ไม่พบผลการค้นหา
สุดสัปดาห์ก่อน ผมแอบไปสังเกตการณ์วันก่อนตั้ง “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ใครต่อใครว่ากันว่า จะเป็นพรรคทหาร 4.0 บรรยากาศมีทั้งความยิ่งใหญ่อลังการ และประดักประเดิดเล็กๆ น้อยๆ

ที่ว่ายิ่งใหญ่อลังการ เพราะมีการปิดห้องประชุมใน Impact เมืองทองธานี ที่แสงสีจัดเต็ม และมีการจัดงานอย่างเป็นระบบ งานเริ่มและเลิกตามกำหนดเวลาเป๊ะๆ

ส่วนที่ประดักประเดิด คือลักษณะการจัดงานคล้ายเป็น “งานอีเว้นต์” เสียมากกว่าการประชุมคณะผู้จัดตั้งพรรคอย่างจริงๆ จังๆ

ตัว อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ว่าที่หัวหน้าพรรคก็เกร็งๆ กับการโดดจาก “งานวิชาการ” มาเริ่มต้นทำ “งานการเมือง” ถึงขั้นพูดชื่อพรรคผิด (จากพลังประชารัฐเป็นพลังประชาชน) และลืมแนะนำรายชื่อกรรมการบริหารพรรค จนทีมงานต้องส่งโน้ตมาให้บนเวที

ตอนที่ตอบคำถาม ก็จะมีทีมพีอาร์คอยมายืนเงี่ยหูฟัง และสะกิดให้วงเลิกมาถึงคำถามแหลมคม

หรือบางครั้งที่เจอคำถามตรงๆ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ว่าที่เลขาธิการพรรค ที่ดู “เป็นการเมืองมากกว่า” ก็จะโดดเข้ามาช่วยตอบคำถามบ้าง

แต่นอกเหนือจากนั้นก็ไม่มีอะไรผิดปกตินัก พรรคพลังประชารัฐได้เปิดตัวสู่บรรณพิภพการเมืองไทยอย่างเป็นทางการ

เอาจริงๆ ก็เป็นเรื่องน่ายินดี หากรัฐบาลทหารหรือใครจะแปลงร่างมาลงการเมือง ผ่านการจัดตั้งพรรคแล้วสู่ในสนามเลือกตั้ง ใครได้ ส.ส.มากกว่าก็จะมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล ตามครรลองของประชาธิปไตย

แม้หลายฝ่ายจะกังวลอยู่บ้างว่า ผู้มีอำนาจยุคปัจจุบันจะทำอะไรที่เป็นการลำเอียง หรือทำให้บางพรรคได้เปรียบหรือไม่ จากประสบการณ์ช่วงของการทำประชามติรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 ที่ยังหลอกหลอนหลายๆ อยู่จนถึงทุกวันนี้ (ฝ่ายสนับสนุนรณรงค์สบาย ฝ่ายคัดค้านถูกจับ เป็นคดีความ ขณะที่หัวหน้ารัฐบาลก็ออกมาประกาศจุดยืนว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ควรวางตัวเป็นกลาง)

แต่เมื่อก้าวมาสู่การเมืองแล้ว สิ่งแรกๆ ที่จะต้องเจอ ก็คือการถูกตรวจสอบ

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา 4 รัฐมนตรีค่ายพลังประชารัฐ ถูกสื่อตั้งคำถามหนักหน่วงว่าจะลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ ซึ่งแต่ละคนออกอาการบ่ายเบี่ยง ให้คำตอบกว้างๆ เพียงว่า “เมื่อถึงเวลา” ถึงจะทิ้งหมวกอื่นๆ ให้เหลือเพียงใบเดียว

อุตตมถึงกับประกาศในวงให้สัมภาษณ์ว่า “พวกผมจะสร้างบรรทัดฐานที่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำมาก่อน” แต่ไม่ให้รายละเอียดชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ก็ตอบคำถามถึงผู้สื่อข่าวเรื่องธรรมาภิบาลว่า “แล้วรัฐบาลชุดก่อนมีหรือไม่!”

เอาเข้าจริง พรรคพลังประชารัฐถือเป็นพรรคที่รักษาความลับได้แย่มาก เพราะทุกๆ ก้าวที่สื่อรายงาน ปรากฏว่าถูกต้องเกือบ 100%

ทั้งตอนยื่นจองชื่อพรรคที่ ชวน ชูจันทร์ เป็นผู้ไปยื่นต่อ กกต. ที่ถูกจับจ้องแต่แรกว่า พรรคนี้นี่แหล่ะจะเป็นนอมินีของรัฐบาล ของ คสช.

ทั้งชื่ออุตตม-สนธิรัตน์ ที่มีข่าวตั้งแต่ 6-7 เดือนก่อนแล้วว่า จะมาเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการของพรรค

ทั้งบทบาทของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่เป็นมากกว่า “ที่ปรึกษาทางใจ”

ทั้งการดูดอดีต กปปส. กลุ่มพลังชล หรือกลุ่มสามมิตร ให้มาเข้าร่วมพรรคสีน้ำเงินครามนี้

ตอนนี้ก็เหลืออีกแค่ไม่กี่สเต็ปท์ที่สื่อรายงาน ซึ่งต้องใช้เวลาพิสูจน์กันต่อไปว่าจะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ยังจะแม่นเหมือนเดิมอยู่ไหม

ทั้งเรื่องที่ทหารจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเกื้อหนุนพรรคนี้

กับเรื่องที่ว่า ที่สุดแล้วพรรคนี้จะเป็นผู้เสนอชื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สืบทอดอำนาจต่อไป

เรื่องความพยายามในการ “สืบทอดอำนาจ” ของบิ๊กตู่ หลายๆ คนคิดว่า เริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ตอนที่เจ้าตัวไปพบโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงปลายปี 2560 แล้วไปหลุดปากบอกกับคนไทยในสหรัฐฯ ที่ส่งเสียงเชียร์ให้ได้เป็นนายกฯ ต่อไปว่า “กำลังหาพรรคอยู่”

ไม่รวมถึงการเปลี่ยนท่าที ช่วงต้นปี 2561 จากที่เคยยืนยันมาตลอดว่า ไม่ใช่นักการเมือง ถึง 8-9 ครั้ง ก็เปลี่ยนมาเป็น “เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร”

หรือในสัปดาห์ก่อน ที่จู่ๆ ก็พูดขึ้นมาเองว่า สนใจงานการเมือง

แต่ก็มีคนกระซิบว่า แท้จริงแล้ว ความพยายามในการสืบทอดอำนาจ มีมาตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่ คสช.ส่งหนังสือถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้เพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องให้มี ส.ว.แต่งตั้ง เข้าไปในรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งๆ ที่ดั้งเดิมแล้ว กรธ.กำหนดให้ ส.ว.มาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ

ก่อนที่จะมีการเขี่ยบอลรับลูกกันเรื่องให้มี “คำถามพ่วง” ที่ให้ ส.ว.แต่งตั้งเลือกนายกฯ ได้ในช่วง 5 ปีแรก (แปลว่าจะได้ร่วมเลือกนายกฯ อย่างน้อย 2 คน)

จนกลายเป็น “พรรค ส.ว.” ที่มีเสียงในมือถึง 250 เสียง ในขณะที่พรรคการเมืองและว่าที่พรรคการเมืองอื่นๆ กว่า 140 พรรค จะต้องไปแย่ง ส.ส. อีก 500 เสียงที่เหลือ

แล้วประชาชนจะมีส่วนในการเลือกนายกฯ หรือกำหนดให้ใครเป็นรัฐบาล มากน้อยแค่ไหน?

ถ้าคำนวณกันแบบหยาบๆ การเลือกตั้งปี 2554 ประชาชนมีโอกาสได้กาเลือก ส.ส.2 ประเภท ในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นั่นอาจแปลง่ายๆ ว่า เรามีสิทธิเลือก ส.ส. 2 คน จากทั้งหมด 500 คนไปเลือกนายกฯ หรือมีส่วนร่วม 0.40%

แต่การเลือกตั้งในปี 2562 เราจะได้กาเลือก ส.ส. ในบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว ซึ่งคะแนนทั้งประเทศจะถูกนำไปคำนวณ ส.ส.ที่พรรคนั้นๆ จะได้แล้วหัก ส.ส.เขตที่ได้ไปแล้ว แปลว่าเต็มที่เราก็เลือก ส.ส.ได้เพียงคนเดียว จาก ส ส.และ ส.ว.ที่มีสิทธิโหวตเลือกตั้งนายกฯ 750 คน หรือมีส่วนร่วม 0.13%

หรือเรามีส่วนร่วมลดลงถึงสามเท่า! (แต่ยืนยันอีกครั้งว่านี่คือการคำนวณกันอย่างหยาบๆ และสุดโต่ง โดยสมมุติว่า คนที่เราเลือกได้เป็น ส.ส.จริงๆ)

ส่วนคนที่มีสิทธิมากกว่าประชาชน ก็คือคณะบุคคลชื่อ คสช. ที่มีเสียงตุนไว้แล้ว 250 เสียงจาก ส.ว. คิดเป็น 33.34%

แต่ ส.ว.ถึงจะเลือกนายกฯ ได้ ก็ปกป้องนายกฯ ที่ตัวเองเลือกผ่านกลไกการตรวจสอบอื่นๆ ในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีเฉพาะ ส.ส.เป็นสมาชิก ทั้งอภิปรายงบประมาณ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ตั้งกระทู้ถาม ฯลฯ ไม่ได้

จึงจำเป็นที่จะต้องมีพรรคการเมืองขึ้นมา เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ ทำหน้าที่รวบรวม ส.ส. ผ่านแรงดูดต่างๆ ให้มีจำนวนมากพอที่ฝ่ายค้านหรือฝ่ายตรงข้ามในสภาผู้แทนราษฎร จะทำอะไรผู้นำของพวกตนไม่ได้

และนี่อาจเป็นกำเนิดของ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ใน VTR เปิดตัวพรรคไม่ได้บอก?

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog