หลังจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรากฏตัวในอังกฤษในสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมีหน้าที่ติดตามตัวอดีตนายกรัฐมนตรี กลับมารับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ออกมายอมรับว่า เวลานี้ นางสาวยิ่งลักษณ์พำนักอยู่ในประเทศอังกฤษจริงตามรายงานข่าวที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
คำถามที่เกิดขึ้นตามมา คือ นางสาวยิ่งลักษณ์อยู่อาศัยในสหราชอาณาจักรในสถานะใด และมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่อังกฤษจะอนุญาตให้เธอและบุตรพำนักอยู่ในประเทศต่อไป
หากฝ่ายไทยร้องขอให้อังกฤษส่งตัวนางสาวยิ่งลักษณ์กลับสู่ประเทศไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่อังกฤษจะตอบสนองคำขอของไทย
คำตอบ คือ นั่นแล้วแต่ว่า อังกฤษมองกรณีการตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า เป็นเรื่องความผิดทางอาญา หรือมองว่าเป็นการเล่นงานทางการเมือง
‘ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่' คดีขายข้าวจีทูจี
การประเมินความเป็นไปได้ที่อังกฤษจะให้สถานะผู้ลี้ภัย หรือส่งกลับนางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องเริ่มจากการย้อนดูภูมิหลังของคดี
แรกเริ่มเดิมทีนั้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติโดยตำแหน่ง ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล มีการนำสำนวนคดีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ เข้ามารวมกับคดีจำนำข้าวด้วย
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อ 27 กันยายน 2560 มีใจความสรุปว่า ในส่วนของโครงการรับจำนำข้าว แม้เกิดความเสียหายหลายประการ แต่ความเสียหายเหล่านั้นเกิดจากฝ่ายปฏิบัติ ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยละเว้นปฏิบัติหน้าที่
อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีการขายข้าวแบบจีทูจีนั้น ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยทราบว่าการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ระงับยับยั้ง จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ลงโทษจำคุก 5 ปี
ในวันอ่านคำพิพากษา นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ไปปรากฏตัว ศาลจึงสั่งให้ออกหมายจับเพื่อนำตัวจำเลยมารับโทษต่อไป
ช่องทางขอพำนักในอังกฤษ
หน่วยงานของอังกฤษที่รับผิดชอบเรื่อง คำขอลี้ภัย คือ กระทรวงมหาดไทย
นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า กฎหมายของอังกฤษระบุว่า บุคคลต้องมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่จะขอลี้ภัย จึงจะยื่นคำขอได้ หรือถ้ามีคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์ที่จะเป็นผู้ลี้ภัย อังกฤษก็อาจอนุญาตให้พำนักได้ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม
ในเรื่องการขอลี้ภัยนั้น บุคคลใดต้องการพำนักในอังกฤษในฐานะผู้ลี้ภัย ต้องยื่นคำขอลี้ภัย ด้วยเหตุว่าเกรงกลัวการถูกข่มเหงรังแก หรือถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม
การถูกข่มเหง หรือดำเนินคดีไม่เป็นธรรม ที่ผู้ขอลี้ภัยกล่าวอ้างนั้น ต้องเป็นผลจากเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ความคิดทางการเมือง สถานการณ์ทางการเมือง
ผู้ขอลี้ภัยต้องผ่านการคัดกรองของเจ้าหน้าที่ โดยต้องชี้แจงพร้อมแสดงเอกสารหลักฐานให้เห็นว่า ถ้ากลับประเทศแล้ว ตนจะถูกข่มเหงรังแก หรือถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม อย่างไร
ถ้ากระทรวงมหาดไทยปฏิเสธคำขอลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยมีสิทธิ์ร้องอุทธรณ์ต่อฝ่ายตุลาการของอังกฤษได้ หากตุลาการอนุญาตตามคำขอ ผู้ขอสามารถพำนักในสหราชอาณาจักรได้เป็นเวลา 5 ปี
หลังครบกำหนด 5 ปี ถ้ายังเกรงกลัวการถูกข่มเหงรังแก หรือดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมหากกลับประเทศ ผู้ลี้ภัยก็มีสิทธิ์ยื่นขอพำนักต่อไปอย่างถาวรได้
อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติยังมีอีกช่องทางหนึ่งที่จะอยู่ในอังกฤษเป็นการถาวร หากว่าอังกฤษอนุญาตตามหลักมนุษยธรรม
การพำนักในสหราชอาณาจักรในแบบหลังนี้ ทางการอังกฤษจะอนุญาตเป็นเวลา 5 ปี เมื่อครบ 5 ปีแล้ว บุคคลมีสิทธิ์ยื่นคำขอพำนักเป็นการถาวรได้เช่นเดียวกับกรณีได้รับสถานะผู้ลี้ภัย
นาทีนี้ เรายังไม่ทราบว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษในฐานะใดในเมื่อหนังสือเดินทางได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
มีความเป็นไปได้ ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีกำลังอยู่ในระหว่างยื่นคำขอพำนักในฐานะผู้ลี้ภัย
ข้อพิจารณา ‘การเมือง’ ชี้ชะตา ‘ลี้ภัย'
ทางการไทยคงไม่สู้สบายใจนัก หากนางสาวยิ่งลักษณ์เข้าสู่กระบวนการขอลี้ภัยในอังกฤษ รัฐบาลทหารอาจสะดวกใจมากกว่า หากอดีตนายกรัฐมนตรีใช้ชีวิตในอังกฤษต่อไปในฐานะผู้พำนักอาศัย
รัฐมนตรีต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย เคยกล่าวอ้างเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ว่า “ทางการอังกฤษได้แจ้งมาว่า ถ้ามาอาศัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษจะไม่มีเรื่องของการลี้ภัย แต่ถ้ามาอยู่ต้องอยู่ตามขั้นตอนของการเข้าเมืองตามกฎหมาย” (ไทยโพสต์, 31 ตุลาคม 2561)
ทำไมรัฐบาลไทยดูจะไม่ต้องการให้นางสาวยิ่งลักษณ์ขอลี้ภัย
นั่นเป็นเพราะในกระบวนการคัดกรองและพิจารณาอนุญาตนั้น กระทรวงมหาดไทย และอาจรวมถึงตุลาการของอังกฤษ ต้องพิจารณาคำให้การของผู้ร้องขอ ประกอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับคดีและคำวินิจฉัยของศาลไทย
ประเด็นหัวใจที่ต้องพิจารณาอย่างเลี่ยงไม่พ้น ก็คือ การเดินทางออกนอกประเทศไทย เข้าไปอยู่อาศัยในอังกฤษ เกิดจากมูลเหตุทางการเมือง ใช่หรือไม่
ผลลัพธ์ 4 แนวทาง
ไม่ว่ากรณีกระทรวงมหาดไทยตัดสินใจให้สถานะผู้ลี้ภัย หรือกรณีตุลาการวินิจฉัยให้ส่งกลับในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน กฎหมายอังกฤษระบุชัดว่า ต้อง��ิจารณาถึงความเสี่ยงของผู้ขอลี้ภัยที่จะตกเป็นเหยื่อทางการเมือง
ในขั้นตอนของกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่า ผู้ขอลี้ภัยถูกข่มเหง รังแก กลั่นแกล้ง หรือดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม หรือไม่ ถ้าเข้าเกณฑ์ข้อแรกนี้ ทางกระทรวงจะเรียกผู้ขอลี้ภัยไปสัมภาษณ์ พร้อมแสดงจดหมายแจกแจงเหตุผลที่ขอลี้ภัย
ผู้ขอลี้ภัยต้องทำ 2 อย่าง หนึ่ง อธิบายว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร สอง ชี้แจงว่าทำไมจึงหวาดกลัวที่จะกลับประเทศ ตัวเองและครอบครัวประสบพบภัยอย่างไรมาบ้าง ในโอกาสนี้ ต้องหอบหลักฐานไปแสดงด้วย
เว็บไซต์ของรัฐบาลอังกฤษ (https://www.gov.uk/claim-asylum) ให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไป กระบวนการพิจารณาใช้เวลา 6 เดือน ผลการพิจารณามีความเป็นไปได้ 4 แนวทาง คือ
• ได้รับอนุญาตให้พำนักในฐานะผู้ลี้ภัย
• ได้รับอนุญาตให้พำนักด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม
• ได้รับอนุญาตให้พำนักด้วยเหตุผลอื่นๆ เนื่องจากคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์ตาม 2 ข้อข้างต้น
• ไม่มีเหตุผลที่จะพำนักต่อไป ในกรณีนี้ ผู้ขอพำนักมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะตุลาการว่าด้วยคนเข้าเมืองและผู้ขอลี้ภัย
แน่นอนว่า ในการขอพำนักในอังกฤษ ไม่ว่าในสถานะใด อดีตนายกรัฐมนตรีคงหยิบยกเหตุผลด้านการเมืองเป็นข้ออ้างหลัก
ถ้ารัฐบาลอังกฤษอนุญาตตามคำขอ นั่นย่อมก่อให้เกิดข้อกังขาต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย
ลี้ภัยเพราะการเมือง ห้ามส่งกลับ
แต่ถ้าฝ่ายบริหารของรัฐบาลสหราชอาณาจักรปฏิเสธคำขอ แล้วถ้านางสาวยิ่งลักษณ์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของกระทรวงมหาดไทย หรือทางการไทยร้องขอให้อังกฤษส่งกลับอดีตนายกฯในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน กรณีเหล่านี้ย่อมนำพาไปสู่ขั้นตอนของฝ่ายตุลาการของอังกฤษ
ตุลาการอังกฤษต้องพิจารณาว่า การต้องคำพิพากษาให้จำคุกของนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น เป็นไปโดยชอบหรือไม่ ทั้งในแง่กระบวนการไต่สวนคดี และการกำหนดโทษ
ที่ผ่านมา ทางการไทยแสดงความมั่นใจว่า สามารถร้องขอให้อังกฤษส่งตัวอดีตนายกฯกลับมารับโทษจำคุกได้ ตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน
นายอำนาจ โชติชัย อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ว่า สนธิสัญญาระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร ร.ศ.130 (พ.ศ. 2455) ระบุความผิดที่เข้าข่ายขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนโดยครอบคลุมเรื่องคดีทุจริต หรือการปล่อยปละละเลย ด้วย (The Nation, 6 October 2017)
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบบทบัญญัติของสนธิสัญญาดังกล่าว ไม่พบว่ามีข้อใดระบุโดยจำเพาะเจาะจงถึงการประพฤติทุจริต หรือปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต
ความผิดที่เข้าข่ายขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้นั้น มี 31 ข้อ ทั้งหมดเป็นการกระทำที่ถือเป็นความผิดตามหลักสากล เช่น ประทุษร้าย ฆาตกรรม ข่มขืน ทำปลอมเงินตรา ทำลายทรัพย์สิน ยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกง ลักพา โจรกรรม วางเพลิง โจรสลัด
ยิ่งกว่านั้น สนธิสัญญาฉบับนี้ยังเขียนในข้อบทที่ 5 ว่า หากรัฐภาคีเห็นว่า ความผิดของผู้ถูกร้องขอส่งตัวนั้น เป็นเรื่องทางการเมือง หรือผู้ถูกร้องขอการส่งตัวสามารถพิสูจน์ได้ว่า คำขอนั้นมุ่งลงโทษตนด้วยสาเหตุทางการเมือง รัฐภาคีจะไม่ส่งตัวบุคคลนั้นให้แก่ประเทศผู้ร้องขอ (Treaty between The United Kingdom and Siam Respecting the Extradition of Fugitive Criminals, 1911)
อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ยังแสดงความมั่นใจด้วยว่า ไทยสามารถอธิบายกับรัฐบาลอังกฤษได้ ว่า คดีนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ใช่คดีทางการเมือง แต่เป็นคดีทุจริต (มติชนออนไลน์, 5 ตุลาคม 2560)
ต้องคอยดูกัน ว่า รัฐบาลไทยจะมีเจตจำนงแน่วแน่แค่ไหน ที่จะขอตัวอดีตนายกรัฐมนตรีจากอังกฤษ เพราะงานนี้มีความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นเดิมพัน.
ภาพ: AFP