ไม่พบผลการค้นหา
ไม่ว่าจะแอนะล็อกหรือดิจิทัล ‘วัฒนธรรมกล้อง’ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกำลังเบ่งบานสุดๆ ในแถบเอเชียเรา ทำให้แบรนด์ผู้ผลิตกล้องที่เคยเคลมตัวเองเป็นเจ้ายุทธจักร เร่งสลัดภาพลักษณ์มืออาชีพแบบเดิมๆ ทิ้ง แล้วเปลี่ยนไปเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์เข้าใจง่าย เพื่อตอบโจทย์ชีวิตทันสมัยของช่างภาพกลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งเป็นที่หมายปองของตลาดในปี 2018

ตอนหนึ่งในหนังสือเจาะเทรนด์โลก 2017 ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center : TCDC) บอกว่า วิวัฒนาการของยุคดิจิทัลทำให้ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลโหยหาแอนะล็อกอยู่ลึกๆ กระทั่งโลกของเราหมุนกลับมาตรงจุดที่ ‘แผ่นเสียงไวนิล’ ฮิตติดตลาดกว่าเทรนด์การฟังเพลงสตรีมมิงออนไลน์ ร่วมด้วยกระแสกล้องฟิ��์ม กล้องกระดาษ และกล้องโพลารอยด์ อีกหนึ่งการเคลื่อนไหวใหม่ที่ทำให้มนุษย์เข้าใจผลกระทบอันแปลกประหลาด และเหนือความคาดหมาย ของการกดชัตเตอร์แบบไร้โอกาสแก้ไข

จริงๆ แล้ววัฒนธรรมกล้องเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวมองเห็นชัดสุดในพื้นที่ที่ร่ำรวยแถบเอเชีย ตามรายงานของนิกเกอิ เอเชียน รีวิว (Nikkei Asian Review) ที่ระบุว่า เมื่อปี 2017 บริษัทผู้ผลิตกล้องรายใหญ่ในญี่ปุ่นปรับประมาณการตัวเลขยอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการฟื้นตัวของวัฒนธรรมกล้อง ซึ่งส่งผลให้ความต้องการของตลาดขยายตัว และเกิดเป็นการแข่งขันค่อนข้างสูง

แต่การจะบังคับให้ผู้บริโภคมิลเลนเนียลกลับไปแอนะล็อกเต็มร้อยคงไม่ไหว เพราะพวกเขายังสนุกกับการใช้ชีวิตแบบคล่องแคล่วบนโลกออนไลน์ ทำให้เมื่อปีก่อน แบรนด์กล้องสัญชาติเยอรมัน ไลก้า (Leica) สร้างสรรค์กล้องดิจิทัลอารมณ์ฟิล์ม เอ็ม-ดี ไทป์ 262 (M-D Typ 262) ที่ผสมผสานความคลาสสิกกับเทคโนโลยีแสนง่ายดายเข้าด้วยกัน พร้อมๆ กับพัฒนากล้องโพลารอยด์กึ่งดิจิทัลตัวแรกของค่ายชื่อ โซฟอร์ต (Sofort) ซึ่งภาษาเยอรมันแปลว่า ‘ทันที’ เพื่อสนองความต้องการด้านไลฟ์สไตล์ ขณะเดียวกันทางแบรนด์โกดัก (Kodak) ก็สร้างความฮือฮาด้วยการปลุกกล้องซูเปอร์ 8 (Super 8) ให้ฟื้นคืนชีพ หลังจากหายไปนานกว่า 50 ปี

felipe-p-lima-rizo-327652.jpg

นอกจากนั้น หลายแบรนด์ในภูมิภาคเอเชียยังให้ความสำคัญกับช่างภาพหญิงมากขึ้น จนเกิดเป็นกลุ่มตลาดใหม่ที่ถูกขนานนามว่า ‘แคเมรา เกิร์ลส์’ (Camera Girls) หรือช่างภาพสาววัยใสใส่ใจเรื่องแฟชั่น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังได้รับการยอมรับกว้างขวาง ในภาษาญี่ปุ่นมีศัพท์เรียกกันว่า ‘คะเมระ-โจชิ’ (Kamera-Joshi) โดยศูนย์รวมกล้องถ่ายภาพ และอุปกรณ์เสริมกระจุกกระจิกสไตล์ซักกะ (Zakka) มักเข้ากันได้ดียิ่งกับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว เพราะพวกเธอเปย์ง่าย และกำลังซื้อสูง

ขณะที่ผู้ผลิตหลายแบรนด์พยายามเจาะกลุ่มลูกค้าที่โหยหาแอนะล็อก ความนิยมของกลุ่มลูกค้าผู้หญิงที่เติบโตขึ้น ส่งผลให้กล่องดิจิทัลแบรนด์โอลิมปัส (Olympus) รุ่นใหม่ๆ จัดเต็มด้วยฟังก์ชันโฟกัสใบหน้าที่เน้นผู้หญิงเป็นหลัก ฟิลเตอร์หวานละมุน และหน้าจอพับมาลงข้างล่าง 180 องศา เพื่อตอบโจทย์การเซลฟี จนภาพลักษณ์ของกล้องโอลิมปัสกลายเป็นแฟชั่นไอเทมชิ้นใหม่ของสาวๆ ด้วยการนำเสนอเนื้อหากึ่งโฆษณา (Advertorial) ตามหน้านิตยสารวัยรุ่น และนิตยสารผู้หญิง 

เปิดตัวภาพลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ใหญ่

ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ช่วง 2-3 ปีผ่านมา แบรนด์กล้องระดับโลกต่างเร่งสร้างการรับรู้ใหม่กับผู้บริโภค โดยเปลี่ยนภาพลักษณ์จากอุปกรณ์เทคนิคของมืออาชีพไปสู่ส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ พร้อมกับเปิดบ้านหลังใหม่ที่เป็นคอนเซปต์สโตร์หลากรูปแบบในหลายประเทศ และวางเป้าหมายทางการตลาดสุดโต่งทั้งแง่ความมั่งคั่ง และความทะเยอทะยาน

อย่างแบรนด์กล้องระดับไฮเอนด์ ‘ไลก้า’ ที่อายุยาวนานกว่า 100 ปี ก็หันมาเปิดร้านค้าปลีกเพิ่ม พร้อมนำประสบการณ์ระดับเกจิอาจารย์มาเผยแพร่ อัดเต็มด้วยเอกลักษณ์การออกแบบ แกลลอรีศิลปะ และยังทำหน้าที่เหมือนสถานศึกษา สำหรับการปรากฏตัวต่อสาธารณชนคนรักกล้องในย่านกิออน (Gion) เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เป็นบ้านไม้เก่าแก่เกือบทศวรรษ โดยไลก้าเลือกทำให้แบรนด์ดูกลมกลืนกับพื้นที่ และเป็นจุดสนใจน้อยสุดๆ บรรยากาศภายในตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์มินิมอล ส่วนโซนแสดงสินค้าแวดล้อมด้วยสุนทรียศาสตร์แบบญี่ปุ่นดั้งเดิม เช่น สวนเซน (Zen) ขนาดย่อม และสตูดิโอปูพื้นด้วยเสื่อตาตามิ (Tatami)

อีกหนึ่งแบรนด์ที่ประวัติศาสตร์ยาวนานไม่แพ้กันคือ ‘ฟูจิฟิล์ม’ (Fujifilm) ตอบรับกระแสของผู้บริโภคด้วย ‘วันเดอร์ โฟโต้ ช็อป’ (Wonder Photo Shop) บริการตกแต่ง และอัดภาพในย่านฮาราจุกุ เป็นโมเดลธุรกิจที่เคียงคู่มาพร้อมเหตุผลว่า ผู้คนในกรุงโตเกียวส่วนใหญ่ให้ความสำคัญยิ่งกับผลิตภัณฑ์ที่สนุกสนาน ซึ่งเหมาะกับกลุ่มวัยรุ่นกำลังซื้อสูงมากทีเดียว และมันยังนำพาให้ตลาดกล้องถ่ายภาพด่วนในตระกูลอินสแตกซ์ (Instax) ได้รับความนิยมรวดเร็ว ด้วยการออกแบบน่ารัก ประสานกับความร่วมมือกับไลฟ์สไตล์แบรนด์รอบๆ โดยนำกล้องหุ้มเคสหนังดูคลาสสิกไปแขวนร่วมกับเสื้อผ้าทันสมัย จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่กำลังบูมมากในญี่ปุ่น นอกจากนั้น บนชั้น 2 ของวันเดอร์ โฟโต้ ช็อป ยังเปิดเป็นสตูดิโอ เพื่อให้ลูกค้าวัยรุ่นใช้พร็อพสีสันสดใสถ่ายภาพเพิ่มคาแรกเตอร์ ก่อนปรับแต่ง และพิมพ์ออกมา

ส่วนสาขาใหม่ของกล้องฟิล์มแบรนด์ ‘โลโมกราฟี’ (Lomography) ในกรุงโตเกียว มาพร้อมเอกลักษณ์โดดเด่นมากๆ เมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ทั่วโลก ตั้งอยู่ที่ 3331 อาร์ต ชิโยดะ (3331 Arts Chiyoda) ซึ่งเป็นเหมือนบ้านของผู้คลั่งไคล้ และเคารพในศิลปะ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่าย ได้แก่ กล้อง ฟิล์ม หนังสือ และอุปกรณ์เสริม ทว่าทั้งหมดกลับถูกผลักไสไปอยู่บนชั้นวางด้านหลัง เพื่อเปิดพื้นที่ส่วนใหญ่ให้ความว่างเปล่าเข้าครอบครอง มีเพียงโซฟาหนังตัวกลมที่กระตุ้นให้ทุกคนเข้ามานั่งแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจร่วมกัน เพราะการศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญของโลโมกราฟี จึงมีการเปิดคลาสเรียนถ่ายภาพในเมืองอยู่เสมอๆ

พื้นที่แสดงออกทางความคิดรูปแบบใหม่

นอกจากคอนเซปท์สโตร์ของแบรนด์ใหญ่แล้ว ร้านค้าประเภท ‘โฟโต้ คอนเซปต์ สเปซ’ (Photo Concept Spaces) หลากหลายฟังก์ชันก์ก็โผล่ขึ้นมาให้เห็นทั่วเอเชียเช่นกัน เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าไปใช้พักผ่อน ทานข้าว จิบกาแฟ อ่านหนังสือ แวะชอปปิง หรือร่วมเวิร์กชอปล้างฟิล์มขาว-ดำในห้องมืด อย่างที่ ‘แกลลอรี อิมะ’ (Gallery IMA) ซึ่งเป็นของนิตยสารถ่ายภาพสัญชาติญี่ปุ่นชื่อเดียวกัน มาพร้อมแนวคิด ‘การใช้ชีวิตอยู่กับภาพถ่าย’ และสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนด้วยการดู อ่าน เรียน ซื้อ และตกแต่ง ท่ามกลางบรรยากาศที่ประดับประดาด้วยถ่ายภาพศิลปะ โดยบนชั้น 2 เนรมิตเป็นแกลลอรีขนาดเล็ก ห้องสมุด และที่เก็บรวบรวมหนังสือภาพ


เช่นเดียวกับกลุ่มช่างภาพนานาชาติในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งรวมตัวกันจัดตั้ง ‘โมโนแกรม เอเชีย สเปซ’ (Monogram Asia Space) เป็นห้องแสดงผลงานศิลปะในกรุงจาการ์ตา ทว่ารวมเอาคาเฟ่ แกลลอรี ร้านกล้อง ร้านขายหนังสือ และเคาน์เตอร์ท่องเที่ยวที่นักเดินทางสามารถจับจองทัวร์ได้ทันทีเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว

ในย่านมงก๊ก (Mong Kok) อันคึกคักบนเกาะฮ่องกง ก็พบวัยรุ่นผู้หลงใหลการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มซ่อนตัวอยู่หลายแห่ง อาทิ ‘โชวา สโตร์’ (Showa Store) เป็นพื้นที่ที่ออกแบบเรียบง่าย สะอาดตา จำหน่ายกล้องรุ่นใหม่ๆ คู่ขนานกับกล้องฟิล์มวินเทจ สายห้อยคอ กระเป๋าผ้า และข้าวของจิปาถะอื่นๆ อีกมากมาย ขณะเดียวกันพนักงานก็พร้อมอธิบายหลักการทำงานของกล้องฟิล์มให้กับผู้เริ่มต้น ขอแค่ลองเปิดใจดูสักครั้ง

สำหรับกรุงเทพฯ บ้านเรา ‘อันเซล แอนด์ เอลเลียตต์’ (Ansel & Elliott) แถวๆ แยกสะพานควาย เป็นคาเฟ่แอนะล็อกขนาดเล็กๆ ตั้งชื่อตามช่างภาพอเมริกันระดับตำนานคือ แอนเซล อดัมส์ (Ansel Adams) และเอลเลียตต์ เออร์วิตต์ (Elliott Erwitt) ทำหน้าประหนึ่งชุมชนของคนรักศิลปะ และเปิดสอนกระบวนการถ่ายภาพฟิล์มไปพร้อมๆ กัน