น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ระบุกรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ และพ.อ.วินธัย สุวธารี โฆษก คสช. ระบุ ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต่อการเลือกตั้งในประเทศไทย ว่า ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ การเลือกตั้งของประเทศกัมพูชา เมื่อกลางปีที่ผ่านมา มีการกีดกันตัวแทนจากสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ต่อการเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ผลก็คือ รัฐบาลฮุน เซน สามารถอยู่ได้ แต่ถูกคว่ำบาตร ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ตนไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยการเยือนทวีปยุโรปของพรรคอนาคตใหม่ นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เมื่อต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้มีการหารือกับตัวแทนของสหภาพยุโรป (อียู) พบว่า ทางอียู ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ โดยมีความกังวลต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นของประเทศไทย อยู่ระหว่างการรอคำตอบในการขอร่วมสังเกตการณ์จากรัฐบาลไทยและกกต.อยู่
"อนาคตใหม่ยืนยันว่า การเปิดให้ประชาคมโลกร่วมส่งผู้มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทยมีความจำเป็น ในการทำให้การเลือกตั้งของเรานั้นเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมและได้มาตรฐานสากล ซึ่งผลประโยชน์ทั้งหมด ไม่ได้ตกอยู่กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นประเทศไทยของเราเอง ถ้าหากรัฐบาลไม่ยินดีให้นานาชาติเข้าร่วมสังเกตการณ์ ก็จะส่งผลให้เกิดความกังวลว่าจะมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น" โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ระบุ
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ย้ำนานาชาติต้องสังเกตการณ์เลือกตั้งในไทย
ด้าน นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย ระบุว่า ความคิดเห็นของนายดอน และโฆษก คสช. ย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในไทยที่กำลังอยู่ในสภาาวะไม่ปกติภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ยังคงมีการปิดกั้นเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความไม่ปกติเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องให้นานาชาติมาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งของไทย
นายสุนัย ระบุว่า ฮิวแมนไรท์วอทช์ คือหนึ่งในองค์กรที่ส่งหนังสือเรียกร้องไปยังมิตรประเทศ ที่ตั้งเงื่อนไขต่อการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของประเทศไทย ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลตามวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็น สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐอเมริกา หรืออสเตรเลีย ให้ร่วมส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทยแล้ว ซึ่งนานาชาติพร้อมเข้าร่วม ทว่าช่วงเวลาที่กำลังนับถอยหลังเพื่อไปสู่การเลือกตั้งต้นปี 2562 ยังคงไร้ปัจจัยบ่งชี้ว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้นเสรีและเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยเงื่อนไขทางการเมืองภายใต้รัฐบาล คสช.ที่ยังคงลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ จำกัดพื้นที่การแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานต่อการนำไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 4 พ.ย. ที่ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ "กลุ่มเฟ" ที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาสังคม เพื่อเกาะติดการเลือกตั้งปี 2562 ให้เสรีเป็นธรรมและมีผลในทางปฏิบัติ ได้จัดเสวนาสาธารณะ เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรม โดยมีการเชิญตัวแทนจากสหภาพยุโรป อดีตกกต. และฝ่ายการเมือง ร่วมแสดงความคิดเห็น