ทางเลือกของอาหารของพนักงานออฟฟิศดูจะมีข้อจำกัดไปเสียหมด นอกจากไม่มีเวลาเลือกสรร เพราะช่วงพักกลางวันที่เร่งรีบ
ส่วนใหญ่คนวัยทำงานจึงเลือกได้แค่ กระเพรา-ไข่ดาว, ข้าวราดแกง, อาหารตามสั่งแบบด่วนที่คลุกน้ำมัน แบบกินให้รอดไปวันๆ
อาหารคลีนออนไลน์จึงรุกตลาดพนักงานออฟฟิศที่ต้องการดูแลสุขภาพ ดูแลร่างกาย เปิดขายกันอย่างหลากหลายทั้งแบบออนไลน์และแบบร้านอาหารนั่งกิน แต่ราคาของอาหารชนิดนี้แต่ละจานราคาไม่ธรรมดา มื้อหนึ่งไม่ต่ำกว่าหลักร้อย เกินรายได้ของมนุษย์เงินเดือน
แล้วอะไรคือ อาหารคลีน แบบไหนที่เหมาะกับคนทำงานทั้งเรื่องโภชนาการและราคา ทีมข่าวออนไลน์วอยซ์ ทีวี ติดต่อไปยัง อ.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการชื่อดัง ให้ช่วยแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมคำแนะนำสำหรับการใช้ชีวิตของคนวัยทำงานว่าควรเตรียมตัวอย่างไรให้ก้าวเข้าสู่สังคมหลังเกษียณอายุได้อย่างมีคุณภาพ ไม่เจ็บไม่ป่วยให้เป็นภาระคนใกล้ตัว
- อาหารคลีนจริงๆ แล้วคืออะไร ใช่อาหารที่ต้องปรุงแต่งจากวัตถุดิบราคาสูงที่วางขายแบบในปัจจุบันหรือไม่
อ.สง่า ดามาพงษ์ บอกว่า ต้องทราบคอนเซ็ปต์ของอาหารคลีนที่แท้จริงก่อน อาหารคลีนจริงๆ แล้วคือ อาหารอะไรก็ได้ที่กินแล้ว 'ดีต่อสุขภาพ' กินแล้วไม่เป็นโรคเบาหวาน หัวใจ หลอดเลือด และไม่ทำให้อ้วน โดยเฉพาะชาวตะวันตกส่วนใหญ่มักเป็นโรคที่กล่าวมาข้างต้น เพราะกินแต่อาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งมากเกินไป ผิดเพี้ยนจากธรรมชาติ กินผักและผลไม้น้อย จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพภายหลัง จนต้องย้อนกลับไปศึกษาว่าในอดีตคนเรากินอาหารกันอย่างไร ทำให้ค้นพบว่า คนในสมัยก่อนกินอาหารตามธรรมชาติไม่ผ่านการปรุงแต่งมาก ทำให้พวกเขามีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นโรคความดัน เบาหวาน เลยเรียกอาหารนี้ว่า "อาหารคลีน"
อาหารคลีน จึงไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบราคาแพง สั่งตรงต่างประเทศเท่านั้น อาหารไทยก็สามารถเป็นอาหารคลีนได้เช่นกัน แถมราคาไม่แพงอีกด้วย เช่น แกงส้มผักรวมไม่ใส่ผงชูรส ปรุงรสไม่จัดจนเกินไป ก็เป็นเมนูอาหารคลีนได้ หรือจะเป็นเมนูปลานึ่งกับน้ำพริก ทั้ง 2 เมนูที่กล่าวมานี้สามารถกินคู่กับผักลวก ผักต้ม หรือไข่ต้ม ร่วมกับข้าวกล้องที่ไม่ผ่านการขัดสี เท่านี้ก็เรียกได้ว่าเป็นอาหารคลีนแบบไทยๆ แล้ว
- ส่วนคำถามว่าคนวัยทำงานควรปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยหลังเกษียณอย่างมีคุณภาพ
อ.สง่า ให้ความเห็นว่า หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนควรจัดอบรมให้พนักงานหรือลูกจ้างของพวกเขาเตรียมพร้อมจากวัยทำงานเข้าสู่วัยหลังเกษียณตั้งแต่อายุ 35-40 ปี เพื่อให้พวกเขาได้เตรียมร่างกายและจิตใจไว้ล่วงหน้า และต้องทำติดต่อกัน สำหรับการดูแลร่างกายนั้น ควรเน้นที่อาหาร, ออกกำลังกาย, อารมณ์ รวมถึงไม่สูบบุหรี่, ไม่ดื่มเหล้า ร่วมกับพักผ่อนให้เพียงพอ ขอแค่ทำสิ่งเหล่านี้ติดต่อกันเป็นประจำ เท่านี้ร่างกายก็จะแข็งแรงพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณอย่างเต็มภาคภูมิ