ไม่พบผลการค้นหา
ยูเอ็นสำรวจการรับมือโควิด-19 ทั่วโลก พบข้อกังวลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน บางประเทศมีการละเมิดสิทธิ-เลือกปฏิบัติ ขาดแผนคุ้มครองประชาชนด้านเศรษฐกิจ-สังคม พร้อมย้ำ แผนฟื้นฟูที่ดี "ประชาชนต้องมีส่วนร่วม"

รายงานของสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 and Human Rights: We are all in this together เป็นการสำรวจข้อมูลทั่วโลกช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา

หลายประเทศประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งควบคุมการเดินทาง จำกัดสิทธิในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชากร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดผลกระทบทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

รายงานของยูเอ็นยอมรับว่า การบังคับใช้มาตรการเข้าข่ายละเมิดสิทธิและเสรีภาพช่วงที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ 'เข้าใจได้' และ 'พอจะยอมรับได้' เพราะวิกฤตโควิด-19 เป็นเหตุฉุกเฉินซึ่งต้องการความรวดเร็ว และต้องใช้แนวทางรับมือที่แตกต่างจากสถานการณ์ปกติในแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม 'อันตอนิอู กูแตร์รีช' เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ย้ำว่า การบังคับใช้มาตรการที่กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนต้องมีกฎหมายรองรับ และต้องบังคับใช้อย่างได้สัดส่วนและเหมาะสม ไม่เกินกว่าเหตุ ต้องคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน และจะต้องกำหนดกรอบเวลาประกาศใช้อย่างชัดเจน ไม่ปล่อยให้สถานการณ์เหล่านี้ยาวนานจนกลายเป็นเรื่องปกติ

อันตอนิอู กูแตร์รีช Antonio Guterres ยูเอ็น UN

  • อันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ รัฐจะต้องรับผิดชอบด้านการดูแลสวัสดิภาพของประชาชน ทั้งในช่วงโควิดฯ และหลังวิกฤตผ่านพ้น ซึ่งรวมทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ

"การตอบสนองที่ดีที่สุดคือการตอบสนองอย่างได้สัดส่วนเหมาะสมต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และต้องปกป้องสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐไปพร้อมกันด้วย"

"การเคารพสิทธิมนุษยชนในช่วงเวลาวิกฤต จะทำให้เราสร้างสังคมที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงมาตรการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในวันนี้ เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูสังคมให้ดีขึ้นในวันหน้า" เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นกล่าว


ข้อกังวลที่มาพร้อมกับ 'สถานการณ์ฉุกเฉิน' ทั่วโลก

รายงานยูเอ็นระบุว่า ประชาชนในแต่ละประเทศถูกเรียกร้องให้ 'ร่วมมือ' กับรัฐบาลในการควบคุมและป้องกันโรคระบาด และบางมาตรการเรียกร้องความร่วมมือที่เกินเลยกว่าภาวะปกติ ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพประชาชนในด้านต่างๆ และอาจมีผลเชิงลบสืบเนื่องตามมาอีกระยะหนึ่งแม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะผ่านพ้นไปแล้ว อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองระลอกใหม่ได้ เพราะก่อนเกิดวิกฤตโควิดฯ หลายประเทศก็มีการชุมนุมประท้วงต้านรัฐบาลอยู่ก่อนแล้ว

การขอความร่วมมือจากประชาชนจะได้รับความยินยอมพร้อมใจดีก็ต่อเมื่อรัฐบาลมีมาตรการที่โปร่งใส วิพากษ์วิจารณ์ได้ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ หรือเสนอรายละเอียดด้านต่างๆ ก่อนบังคับใช้จริง โดยเฉพาะนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม

รายงานของยูเอ็นยกตัวอย่างที่ดีในบางประเทศ ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะทำงานอิสระ รวมถึงจัดให้มีสภาคู่ขนาน ซึ่งฝ่ายค้านและภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมเข้าร่วมเสนอมาตรการรับมือและป้องกันโรคโควิด-19 รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตโควิด ช่วยให้การกำหนดนโยบายและบังคับใช้ได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่

ขณะที่บางประเทศเปิดให้ภาคเอกชนและประชาสังคมมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลผู้คนในชุมชนต่างๆ ทำให้การดำเนินงานและชี้แจงข้อมูลสามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างกว่าการปล่อยให้ภาครัฐดำเนินการเพียงลำพัง

REUTERS-ชาวฝรั่งเศสถูกตำรวจค้นตัวหลังฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิวที่เมืองนีซ ช่วงไวรัสโคโรนา โควิด-19 COVID ระบาด.JPG

อย่างไรก็ตาม รายงานยูเอ็นยังมีข้อกังวลในเรื่อง 'การใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่' เพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและบังคับใช้ฎหมายที่เกี่ยวข้อง เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ในบางประเทศใช้อำนาจตามอำเภอใจ เพราะมี ก.ม.ที่ระบุให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ใช้วิจารณญาณตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกตัว จับกุม หรือลงโทษผู้ละเมิดเงื่อนไขหรือคำสั่งที่ประกาศออกมาในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ประชาชนในหลายประเทศจึงตกเป็นเป้าการข่มขู่คุกคาม รวมถึงถูกลงโทษอย่างเกินกว่าเหตุจากเจ้าหน้าที่

ข้อเสนอของยูเอ็นต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงอยู่ที่ว่า แต่ละประเทศต้องกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการประกาศฯ และต้องกำชับเจ้าหน้าที่ให้ใช้อำนาจอย่างเหมาะสมและได้สัดส่วนกับสถานการณ์ที่เป็นจริง ยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมควบคู่กันไป และต้องไม่เพิกเฉยต่อการเลือกปฏิบัติหรือเหยียดเชื้อชาติที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 เพราะในบางประเทศ มีเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้อพยพ ชาวต่างชาติ และผู้ลี้ภัยถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกคุกคามข่มขู่ด้วยวาจา ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอแพร่ไวรัส แต่ไม่ได้รับการคุ้มครอง และบางประเทศยังบังคับส่งผู้อพยพกลับประเทศอีกด้วย

ส่วนข้อกังวลอีกประการหนึ่ง คือ การอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินควบคุมการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เห็นต่าง หรือผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐ เพราะบางประเทศจับกุมคนในช่วงนี้โดยอ้างข้อหาเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนหรือยั่วยุให้เกิดความไม่สงบ แต่รายงานของยูเอ็นย้ำว่า การบังคับใช้กฎหมายภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินต้องยึดเหตุผลด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยส่วนบุคคลเป็นหลัก ต้องไม่คุกคามผู้เห็นต่างทางการเมืองหรือชนกลุ่มน้อย ทั้งยังต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการรายงานข่าว

AFP-ชาวอิสราเอลรวมตัวประท้วงรัฐบาลช่วงล็อกดาวน์โควิด เว้นระยะห่างทางสังคม social distancing.jpg

ขณะเดียวกัน การใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อติดตามพฤติกรรมและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ของหน่วยงานรัฐและเอกชน จะต้องประกาศให้ชัดเจนต่อสาธารณะว่านำไปใช้ในด้านไหนบ้าง และต้องกำหนดกรอบเวลาในการใช้ให้ชัดเจน หากพ้นระยะแพร่ระบาด จะต้องระงับการเข้าถึงหรือการใช้งานข้อมูลของบุคคลอื่น เพื่อป้องกันการนำข้อมูลไปใช้ด้านการสอดแนมประชาชน


ยกตัวอย่างประเทศอ้างไวรัสแทรกแซงประชาชน (และประชาธิปไตย)

ก่อนหน้านี้ อิงเกอร์เบียร์ก โซลรัน กิสลาดอตเทียร์ ผู้อำนวยการฝ่ายสิทธิมนุษยชนขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) เคยกล่าวสื่อเช่นกันว่า "การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะประกาศที่ไหน หรือเพื่อเหตุผลอะไร ต้องมีระยะที่เหมาะสมกับเป้าหมาย และต้องบังคับใช้ตราบเท่าที่จำเป็นเท่านั้น"

ผอ.ฝ่ายสิทธิฯ OSCE ระบุด้วยว่า หลายประเทศแถบยุโรปประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่กลับส่งผลให้มีการปิดกั้นความคิดเห็น หรือจับกุมดำเนินคดีผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในช่วงวิกฤตโรคระบาดเพิ่มขึ้น โดยยกตัวอย่างประเทศเซอร์เบียและฮังการี ที่มีคำสั่งจับกุมผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทั้งกรณีรับมือโรคโควิด-19 และประเด็นการบริหารจัดการอื่นๆ 

นอกจากนี้ยังมีประเทศแถบเอเชียและอเมริกาที่เข้าข่ายใช้อำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในการกำจัดกลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งเป็นการแทรกแซงกระบวนการทางประชาธิปไตย รวมถึงการควบคุมการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นโควิด-19 ได้แก่ อียิปต์ อิหร่าน ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และบราซิล

กรณีของไทย สำนักกฎหมายระหว่างประเทศ ILCT รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเรียกตัว จับกุม หรือควบคุมตัวผู้ที่ 'เชื่อได้ว่า' ฝ่าฝืนข้อห้ามในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังมีอำนาจในการปิดกั้น ระงับ หรือสกัดการรายงานข่าวหรือการเผยแพร่ข้อมูลของสื่อทุกประเภทที่เข้าข่าย 'ทำลายความสงบเรียบร้อยของประชาชน'

ส่วนประเทศและเขตปกครองอื่นๆ ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 ได้แก่ แคนาดา โคลอมเบีย จีน ชิลี บราซิล นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา อินเดีย อินโดนีเซีย อิสราเอล ฮ่องกง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: