สำหรับชนเผ่าเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ สุราไม่ได้มีแค่มิติของความมึนเมา แต่มันแทรกตัวเข้าอยู่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีช���วิตของชาวบ้าน มากไปกว่านั้นคือ ทุกคนไม่ต้องเป็นกังวลว่าสุราชุมชนจะผิดกฎหมาย จนต้องคอยระวัง และหลบหลีก เพราะผู้ผลิตยอมจ่ายภาษีอากรแสตมป์ แม้ราคาจะสูงเป็นครึ่งหนึ่งของต้นทุนการผลิตเลยก็ตาม
ในการเดินทางมาศรีสะเกษหนนี้ ทีมงาน Voice On Being ได้โอกาสลงพื้นที่เยี่ยมเยือนชนเผ่าเยอ และทำความรู้จักกับ ดร.ชูเกียรติ พงศ์พนาพิพัฒน์ หรืออาจารย์โจ้ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ผู้คลุกคลีกับงานพัฒนาชุมชนในหลายมิติ และเมื่อถามถึงความเป็นมาของสุราชุมชน อาจารย์ชูเกียรติเริ่มต้นด้วยประโยคว่า “ไม่ได้ชวนดื่มแต่อย่างใด”
“เบื้องต้นขอแจ้งว่า เป็นสุราชุมชนที่ผลิตถูกต้องตามกฎหมาย การพูดเรื่องนี้เป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิถีของชุมชน ไม่ได้ต้องการส่งเสริมให้ใครดื่มสุรา”
สุราของชนเผ่าเยอแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ สาโท ที่มาจากกระบวนการหมักข้าว รสชาติหวานคล้ายๆ ไวน์ และเมื่อนำสาโทไปเข้าสู่กระบวนการกลั่นจะได้สุราอีกประเภทหนึ่งคือ เหล้าขาว หรือสุราพื้นเมือง”
อาจารย์โจ้อธิบายว่า การดื่มสุราเป็นวัฒนธรรมที่มีมาเนิ่นนาน ในทุกกิจกรรมของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการบวงสรวง การไหว้เจ้าของคนจีน หรือการออกรบสมัยโบราณจะปลุกขวัญกำลังใจทหารด้วยการเลี้ยงสุรา หรือเวลารบชนะแล้วกลับมาก็ต้องเลี้ยงสุราเช่นกัน สำหรับชาวเผ่าเยอจังหวัดศรีสะเกษ สุราชุมชนก็เข้าไปมีส่วนร่วมในทุกศาสนพิธี
“ไม่มีหลักฐานความเป็นมาแน่ชัดว่า สุราเริ่มมีบทบาทต่อชนเผ่าเยอจังหวัดศรีสะเกษตั้งแต่เมื่อไหร่ หรืออย่างไร แต่ทุกศาสนพิธีที่มีการบวงสรวง หรือสักการะ สิ่งที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ไม่ว่าจะเป็นปราสาทเยอเหนือ หรือสิ่งศักสิทธิ์อื่นๆ จะต้องนำสุราไปคารวะตามพิธีกรรมที่สืบทอดต่อกันมา”
เพราะการดื่มสุราไม่ได้มีจุดประสงค์แค่ความมึนเมาเท่านั้น สุราชุมชนของชนเผ่าเยอจึงไม่ต่างอะไรจากสาเกของญี่ปุ่น คราฟต์เบียร์ของอเมริกา หรือแชมเปญของฝรั่งเศส ที่ล้วนแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และรสชาติแตกต่างจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะเดียวกันตามท้องตลาด
“สุราชุมชนที่เราพูดถึงวันนี้ การดื่มชิมรสชาติก็ไม่แตกต่างกับชาวต่างชาติที่ชิมสุราในรูปแบบของเขา วิธีการกินก็ให้จิบเล็กน้อย จากนั้นอมไว้ในปาก เมื่ออมไว้สักพักจะได้กลิ่นหอมของข้าวที่ผ่านกระบวนการหมัก แล้วจึงกลืนเข้าไป ก็จะได้รสชาติได้อรรถรสของความเป็นสุราพื้นเมืองอย่างแท้จริง” อาจารย์โจ้อธิบายถึงวิธีการชิมสุราพื้นเมือง
แต่เดิมสุราของที่นี่ก็คล้ายคลึงกันกับสุราชุมชนตามต่างจังหวัดของประเทศไทย คือไม่ได้เสียภาษี และทำไว้ดื่มกันเองในชุมชน จนกระทั่งการเข้ามาของภาครัฐมีส่วนช่วยให้สุราชุมชนถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถนำไปจำหน่ายได้ ทว่าชัย พรมชาติ หรือ ลุงชัย เกษตรกรที่ประกอบอาชีพเสริมเป็นผู้ผลิตสุราชุมชนบอกว่า ราคาภาษีอากรแสตมป์ที่ต้องจ่ายให้ภาครัฐมีมูลค่าไม่น้อยเลยทีเดียว
“ทำสุรามาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ มาจดทะเบียนเมื่อปีพ.ศ. 2549 เป็นวิสาหกิจชุมชนมีสมาชิกอยู่ 7 คน คนที่รับหน้าที่จำหน่ายมีผมคนเดียว เมื่อก่อนรายได้ค่อนข้างดี แต่ปีที่แล้วใบอนุญาตปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทำเป็น 3 ปีต่อครั้ง ภาษีอากรแสตมป์ก็ต้องจ่ายถึง 7,000 บาท” ลุงชัยกล่าวถึงการเสียภาษีที่มองว่าสูงเกินไปสำหรับผู้ผลิต
สอดคล้องกับความเห็นของอาจารย์โจ้ที่บอกว่า ปัญหาของผู้ผลิตสุราชุมชนคือ การรับมือภาษีที่ต้องจ่ายให้กับภาครัฐ ซึ่งนับเป็นครึ่งหนึ่งของต้นทุนการผลิต
“ปัญหาของชุมชนคือ ภาษีที่ต้องจ่ายอากรแสตมป์สูงพอสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิต ชุมชนยินดีจะทำตามกฎหมายอยู่แล้ว เพราะชุมชนมีอัตราการผลิตน้อย ทั้งๆ ที่อากรแสตมป์เป็นครึ่งหนึ่งของทั้งหมดแล้ว แต่ชุมชนยังคงรักษาการผลิตสุราไว้ เพื่อให้คงอยู่คู่ชุมชนต่อไป
หากมองตามหลักการทางธุรกิจ หรือการตลาดแล้วเราอยากจะพัฒนาต่อ หากต้องการนำไปขายตามสถานที่อื่นสิ่งแรกที่ต้องทำคือ เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ หรือเปลี่ยนรูปแบบให้มีความแตกต่างมากขึ้น ปัจจุบันบางประเทศทำสุราลักษณะนี้ แต่มีการเพิ่มส่วนผสมอย่างอื่นลงไป เช่น กลิ่นสตรอว์เบอร์รี หรือผลไม้อื่นๆ” อาจารย์โจ้ทิ้งท้าย พร้อมย้ำด้วยว่าตนเองไม่ได้สนับสนุนให้ดื่มสุรา แต่ส่งเสริมให้เห็นวัฒนธรรมของชุมชน เพราะสุราเป็นเพียงส่วนหนึ่งให้ประเพณีครบถ้วนสมบูรณ์เท่านั้นเอง