ไม่พบผลการค้นหา
​กวดวิชาอันดับ 1 จีนปลดพนักงาน 60,000 คน หลังถูกรัฐบาลสั่งจัดระเบียบ-ควบคุม อ้างต้องการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ในสังคม

สำนักข่าว CNN รายงานว่า หยูมินหง มหาเศรษฐีชาวจีนผู้ก่อตั้ง Oriental Education สถาบันกวดวิชาอันดับหนึ่งของประเทศจีนประกาศยืนยันผ่าน WeChat ว่าในปี 2564 ที่ผ่านมา ทางสถาบันได้ทำการปลดพนักงานมากถึง 60,000 คน จากพนักงานประจำ 88,000 คน และพนักงานแบบไม่ประจำอีก 17,000 คน หลังจากต้องเผชิญกับมาตรการการควบคุมและจัดระเบียบที่เข้มงวดของรัฐบาลจีน

ผู้ก่อตั้ง Oriental Education ชี้ว่าการสั่งปลดพนักงานเป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐ การระบาดของโควิด-19 และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมระบุว่าสถาบันกวดวิชามากมายในจีน ต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการของภาครัฐที่เข้ามาจัดระเบียบและควบคุมเพราะเห็นว่าอุตสาหกรรมกวดวิชานั้นมีการปฏิบัติโดยมิชอบ

Oriental Education คือหนึ่งในภาคธุรกิจสถาบันกวดวิชาในประเทศจีนที่มีมูลค่าทางการตลาดรวมกันมากถึง 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และได้รับผลกระทบอย่างหนักหลังจากที่รัฐบาลจีนสั่งแบนการดำเนินธุรกิจกวดวิชา ‘เพื่อแสวงผลกำไร’ ในเดือน ก.ค.2564 ซึ่งเป็นการจำกัดการทำเงินของสถาบันกวดวิชาเอกชนทั้งหมด

ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลจีนออกคำสั่งห้ามโรงเรียนกวดวิชาที่ทำการสอนเนื้อหาเดียวกันกับหลักสูตรภาคบังคับของกระทรวงศึกษาธิการจีน 'รับเงินลงทุนจากต่างชาติ' แม้เงินลงทุนบางส่วนอาจจะมาจากบริษัทสัญชาติจีนที่อยู่ในต่างประเทศก็ตาม โดยทางการจีนระบุในคำสั่งว่า "บริษัทใดก็ตามที่กำลังทำผิดข้อบังคับใหม่นี้ต้องเร่งดำเนินการให้ถูกต้องทันที" 

คำสั่งดังกล่าวยังระบุด้วยว่า 'บริษัทจดทะเบียน' จะไม่สามารถระดมเงินทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เพื่อนำเงินไปลงทุนในสถาบันกวดวิชาที่ทำการสอนเนื้อหาเดียวกันกับกระทรวงศึกษาธิการได้อีกต่อไป การกระทำดังกล่าวจะถือเป็นการละเมิดกฎใหม่ของภาครัฐ ขณะที่การเรียนกวดวิชาภาคฤดูร้อนและช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่มีการเรียนการสอนเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับหลักสูตรภาคปกติถือเป็นการละเมิดกฎเช่นกัน

ทางการจีนกล่าวในขณะนั้นว่าเยาวชนจีนต้องเผชิญกับการเรียนที่หนักหน่วงและไม่รู้จบ สร้างความทุกข์ทรมานให้กับนักเรียนจีน ขณะที่ผู้ปกครองก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างมากในแต่ละปี โดยกระทรวงศึกษาธิการจีนชี้ว่า "ธุรกิจสถาบันกวดวิชาในจีนทำลายธรรมชาติของการศึกษาที่แท้จริงแล้วควรจะเป็น 'สวัสดิการ' " พร้อมย้ำว่าต้องการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ในสังคม

กฎระเบียบใหม่นี้ถือเป็นการสกัดกั้นการเติบโตของ 3 บริษัทใหญ่ที่เข้าไปลงทุนเป็นเม็ดเงินมหาศาลในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเรียนการสอนในรูปแบบกวดวิชา อันประกอบไปด้วยบริษัท TAL Education Group บริษัท New Oriental Education & Technology Group และบริษัท Gaotu Techedu Inc. 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจสถาบันกวดวิชาในจีนได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนทั่วโลก ดึงดูดเม็ดเงินหลายล้านล้านบาทจากกลุ่มบริษัทระดับโลกทั้ง Tiger Global Management, Temasek Holdings Pte และ SoftBank Group Corp. อย่างไรก็ตาม คำสั่งของรัฐบาลจีนจะส่งผลให้กลุ่มบริษัทจากต่างชาติเข้ามาลงทุนยากมากขึ้น

ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญนี้ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลจีนในการจัดการกับกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีของจีนที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างบริษัท Didi Global Inc. และ Alibaba Group Holding Ltd.