต่ละท้องที่) ด้่วยเหตุผลโน่นนี่อะไรตามแต่ใครจะวิเคราะห์

แต่ก็ไม่ใช่เพิ่งจะมีแค่จีนเท่านั้นนะครับ ที่เคยคิดจะระเบิดแก่งต่างๆ ตาม ‘แม่น้ำโขง’ เพื่อประโยชน์ในการคมนาคม ก่อนหน้านี้ชาติมหาอำนาจ ควบตำแหน่งเจ้าอาณานิคม ของโลกเมื่อครั้งกระโน้นอย่าง ‘ฝรั่งเศส’ ก็เคยคิดจะระเบิดมาก่อนแล้ว

เรื่องของเรื่องมันเริ่มมาจากการที่อังกฤษรบชนะยักษ์ใหญ่ตัวเบ้อเริ่มเทิ่มอย่างจีน ในอะไรที่เรียกว่า ‘สงครามฝิ่น’ ในช่วงตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ของยุคกรุงเทพฯ ผลจากความพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้ทำให้จีน ต้องลงนามในสนธิสัญญาหนานจิง (นานกิง) ซึ่งจีนถือว่าเป็น ‘ความอัปยศแห่งชาติ’ เพราะทำให้อังกฤษได้รับผลประโยชน์เป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์โดยตรงจากค่าปฏิกรณ์สงคราม ค่าชดใช้ฝิ่นจำนวนมหาศาลที่ฝ่ายจีนได้ทำลายลงไป

แต่ถ้าจะมีผลประโยชน์อะไรสำคัญที่สุด ที่ฝ่ายอังกฤษ หรือสหราชอาณาจักรได้รับจากสงครามในครั้งนั้น สิ่งนั้นก็น่าจะเป็น การที่จีนต้องจำยอมเปิดเมืองท่าชายทะเล 5 แห่ง ให้เป็นเมืองท่าพาณฺชย์ อันได้แก่ กวางโจว เซียะเหมิน ฝูโจว หนิงโป และเซี่ยงไฮ้ รวมถึงการยกฮ่องกง และเกาะเล็กเกาะน้อยที่อยู่รายรอบ ให้เป็นเขตเช่าของอังกฤษ​

การเปิดเมืองท่าสำคัญทั้ง 5 แห่ง และการจำยอมให้อังกฤษได้เช่าเกาะเหล่านี้ไปสำคัญมากนะครับ เพราะแต่เดิม จีนทำการค้ากับชาติตะวันตก ด้วยระบบการค้าผูกขาดโดยพ่อค้าชาวจีน เฉพาะที่เมืองกวางโจวเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ระบบแบบนี้การค้าเรียกด้วยภาษาจีนกลางว่า ‘กงหาง’ แต่ออกเสียงตามสำเนียงกวางตุ้ง (เมืองกวางโจว หรือกวางเจา ตามลิ้นอย่างไทย เป็นเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง) ว่า ‘ก้งหอง’

การบังคับให้จีนยกเลิกระบบการค้าผูกขาด และเปิดเมืองท่าพาณิชย์เพิ่มเติมขึ้นถึง 5 แห่ง ย่อมทำอังกฤษได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมอย่างมหาศาล เพราะมีการลดภาษีลงจาก ร้อยละ 65 เหลือเพียง ร้อยละ 5 เท่านั้น และยิ่งเมื่อสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งในครั้งนั้นก็คือ อะไรที่ไม่มีตลาดระบายให้ระบายสินค้าภายในสหราชอาณาจักรเองอย่าง ฝิ่น ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ผลลัพธ์ของสงครามในครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่ออังกฤษเป็นอย่างมาก

พ.ศ. 2387 หลังจบสงครามฝิ่นเพียงหนึ่งปี ขุมอารยธรรมที่เต็มไปด้วยทรัพยากรสารพัดอย่างจีน ก็ส่งกลิ่นอันหอมหวลชวนกินเสียยิ่งกว่าร้านอาหารระดับมิชลิน 3 ดาว ให้บรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา หรือฝรั่งเศส เข้ามาร่วมวงเอ็นจอยแบ่งชิ้นเนื้อก้อนโตนี้ ร่วมกับชาติที่มาก่อนอย่างอังกฤษ จนนำมาซึ่งสนธิสัญญาที่จีนจำต้องกลืนก้อนเลือดของตัวเอง ในการลงนามกับชาติมหาอำนาจทั้งสองนั้นด้วย

แต่อังกฤษก็ยังคงไม่พอใจเพียงในผลประโยชน์มหาศาลที่ได้รับจากสนธิสัญญาหนานจิงเพียงแค่นั้นหรอกนะครับ สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นในเรือน พ.ศ. 2399 เมื่ออังกฤษต้องการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาหนานจิง เพื่อให้ชาติของตนเองได้รับผลประโยชน์มายิ่งขึ้น จนกระทั่งอังกฤษได้รับชัยชนะเหนือจีนอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2403

เหตุการณ์ที่นำไปสู่สงครามฝิ่นครั้งหลังนี้ เกิดขึ้นเพียงปีเดียวหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งระหว่างสยาม กับสหราชอาณาจักร โดยเซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น ‘ข้าหลวงอังกฤษประจำฮ่องกง’ จนได้เลื่อนชั้นเป็น ‘เจ้าเมืองฮ่องกง’ ในปีเดียวกันกับที่มีการลงนามในสนธิสัญญากับสยามคือ พ.ศ. 2398 ตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 4 นั่นเอง

พอจะเห็นภาพกันไหมครับว่า การจัดการต่างๆ เหล่านี้ของอังกฤษ มีความคล้องจองกันอย่างเป็นกระบวนการ มากกว่าที่จะแยกโดดออกจากกัน อังกฤษซึ่งมีอำนาจบาตรใหญ่ที่สุดในเมืองท่าพาณิชย์ทั้ง 5 แห่งของจีน รวมถึงเกาะฮ่องกง และปริมณฑล จะใส่ใจในรัฐที่ตั้งอยู่ระหว่างทางสัญจรไปมา ระหว่างเส้นทางจากโลกตะวันตกไปถึงจีน อย่างภูมิภาคอุษาคเนย์ ที่มี สยาม เป็นหนึ่งอยู่ในนั้น ก็ไม่เห็นจะแปลก

ในขณะเดียวกัน ชาติมหาอำนาจตะวันตกที่เข้าถึงแหล่งทรัพยากรขนาดมหึมาอย่างจีน ภายหลังอังกฤษ​อย่าง ‘ฝรั่งเศส’ ก็จึงจำเป็นต้องหาหนทางเข้าถึงจีน ด้วยเส้นทางอื่นที่อังกฤษยังไม่ทันเข้าไปมีอิทธิพล เหมือนอย่างเส้นทางการค้าข้ามสมุทร โดยพื้นที่บริเวณที่ฝรั่งเศสหมายตาเอาไว้นั้นก็คือ พื้นที่ทางตอนใต้ของจีน บริเวณมณฑลหยุนหนาน ที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของโลก

และเส้นทางเข้าถึงแหล่งทรัพยากรอย่าง มณฑลหยุนหนาน ที่ฝรั่งเศสวางแผนการเอาไว้ในช่วงเริ่มแรกนั้นก็คือ ‘แม่น้ำโขง’ นี่แหละ

ฝรั่งเศสจึงได้ดำเนินการล่าอาณานิคมในภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเน้นในเขตพื้นที่ที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน คือทางบริเวณภาคตะวันออกของภูมิภาค อันประกอบไปด้วย เวียดนาม กัมพูชา ลาว และบางส่วนที่คาบเกี่ยวกับสยามในระยะเวลานั้น

แต่ฝรั่งเศสก็ยังคิดไม่ละเอียดถี่ถ้วนพอ เพราะเมื่อสามารถผนวกเอาดินแดนที่ก็คือ ส่วนใหญ่ของประเทศ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ในปัจจุบันนี้ จนตั้งเป็นรัฐอินโดนจีนในอารักขาของฝรั่งเศสได้ พวกเขาก็เริ่มทำการสำรวจลำน้ำโขงกันอย่างจริงจัง ก่อนที่จะพบว่า แม่น้ำใหญ่สายนี้คงจะเป็นซุปเปอร์ไฮเวย์ไปสู่มณฑลหยุนหนาน อย่างที่ฝรั่งเศสหวังใจไว้ในตอนแรกไม่ได้แน่ เพราะแม่น้ำแห่งนี้เต็มไปด้วยพื้นที่บริเวณที่มีเกาะแก่งขวางลำน้ำอยู่เต็มไปหมด โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า ‘สี่พันดอน’ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศลาว ในปัจจุบันนี้

‘สี่พันดอน’ อาจจะมีความหมายตรงตัวแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ดินแดนที่มีเกาะแก่ง (ตอน ในที่นี้หมายถึง เกาะ) จำนวนมากมายมหาศาล โดยใช้ตัวเลข 4,000 แทนความหมายว่า มากมาย (ถึงแม้จะมีความพยายามในการอธิบายว่า คำว่า สี่พันดอน หมายถึง ทะเลสีทันดร คือทะเลจักรวาลในปรัมปราคติของศาสนาพุทธก็ตาม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยเกาะแก่งจำนวนมหาศาลจริงๆ) น้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในอุษาคเนย์อย่าง ‘คอนพะเพ็ง’ ก็คือปลายส่วนทางตอนเหนือของสี่พันดอนนี่เอง

เมื่อแรกที่พวกฝรั่งเศสสำรวจพบเกาะแก่งในแม่น้ำโขงพวกนี้จึงได้มีความพยายามที่จะ ‘ระเบิด’ พวกมันทิ้งไปให้หมด ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือการพยายามระเบิด แก่งหลี่ผี ซึ่งก็อยู่ไม่ห่างไปจากน้ำตกคอนพะเพ็งนั่นแหละ แต่เมื่อได้ทดลองดูแล้วก็พบว่า เป็นกินแรงเป็นอย่างมาก และถ้าจะระเบิดเกาะแก่งพวกนี้ทิ้งทั้งหมดก็คงจะไม่คุ้มทุนเป็นแน่ สุดท้ายพวกฝรั่งเศสก็เลยคิดแผนการใหม่ขึ้นมาแก้ไข นั่นก็คือการสร้าง ‘ทางรถไฟ’ ขึ้นมาแทน

ทางรถไฟสายที่ว่าก็คือ ‘ทางรถไฟสายดอนเดด-ดอนคอน’ เพื่อขนย้ายสินค้าข้ามระหว่างเกาะแก่งเหล่านี้ ซึ่งก็เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.​ 2436 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5  ของไทย) หรือเมื่อ 124 ปีมาแล้วเลยทีเดียว

ถึงแม้ว่า ทางรถไฟสายนี้จะเป็นทางรถไฟสายสั้นๆ คือมีระยะทางเพียง 7 กิโลเมตร เท่านั้น แต่ก็ถือว่า เป็นหลักฐานในการพยายามแก้ปัญหา เรื่องที่มีเกาะแก่งกีดขวางการคมนาคมในแม่น้ำโขง ของพวกฝรั่่งเศสชิ้นสำคัญ เพราะใน ‘ปฏิญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส พ.ศ.​ 2439’ (Anglo-French Declaration 1896) ซึ่งเป็นข้อตกลงว่าด้วยการแบ่งสรรปันส่วนดินแดนในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ที่อังกฤษและฝรั่งเศส (ตกลงกันเองว่า) จะเข้าไปยึดเป็นดินแดนในอาณานิคมของตัวเอง โดยมีภูมิภาคอุษาคเนย์เป็นตัวอย่างสำคัญนั้น ฝรั่งเศสยังอยากได้แม่น้ำโขงทั้งเส้นอยู่เลยนะครับ

พื้นที่ทางด้านตะวันออกสุดของสยาม (ในสมัยที่ยังปักปันเขตแดนกันไม่เสร็จ ยังไม่มีขวาานทองบนแผนที่ และที่จริงแล้วยังไม่มีเขตแดนของสยามทั้งผืน ที่ชาติมหาอำนาจยอมรับเลยด้วยซ้ำ) ที่ปรากฏอยู่ในปฏิญญาฉบับที่ว่า สิ้นสุดลงที่แถบลุ่มน้ำบางปะกงเท่านั้นเอง

นั่นหมายความดินแดนที่ต่อเนื่องจากลุ่มน้ำบางปะกงไปทางทิศตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นปราจีนบุรี สระแก้ว หรือแม้กระทั่งภาคอีสานของประเทศไทยปัจจุบันนี้ทั้งผืน คือดินแดนที่ฝรั่งเศสคิดว่าจะยึดครอง เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจ็คทำเส้นทางเข้าสู่มณฑลหยุนหนาน

และนี่ก็หมายความด้วยเช่นกันว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2436 ที่เริ่มมีการเปิดใช้ทางรถไฟสายดอนเดด-ดอนคอน จนถึง พ.ศ. 2439 ที่ฝรั่งเศสได้ลงนามในปฏิญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส ฉบับนั้น เป็นช่วงทดลองงานดูว่า การใช้รถไฟโดยสาร และลำเลียงสินค้าต่างๆ ในบริเวณลุ่มน้ำโขง

ไม่ว่าผลประกอบการของทางรถไฟสายดังกล่าวจะออกมาดีหรือไม่ก็ตาม สุดท้ายสยาม กับฝรั่งเศส ก็ได้มีการลงนามใน ‘หนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับเปรสิเดนต์แห่งรีปับลิกฝรั่งเสศ 23 มีนาคม ร.ศ.125 พ.ศ. 2449/2550’ (Traité entre Sa Majesté le Roi de Siam et Monsieur le Président de la République Français, fait à Bangkok, le 23 mars 1907) ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2450 หากนับปีกันแบบปัจจุบัน

หนังสือสัญญาฉบับนี้นี่แหละครับ ที่ทำให้สยามได้พื้นที่ภาคอีสาน มาเป็นของตนเองตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งนี่ก็หมายความด้วยว่า ฝรั่งเศสได้คำนวณแล้วพบว่า ลำน้ำโขงที่กั้นขวางเขตแดนบางส่วนของไทย-ลาว อยู่นั้น ไม่เหมาะสมที่จะถูกใช้เป็นซุปเปอร์ไฮเวย์เข้าสู่มณฑลหยุนหนาน ซึ่งสำหรับเทคโนโลยีในยุคนั้นแล้ว พวกฝรั่งเศสก็คิดถูกก็ได้ เพราะต่อให้ผ่านสี่พันดอนขึ้นไปได้ ต้องเผชิญกับเกาะแก่งขนาดใหญ่ขวางทางน้ำอีกมากอยู่ดี

จึงเป็นเรื่องตลกร้ายดีเหมือนกันที่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นจีนเองนั่นแหละ ที่คิดจะใช้ลำน้ำโขงเส้นเดียวกันนี้เอง เป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้า และทรัพยากรจากจีนออกสู่โลกภายนอกมันเสียอย่างนั้น และก็เป็นเกาะแก่งต่างๆ บนแม่น้ำสายนี้อีกเช่นเดิม ที่สุดท้ายก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการสร้างซุปเปอร์ไฮเวย์ทางน้ำสายนี้

Siripoj Laomanacharoen
0Article
0Video
0Blog