เมื่อวานนี้ (16 พ.ย.61) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล ที่ปรึกษา อย. ร่วมกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำทีมโดย พล.ต.ต. สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เปิดปฏิบัติการ “กวาดล้างยาทรามาดอลครั้งใหญ่” โดยร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำการสืบสวนกรณีการลักลอบขายยาทรามาดอล แคปซูลเขียว – เหลือง ให้กับกลุ่มเยาวชนนำไปใช้เป็นส่วนประกอบ 4 x 100 ฉลากระบุ TRADOL ประกอบไปด้วย ทรามาดอล 50 มิลลิกรัมต่อแคปซูล ฉลากไม่ระบุแหล่งผลิต
จากการตรวจสอบพบเอกสารการผลิตและฉลากที่ได้มีการส่งและรับสินค้า จำนวน 7,500 กระปุกๆ ละ 1,000 แคปซูล โดยเจ้าของได้ยอมรับว่ามีการส่งสินค้าออกไปยังท้องตลาดแล้ว รวมมูลค่าของกลางที่ยึดได้รวมกว่า 20 ล้านบาท จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าผลิตยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ฯลฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวต่อไปว่า อย. ขอย้ำเตือนโรงงานผลิตยา และ ร้านขายยาทุกแห่งทั่วประเทศ อย่าได้ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยเฉพาะการผลิตยาทรามาดอลที่ขายให้กับเยาวชนเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่ง อย. ได้มีมาตรการเข้มงวด ทั้งผู้นำเข้าวัตถุดิบ ผู้ผลิต เมื่อมีการนำเข้าและผลิต ต้องรายงานผ่านระบบออนไลน์มายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ทั้งนี้จากการตรวจสอบแล้วพบว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตครั้งนี้ไม่ได้รั่วไหลจากระบบการควบคุมของ อย. ประกอบกับยังกำหนดให้ผู้ผลิตขายให้กับร้านขายยา ไม่เกิน 1,000 แคปซูล/เดือน/ร้าน และทางร้านต้องขายให้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการแพทย์เท่านั้น ไม่เกินครั้งละ 20 แคปซูล ต่อราย และให้เภสัชกรประจำร้านเท่านั้นเป็นผู้ที่จัดส่งมอบยา ข้อสำคัญ ห้ามจำหน่ายยาให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ในทุกกรณี รวมทั้งให้ผู้รับอนุญาต และเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ต้องจัดทำบัญชีรายชื่อยาและบัญชีการขายยาให้เป็นจริง ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน หากพบร้านขายยาใดกระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว นอกจากจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้วยังจะถูกเสนอเข้าคณะกรรมการยาให้ความเห็นชอบในการพักใช้ใบอนุญาตขายยาต่อไป ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงานของ อย. และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะผนึกกำลังร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอย่างเข้มแข็ง
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า มีการขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มีบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 1 - 4 แสนบาท กล่าวคือ พบเอกสารสำเนาใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน ซึ่งหัวกระดาษระบุชื่อบริษัท เอช.เค ฟาร์มาซูลติคอล จำกัด รายละเอียดสินค้า ระบุ อัลแลม 1.0 (สีม่วง) ลงวันที่ 24 ม.ค.57 และ อัลแลม 0.5 (สีชมพู) ลงวันที่ 7 ต.ค. 56 ขายไปที่ร้านขายยา ซึ่งลักษณะของชื่อและรูปลักษณะของเม็ดตรงกับวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่เคยได้รับอนุญาตไว้เมื่อปี 2553 ซึ่งทางกฎหมายอัลปราโซแลมจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.56 ไม่สามารถที่จะขายไปให้ร้านขายยาได้ ประกอบกับมีการตรวจพบวัตถุดิบบรรจุอยู่ในอลูมิเนียมฟรอยด์ไม่มีชื่อ ขณะนี้ได้ทำการส่งตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว
ด้านนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า ขอย้ำเตือนไปยังผู้ปกครองหมั่นสอดส่องดูแล บุตรหลาน อย่าได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการใช้ยาในลักษณะดังกล่าว และฝากถึงประชาชนผู้บริโภคช่วยกันเป็นหูเป็นตา
หากพบร้านขายยาใดลักลอบขายยาทรามาดอลให้แก่เยาวชน หรือ ขายยาโดยไม่มีเภสัชกรประจำร้าน ขอให้แจ้งมาได้ที่ช่องทางการร้องเรียนแจ้งเบาะแสกับ อย. ที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: [email protected] หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application หรือ ตรวจเช็คผ่าน Application “ตรวจเลข อย.” เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจเบื้องต้นให้กับผู้บริโภคก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือ Line @Fdathai หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด และ สามารถเดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเองที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ได้ทุกวันในเวลาราชการ เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป