ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงประเด็นข้อเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ กรณีการรับสมัครเข้ารับราชการตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่เป็นเพศชายเท่านั้น ด้านเพจพนักงานสอบสวนหญิง โต้กลับบอก สตช. ไม่เคยดูแล ใครมีโอกาสที่ดีกว่าก็ไป

จากกรณีการรับสมัครเข้ารับราชการตำแหน่งพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และเครือข่ายสตรีจัดเวทีเสวนาด้านความเสมอภาคทางเพศ ได้เสนอข้อเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ และมีความเห็นกรณีการรับสมัครบุคคลธรรมดา ข้ารับราชการตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าไม่คำนึงถึงความเสมอภาคตามหลักสากล เนื่องจากเปิดรับสมัครแต่เพศชายเท่านั้น 

โดย พ.ต.ท. ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้แจงประเด็นข้อเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศดังกล่าว ว่า เนื่องจากปัจจุบันมีความขาดแคลนพนักงานสอบสวนมากถึง 2,000 ตำแหน่ง แต่ในโอกาสนี้สามารถเปิดรับได้เพียง 250 ตำแหน่งเท่านั้น ยังคงขาดแคลนพนักงานสอบสวนอีกมากถึง 1,700 ตำแหน่ง ไม่สามารถให้บริการพี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ 

ทั้งในปัจจุบันพนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามสถานีตำรวจต่างๆ ทั่วประเทศ ต้องแบกรับภาระปริมาณงานที่สูงเกินศักยภาพที่บุคคลจะสามารถรับได้ เป็นเหตุให้มีปัญหาการลาออกจากราชการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนหญิง เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องแบกรับภาระหน้าที่ทางครอบครัวที่หนักกว่าพนักงานสอบสวนชายอีกด้วย 

ในขณะที่บางส่วนก็มีสำนวนคั่งค้างเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมและกระทำอัตวิบาตกรรมดังที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งเปิดรับสมัครบุคคลธรรมดาเข้าเป็นข้าราชการตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวน โดยเปิดรับสมัครแต่เพศชายในกรณีนี้ ด้วยมีเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน โดยคำนึงสวัสดิภาพของเพศหญิงเป็นสำคัญ หาใช่การริดรอนสิทธิสตรีไม่

ด้านความเปราะบางของผู้เสียหายหรือเหยื่อที่เป็นสตรีและเด็กนั้น ยังมีนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงที่จะจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจทุกปีมาบรรจุเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว นอกจากนั้นในการสอบปากคำผู้เสียหายที่มีความเปราะบางทางอารมณ์นั้น ตามกฎหมายแล้วต้องกระทำร่วมกันกับสหวิชาชีพและกระทำอย่างมืออาชีพ ซึ่งพนักงานสอบสวนทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงล้วนคำนึงถึงประเด็นนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว นอกจากนั้นจากสถิติพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ถึง 2559 นั้น คดีความรุนแรงทางเพศมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ จากกว่า 3,300 คดี ลดลงเหลือเพียง 2,200 คดี

นอกจากนี้มีเพจชื่อ "พนักงานสอบสวนหญิง" ออกมาแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ด้วยเช่นกันว่า เหตุสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับพนักงานสอบสวนเฉพาะชายเพราะพนักงานสอบสวนหญิงลาออกเยอะ? จริงหรือ? อัตราพนักงานสอบสวนหญิง มีประมาณ 400 คนทั่วประเทศ ยังแต่งตั้งให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไม่ได้ พนักงานสอบสวนทั้งประเทศ 8,000 ตำแหน่งรับคดีปีละ 200,000-300,000 คดีที่เป็นเลขคดี ไม่รวมที่ไกล่เกลี่ยและไม่เป็นคดีแต่มาพบพนักงานสอบสวนรับคดีอาญากฎหมายทุกฉบับ


เพจดังกล่าวยังกล่าวหสด้วยว่า สตช.ไม่เคยดูแล ไม่มีการสนับสนุนเครื่องมือเครื่องใช้ มีแต่การสั่งการ การลงโทษ และการสร้างความเชื่อมั่นในการทำงาน ไม่มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ