นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลฯ ตามที่มีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่อยู่ในระหว่างปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ ครม.พิจารณา ว่ามีเนื้อหาประเด็นสำคัญไม่มีความแตกต่างไปจากร่างเดิม รวมถึงชี้ให้เห็นถึงอันตราย 8 ด้านของร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฉบับปรับปรุงดังกล่าว อาทิ ประเด็นทำลายประชาธิปไตยและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนทำให้กระบวนการยุติธรรมล้มเหลว ส่งเสริมให้เกิดรัฐตำรวจ ปราบปรามศัตรูทางการเมือง
ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯ ขอชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นและได้มีข้อกังวลจากภาคส่วนต่าง ๆ ก็ได้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ โดยเน้นหลักการไม่ให้ขัดแย้งกับกฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้ว รวมทั้ง ช่วยสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ และสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิบัติงาน บุคลากร กรอบงบประมาณ เพื่อดูแลปกป้องหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ให้สามารถให้บริการต่อเนื่องโดยเฉพาะการกำหนดกลไกให้มีการถ่วงดุลของผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ ที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากศาล ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลและตามหลักแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกระบวนการยุติธรรมโดยมิได้มุ่งหมายหรือมีเจตนาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือรุกล้ำเสรีภาพส่วนบุคคลแต่อย่างใด ซึ่งได้มีการดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วน ดังนี้
1) กระทรวง และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ ร่วมกันปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ในประเด็นข้อห่วงใย 7 ประเด็น ได้แก่ (1) วันมีผลบังคับใช้ (2) ขอบเขตของกฎหมายความซ้ำซ้อน และการเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่น (3) คำนิยาม (4) องค์กร (5) หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ (CII) (6) การรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ และ (7) บทกำหนดโทษ รวมทั้งได้ประชุมหารือเชิงหลักการร่วมกับส่วนราชการ 20 กระทรวง ฝ่ายความมั่นคงของชาติ และภาคเอกชน รวมทั้ง ภาคประชาสังคม เป็นต้น
2) กระทรวงฯ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างฯ ซึ่งปรับปรุงเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 61 ทางเว็บไซต์ซึ่งเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 16 – 30 พ.ย. 2561
3) ปัจจุบันกระทรวงฯ ได้ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยได้ประชุมไปเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2561 เพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างฯ ให้เป็นไปตามความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเสนอ ครม. และ สนช. ได้ภายในเดือน ธ.ค. 2561
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ประชาสัมพันธ์ชี้แจงกรณีดังกล่าวทางเว็บไซต์กระทรวงฯ และช่องทางโซเซียลมีเดีย และผ่านสื่อมวลชนต่างๆ เพื่อให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงแล้ว และหากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Government Contact Center : GCC 1111)
ดังนั้น กระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความมั่นใจกฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะช่วยปกป้องประเทศไทยจากภัยคุกคามไซเบอร์ และได้คำนึงถึงความเหมาะสมในการถ่วงดุลอำนาจตรวจสอบและระบบบริหารจัดการ เพื่อให้การดูแลความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีความสมดุลและมีประสิทธิภาพ โดยมาจากการสรุปและประมวลผลจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่ผ่านมาประกอบการพิจารณาทุกประเด็น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง