มหาวิทยาลัย Stanford ได้จัดเสวนา "วิสัยทัศน์ในอนาคต : ความท้าทายและความเป็นไปได้ของเกาหลีศึกษาในอเมริกาเหนือ" ระหว่าง วันที่ 1 และ 2 พฤศจิกายน โดยได้เชิญ ชเวชีวอน Super Junior นักวิชาการ อาจารย์ และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้าร่วมฟังเสวนา และอภิปราย เกี่ยวกับอนาคต และศักยภาพของเกาหลีศึกษา ซึ่ง ชเวชีวอน ได้เข้าร่วม เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เขาได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เชิงลึก ในวงการบันเทิงของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การทำงานของศิลปิน K-POP และ ความรับผิดชอบต่อสังคมของค่ายบันเทิง ซึ่ง ชีวอน ยังได้นำเสนอประวัติของวง Super Junior และเผยเคล็ดลับความสำเร็จของวง รวมทั้ง ความนิยมวัฒนธรรม K-POP ที่เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มประเทศในอเมริกากลางและอเมริกาเหนือในขณะนี้ โดย ชีวอน ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมฟังการเสวนา ได้ซักถามข้อสงสัยอย่างเสรี
การประชุมได้จัดขึ้นโดยสถาบัน Platon Academy ร่วมกับ หลักสูตรเกาหลีศึกษา ของศูนย์วิจัยเอเชีย-แปซิฟิก วอลเตอร์ เอช. ชอเรนสไตน์ (APARC) โดยสารคดีเกี่ยวกับ “มุมมองในอนาคต : ความท้าทายและความเป็นไปได้ของการเรียนภาษาเกาหลีในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ” มีกำหนดจะออกอากาศผ่านช่อง SBS CNBC ในเดือนมีนาคมปี 2019 โดยใช้ชื่อหัวข้อว่า “ยุคทองของเกาหลีและเกาหลีศึกษา”
หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม ชเวชีวอน ยังได้โพสต์ภาพขณะที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ในอินสตาแกรมส่วนตัว พร้อมข้อความว่า "ดนตรีไร้พรมแดน วันนี้เป็นวันที่มีคุณค่า สร้างแรงบันดาลใจ และให้ความรู้มากมายเกี่ยวกับวงการ K-POP วัฒนธรรม เทคโนโลยี และเกาหลีศึกษาในอเมริกาเหนือ กับเหล่านักเรียนทุน คณาจารย์ และนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย Stanford ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเสวนาในครั้งนี้ จะไม่เพียงนำมาซึ่งการตระหนักที่เพิ่มขึ้น แต่ยังพัฒนาไปสู่การศึกษาที่มีความหมายเกี่ยวกับ เคป็อป และ วัฒนธรรมของเกาหลี ในภาพรวมทั้งหมดให้ดีขึ้นอีกด้วย"
สำหรับ ชเวชีวอน บอยแบนด์สมาชิกวง “Super Junior” ไม่เพียงแต่จะเป็นนักร้อง และนักแสดง ชื่อดังทั่วเอเชีย แต่เขายังมีบทบาทสำคัญในสังคม กับการ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ผู้แทนพิเศษขององค์กร UNICEF เกาหลีใต้
วงการ เค-ป็อป ถือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ครอบคลุมทั้งเอเชียและสร้างรายได้ให้กับประเทศเกาหลีใต้ ในหลักหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่อุตสาหกรรมเพลงเกาหลี พยายามบุกตลาดเพลงฝั่งตะวันตก อย่างอเมริกาแต่ก็ยังไม่สามารถบุกตลาดบันเทิงในตลาดเพลงตะวันตกได้มากนัก จนกระทั่งปี 2012 เพลง Gangnam Style ทำลายสถิติยอดวิวบนยูทูบกว่า 3 พันล้านวิว และขึ้นอันดับ 2 ในชาร์ต Billboard Hot 100 หลายสัปดาห์ ส่งให้ Gangnam Style กลายเป็นเพลงฮิตแห่งปี 2012 และล่าสุด ในปี 2017 วงบอยแบนด์เกาหลีใต้ BTS สามารถพิชิตตลาดเพลงของสหรัฐฯ กับ อัลบั้ม "Love Yourself: Her" ที่ติดอันดับสูงสุดบนชาร์ท Billboard 200 และยังคว้ารางวัล Top Social Artist ในเดือน พ.ค. เป็นศิลปินเค-ป็อป วงแรกที่ขึ้นอันดับ 1 ของชาร์ท iTunes ในสหรัฐฯรวมทั้ง เป็นศิลปินเคป๊อปกลุ่มแรกที่ได้ขึ้นแสดงบนเวที American Music Awards 2017 และแสดงบนเวที Billboard Music Awards 2018 ถือเป็นศิลปินเคป๊อปที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในสหรัฐอเมริกาตอนนี้
โดยปัจจุบัน ปี 2018 มีศิลปินหลากหลายวงเดินสายทัวร์คอนเสิร์ต เพื่อเจาะตลาดเพลงในอเมริกามากขึ้น ทั้ง BIGBANG, Infinite, EXO, GOT7, MONSTA X, BLACKPINK และล่าสุด กับ วง NCT 127 ที่ได้ทำเพลง Regular (เวอร์ชันภาษาอังกฤษ) และได้ไปโปรโมตตามรายการต่างๆ เช่น Mickey’s 90th Spectacular, Jimmy Kimmel Live!, Good Day L.A. รวมทั้ง วง NCT 127 ยังได้ไปร่วมเดินพรมแดง ในงาน American Music Awards 2018 ที่จัดขึ้นใน Microsoft Theater แคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส
และที่เพิ่งประกาศความร่วมมือกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่กันไป กับ วงเกิร์ลกรุ๊ปสุดฮอต BLACKPINK ที่ค่าย YG Entertainment กับ Interscope Records และ UMG (Universal Music Group) ประกาศความร่วมมือทางธุรกิจ เพื่อให้ผลงานของ BLACKPINK แพร่หลายไปสู่ตลาดเพลงระดับสากล โดย Interscope Records เป็นค่ายสำคัญใน UMG ที่มีศิลปินในสังกัดอย่าง เลดี้ กาก้า, มาดอนน่า, เอ็มมิเน็ม ,เซเลนา โกเมซ, เคนดริก ลามาร์, Maroon 5 , อิมเมจิ้น ดราก้อนส์ และอีกมากมาย