การประชุมระดับโลกอย่างเอเปค มีเอกลักษณ์ที่สำคัญอยู่ประการหนึ่งที่เป็นสีสันของการประชุม นั่นก็คือ "เสื้อผู้นำ" บางคนเรียกสิ่งนี้ว่าเสื้อทีมเอเปค เพราะทุกครั้ง เจ้าภาพการประชุมเอเปคจะต้องออกแบบเสื้อที่สะท้อนเอกลักษณ์ของชาติ ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น และสอดแทรกความหมายต่างๆลงไปในเสื้อ เพื่อให้เป็นของที่ระลึก และยังเป็นเสื้อที่ผู้นำจะใส่ร่วมกันเพื่อถ่ายภาพหมู่ก่อนเริ่มประชุมด้วย แม้ว่าหลายครั้ง เสื้อเอเปคจะถูกออกแบบมาอย่างเน้นความหมายมากกว่าความงาม จนถูกล้อเลียนว่าเป็น "เสื้อติงต๊อง" ที่ทำให้ผู้นำโลกดูแปลกประหลาดผิดที่ผิดทางในชุดประจำชาติของประเทศอื่น แต่ก็มักไม่มีผู้นำคนใดปฏิเสธการสวมเสื้อทีมนี้ และธรรมเนียมเสื้อทีมก็ไม่ได้มีแค่ในการประชุมเอเปค แต่ใช้ในการประชุม อื่นๆอย่างแพร่หลาย เพื่อสร้างบรรยากาศของความสมานฉันท์และผ่อนคลายของบรรดาผู้นำ ก่อนจะเริ่มการประชุมที่เคร่งเครียด
แต่ในบรรดาผู้นำโลก มีอยู่คนหนึ่งที่เราไม่เคยเห็นปรากฏกายใน "เสื้อทีม" ของการประชุมไหน ไม่ว่าจะไปที่ใดในโลก นั่นก็คือออง ซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา
ภาพที่คนทั้งโลกจดจำซูจี คือภาพของหญิงร่างเล็กในลองยี หรือซิ่นแบบพม่า พร้อมผ้าคลุมไหล่ และทรงผมมวยต่ำทัดดอกไม้ ดูอ่อนหวานแต่ก็งามสง่าสมกับเป็นนักการเมืองระดับโลก ในการประชุมเอเปคที่ผ่านมา ซูจีไม่ได้ใส่เสื้อทีมเอเปค ที่ปีนี้เวียดนามออกแบบให้เรียบง่าย เป็นเสื้อเชิร์ตตัวยาวหลวมสีน้ำเงินสด ตัดจากไหมเวียดนาม แต่สวมลองยีสีขาวสะอาด และทัดดอกไม้ขาวแทน
ซูจีในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่ดานัง เวียดนาม สวมลองยีสีขาวเงินลายเกลียวคลื่นสีดำ ลายผ้าดั้งเดิมของเมียนมา และเสื้อสีขาว ทัดดอกไม้ขาว
ส่วนในงานประชุมอาเซียนซัมมิท ผู้นำโลกต่างสวมเสื้อบารอง เสื้อทอจากใยไหมดิบ ชุดประจำชาติฟิลิปปินส์ ที่ออกแบบเฉพาะตัวให้กับผู้นำแต่ละคน แถมมีชื่อให้กับเสื้อทุกตัว เช่น เสื้อของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชื่อ Matipuno แปลว่า "แข็งแกร่ง" ส่วนเสื้อของโรดริโก ดูแตร์เต ���ระธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ชื่อ Maharlika แปลว่า "สูงศักดิ์" ขณะที่เสื้อของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ชื่อ "Mapayapa" แปลว่า "สงบสุข" และเสื้อของคู่สมรสผู้นำ ก็เป็นชุดแขนพองแบบฟิลิปิโนที่ทั่วโลกรู้จักกันดี ตัดเย็บโดยไหมไทยและไหมดิบฟิลิปปินส์
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย กับเสื้อที่ออกแบบมาเฉพาะตัว ภายใต้ธีม Mapayapa หรือ "สงบสุข" และภริยา ในชุดที่ออกแบบตัดเย็บโดยฟิลิปปินส์ ชาติเจ้าภาพการประชุมอาเซียนซัมมิท
แต่สำหรับซูจี ชุดของเธอแม้จะได้รับการออกแบบโดยดีไซเนอร์ฟิลิปิโนเช่นเดียวกับผู้นำคนอื่นๆ แต่ก็เป็นสไตล์ที่เธอสวมใส่ตามปกติ คือเสื้อแขนยาวและลองยี มีผ้าคุลมไหล่และยังคงเกล้ามวย ทัดดอกไม้ สุดท้ายแล้ว ซูจีก็ยังคงสวมชุดประจำชาติ แม้ในงานที่ทุกคนสวมใส่เสื้อประจำชาติเจ้าภาพ
เรื่องเครื่องแต่งกาย ไม่ใช่เรื่องเล็กในเมียนมา ประเทศที่ผ่านยุคจักรวรรดินิยมมาอย่างเจ็บปวด และยังมีความอนุรักษ์นิยมสูงตกค้างมาจากการปกครองใต้เผด็จการทหารที่หล่อเลี้ยงคนด้วยความภูมิใจในความเป็นชาติพม่าอันเข้มข้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน หรือแม้แต่ในโลก เมียนมายังเป็นประเทศที่คนยังนิยมสวมชุดแบบดั้งเดิมมากกว่าชุดสากลทันสมัย อาจจะเป็นรองก็เฉพาะอินเดีย โดยเฉพาะผู้หญิง การสวมเสื้อทันสมัยถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เปิดเผยเนื้อตัวมากเกินไป และปราศจากความภูมิใจในชนชาติของตนเอง เพราะเสื้อผ้าบ่งบอกถึงชาติพันธุ์ เพียงปรายตามองลายผ้าก็สามารถบอกได้ว่าคนๆนั้นมาจากเผ่าใด
ซูจีได้รับคำชื่นชมจากชาพม่าอย่างมาก ที่ไม่เคยปรากฏกายในชุดอื่นเลย นอกจากลองยีและเสื้อตัวสั้น เกล้ามวย และแม้แต่รองเท้าก็ยังมักเป็นรองเท้าคีบแบบพม่าแท้ๆ ชุดของเธอยังเป็นเครื่องมือแสดงออกถึงความปรารถนาจะสร้างเป็นเอกภาพทางการเมือง เพราะซูจีมักสวมใส่ชุดที่มีกลิ่นอายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในวาระที่เธอพบกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ หรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ของรัฐมอญ กะเหรี่ยง กะฉิ่น ฉาน แม้คนชาติพันธุ์บางส่วนจะมองว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่ชาวพม่าอย่างซูจี จะสวมใส่ชุดประจำชาติของพวกเขาก็ตาม
การเลือกสวมใส่ชุดประจำชาติอยู่เสมอของซูจี ในทางหนึ่งจึงเป็นการบ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงแรงกดดันที่ซูจีต้องแบกรับจากประชาชนของตน ที่ไม่นิยมให้ผู้นำสวมใส่ชุดของชาติอื่น และในอีกทาง ก็สะท้อนจุดยืนทางการเมืองของซูจีในเรื่องใหญ่อย่างกรณีโรฮิงญา ที่เธอเลือกยืนอยู่บนจุดที่ชาวพม่าพอใจ มากกว่าจะให้ความสำคัญกับกระแสเรียกร้องในประชาคมโลก