สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนทวีความตึงเครียดท่ามกลางการจับตาจากทั่วโลก มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ฟันฝ่าความท้าทายการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลุ่มทะลุวังทำโพลขบวนเสด็จด้านฝ่ายปกป้องสถาบันจัดกิจกรรมแสดงพลังตอบโต้ ขณะที่แกนนำราษฎรได้ประกันตัวรับอิสรภาพชั่วคราว
วอยซ์รวบรวมภาพข่าวสะท้อนเรื่องราวเด่นในรอบเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มาให้ชม
(24 ก.พ.) หญิงคนหนึ่งร้องไห้ระหว่างเข้าร่วมประท้วงเพื่อสนับสนุนยูเครน ที่ถนนดาวนิ่ง ลอนดอน อังกฤษ (ภาพ: Reuters)
(26 ก.พ.) ศพของทหารรัสเซียใกล้กับรถถังของกองทัพรัสเซียที่ถูกทำลาย ริมถนนในเขตชานเมืองคาร์คิฟ ยูเครน (ภาพ: AFP)
(27 ก.พ.) Lidiya Zhuravlyova ศิลปินชาวยูเครน เพ้นท์สีบนใบหน้าแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อประท้วงต่อต้านสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ระหว่างเข้าร่วมการชุมนุมที่สวนลุมพินี (ภาพ: ปฏิภัทร จันทร์ทอง)
(24 ก.พ.) ชายชาวยูเครนใช้พรมคลุมร่างที่อยู่บนพื้น หลังเกิดเหตุระเบิดในเมือง Chuguiv ทางตะวันออกของยูเครน (ภาพ: AFP)
(24 ก.พ.) ผู้หญิงชาวยูเครนที่ได้รับบาดเจ็บยืนอยู่นอกโรงพยาบาลหลังจากเหตุระเบิดในเมือง Chuguiv ทางตะวันออกของยูเครน (ภาพ: AFP)
(24 ก.พ.) ซากของจรวดติดอยู่ภายในบ้านหลังหนึ่หลังจากถูกยิงโจมตีในเขตชานเมืองทางเหนือของคาร์คิฟ ยูเครน การจโจมตีของรัสเซียก่อให้เกิดการประณามจากผู้นำตะวันตกและคำเตือนถึงการคว่ำบาตรครั้งใหญ่ต่อรัสเซีย (ภาพ: Sergey BOBOK / AFP)
(15 ก.พ.) ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ แห่งเยอรมนี ขณะร่วมประชุมเรื่องความมั่นคงของยูเครนที่เครมลิน กรุงมอสโก (ภาพ: Mikhail Klimentyev / Sputnik / AFP)
(24 ก.พ.) รุสลัน มาลินอฟสกี กองกลางของทีมอตาลันต้า ยูเครน ฉลองประตูด้วยเสื้อที่เขียนว่า "No War in Ukraine" ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลยูโรปา ลีก รอบน็อกเอาต์ รอบเพลย์ออฟ นัดที่สอง ระหว่างโอลิมเปียกอส เอฟซี และอตาลันตา เอฟซี ที่สนามกีฬาจอร์จิโอส คาราอิสกากิส ในเมืองพีเรียส ในเขตชานเมือง เอเธนส์ (ภาพ: Panayotis TZAMAROS / INTIME NEWS / AFP)
(10 ก.พ.) หญิงสาวไหว้ขอพรพระตรีมูรติ บริเวณลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ก่อนวันวาเลนไทน์ ซึ่งในปีนี้มีการร่วมจัดแคมเปญโดยแอปพลิเคชั่นหาคู่ชื่อดัง (ภาพ: เสกสรร โรจนเมธากุล)
(2 ก.พ.) ชาวนาจากหลายจังหวัดนอนหลับระหว่างมาปักหลักประท้วงยาวนานหลายวัน ที่ริมคลองประปา ด้านนอกกระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 เพื่อให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหนี้สินทางการเกษตร กองทุนฟื้นฟู ลูกหนี้ธนาคารรัฐ 4 แห่ง ที่เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สัญญาว่าจะผลักดันเรื่องนี้เข้าคณะรัฐมนตรี (ภาพ: ณปกรณ์ ชื่นตา)
(22 ก.พ.) รูปลักษณ์ทรงรีอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต (Museum of the Future) ในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีความสูง 7 ชั้น เป็นอาคารสีเงินทรงรีภายในกลวง ภายนอกออกแบบตัวอักษรคัดลายมือภาษาอารบิกที่อ้างอิงมาจากคำกล่าวของเชค โมฮัมหมัด บิน ราชิด อัลมักตุม เจ้าผู้ครองนครดูไบ ตั้งอยู่บนถนนเชค ซายอิดที่เป็นทางหลวงหลักของเมือง ใกล้เบิร์จ คาลิฟา อาคารที่สูงที่สุดในโลก (ภาพ: Reuters)
(7 ก.พ.) มิอุระ ริคุ และคิฮาระ ริวอิจิ จากประเทศญี่ปุ่น โชวล์ลีลาในการแข่งขันสเก็ตลีลาแบบคู่ (ภาพ: Reuters)
(13 ก.พ.) Anna Derugo จากเบลารุสเข้าร่วมการฝึกซ้อมก่อนการแข่งขันกรีฑาหญิงฟรีสไตล์ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ที่ปักกิ่งที่สนามกีฬา Genting Snow Park A & M ในจางเจ้ยโข่ว (ภาพ: AFP)
(10 ก.พ.) นักโต้คลื่นกำลังโต้คลื่นใน ที่ชายฝั่งเมือง Nazare โปรตุเกส (ภาพ: Reuters)
(24 ก.พ.) เจ้าหน้าที่สวมอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) ฝังศพอาสาสมัครป้องกันภัยพลเรือนที่เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ที่สุสานบ้านยะกัง จ.นราธิวาส (ภาพ: Madaree TOHLALA / AFP)
(11 ก.พ.) สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามพรรคประชาธิปัตย์เข้ายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบรายการบัญชีทรัพย์สินของตนเองและภรรยาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ว่ามีความผิดปกติตามที่คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ของสภาผู้แทนราษฎรกล่าวหาหรือไม่ (ภาพ: เสกสรร โรจนเมธากุล)
(8 ก.พ.) กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นำป้ายนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐเมื่อครั้งการเลือกตั้งทั่วไป 2562 มาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ อาทิ ผลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 - 425 บาท เงินเดือนผู้ที่จบปริญญาตรี 20,000 บาทต่อเดือน และเด็กจบอาชีวะ 18,000 บาท ในเด็กจบใหม่ยกเว้นการจัดเก็บภาษี 5 ปี (ภาพ: ฉัทดนัย ทิพยวรรณ์)
(17 ก.พ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ขณะยืนรอลิฟต์ขึ้นไปยังห้องประชุมสภาในช่วงบ่าย ซึ่งกำลังอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ตามที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ ส.ส.เป็นผู้เสนอ (ชมภาพเพิ่มเติม)
(19 ก.พ.) รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าว 'กว่าจะเป็นตั๋วช้าง ภาค 2' พร้อมพูดคุยกับพล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญาที่สืบสาวเอาผิดขบวนการค้ามนุษย์ จนถูกกดดันให้ต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศ (ภาพ: ปฏิภัทร จันทร์ทอง)
(8 ก.พ.) 'กลุ่มทะลุวัง' จัดกิจกรรมถามความเห็น คิดอย่างไรกับ 'ขบวนเสด็จ' ที่ห้างสยามพารากอน โดยได้สอบถามความคิดเห็นประชาชนว่า “คุณคิดว่า ขบวนเสด็จ สร้างความเดือดร้อนหรือไม่?" โดยมีสติ๊กเกอร์ให้ประชาชนนำมาติดบนป้ายกระดาษซึ่งแบ่งคำตอบเป็น 2 ช่องว่าเดือดร้อนและไม่เดือดร้อน (ภาพ: ปฏิภัทร จันทร์ทอง)
(13 ก.พ.) แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ทำท่าสาธิตพร้อมอธิบายให้ผู้สื่อข่าวทราบถึงพฤติกรรมของหญิงรายหนึ่ง ภายหลังจากหญิงรายนั้นเข้ามาชูสามนิ้วขณะที่มวลชนกลุ่ม ศปปส. กำลังทำกิจกรรมร้องเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อแสดงพลังปกป้องสถาบันและต่อต้านการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่สกายวอล์กปทุมวัน จนทำให้เกิดความวุ่นวายเล็กน้อย (ภาพ: เสกสรร โรจนเมธากุล)
(10 ก.พ.) จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ 'ไผ่’ แกนนำกลุ่มทะลุฟ้าและแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวราษฎร ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังจากถูกจองจำมามากกว่า 6 เดือน ในคดีอาญามาตรา 112 ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมและจัดกิจกรรมหลายครั้ง ทั้งคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญารัชดา, ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลจังหวัดภูเขียว โดยได้รับการประกันตัวในทุกศาลแบบมีเงื่อนไข (ภาพ: ปฏิภัทร จันทร์ทอง)
(11 ก.พ.) ภาณุพงศ์ หรือ ไมค์ จาดนอก แกนนำกลุ่มราษฎร ได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังจากศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ประกันตัวคดี 112 กรณีชุมนุม อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป โดยกำหนดเง่อนไขการปล่อยตัว อาทิ ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดอันอาจกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือสถาบันศาลในทุกด้าน หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 18.00-05.00 น.ของวันรุ่งขึ้น (ภาพ: วิทวัส มณีจักร)
(24 ก.พ.) พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังถูกคุมขังอยู่เป็นเวลา 6 เดือน 15 วัน โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีกำหนด 3 เดือน ในคดีการชุมนุม (ภาพ: วิทวัส มณีจักร)
(28 ก.พ.) อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน แกนนำราษฎรได้รับการประกันตัวจากศาลอาญากรุงเทพใต้ หลังจากถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครระหว่างพิจารณาคดีมาตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2564 รวมระยะเวลา 202 วัน
อานนท์กล่าวว่า “การต่อสู้เรื่องเสรีภาพ มันได้กลายเป็นพันธกิจของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว ซึ่งวิธีคิด รูปแบบ วิธีการต่อสู้อาจนำไปสู่ชัยชนะได้ (ภาพ: ฉัทดนัย ทิพยวรรณ์)