เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ปรึกษากฎหมายของผู้ประกอบการเรือฟินิกซ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ที่เกิดเหตุการณ์เรือล่มที่จ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายรายนั้น ขณะนี้สังคมและสาธารณะยังคงไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องของเจ้าของเรือ, ตัวเรือและบริษัทมากเท่าที่ควร ทั้งที่ความจริงแล้วอยากจะนำเรื่องนี้มาเปิดเผยตั้งแต่ช่วงที่เกิดเหตุใหม่ๆ แต่ด้วยเหตุผลที่ว่ากระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความกังวลเรื่องของผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
ซึ่งนางสาววรลักษณ์ ฤกษ์ชัยการ เจ้าของเรือฟีนิกซ์ และบริษัท ทีซีบลู ดรีม จำกัด ได้ยอมรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนในการทำคดีมาโดยตลอด ในขณะที่เรือฟินิกซ์ล่ม เจ้าของเรือและทีมงานบริษัทฯ ยังลงไปช่วยเหลือนักท่องเที่ยวด้วยตัวเอง และหลังจากมีผู้เสียชีวิต วันรุ่งขึ้นมีโอกาสไปช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องของอาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งต่างๆ คอยบริการให้แก่อาสาสมัครและญาติผู้เสียชีวิตและในการช่วยกู้เรือกู้ภัย จนกระทั่งถูกดำเนินคดีในข้อหาประมาทและทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยทางทนายได้ดำเนินการยื่นขอประกันตัว แต่ทางศาลไม่ให้ประกันตัวเจ้าของเรือ
ทั้งนี้ ขอชมเชยเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ที่ทำคดีอย่างตรงไปตรงมา แต่ยังคงมีข้อคัดค้านในเรื่องของการแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาการเป็นนอมินี ของตำรวจท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้มีพนักงานสอบสวนมาจากสำนักงานตำรวจท่องเที่ยวเข้าไปพบเจ้าของเรือ และมีการบีบบังคับให้เจ้าของเรือรับสารภาพว่าเป็นนอมินีบริษัทร่วมทุน ในขณะที่สนทนากันมีการอัดคลิปเสียงไว้ทั้งหมด จะเป็นหลักฐานสำคัญในการยื่นฟ้องต่อศาลและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นายนิพิฏฐ์ เป็นตัวแทนเจ้าของเรือในการมายื่นหนังสือต่อ พล.ต.ต.ธีระพล ทิพย์เจริญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ว่าสิ่งใดๆ ก็ตามที่เจ้าของเรือทำไปถือว่าเป็นโมฆะ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเจ้าของเรือจะไม่ให้การสอบสวนแก่พนักงานสอบสวนใดๆทั้งสิ้น ถ้ามีคำให้การหรือการสอบสวนเพิ่มเติม ถือให้คำให้การนั้นเป็นไปด้วยความมิชอบ เนื่องจากไม่มีทนายความอยู่ด้วย
ส่วนเรื่องเรือที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนต้องไปตรวจสอบว่าผู้ที่ไปจดทะเบียนเป็นใคร ต้องแยกให้ออกว่าเป็นความประมาทหรือเป็นอุบัติเหตุ และมีความมั่นใจว่า บริษัททำถูกต้องตามกฎหมาย ในช่วงวันที่เกิดเหตุนั้นมีพายุลมแรงเกิดขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเรือล่ม ส่วนเรื่องของการต่อสู้คดี หลังจากนี้จะไปขอดำเนินการไต่สวนต่อศาล ว่าคำคัดค้านของตำรวจไม่มีเหตุผล แต่ใช้เสรีภาพของผู้ต้องหาต่อรอง และใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการกักขังบุคคล ซึ่งจะมีการเดินทางไปยื่นต่อศาลและจะต่อสู้ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญและตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
สำหรับการกู้เรือนั้นทางเจ้าของไม่ประสงค์จะกู้เนื่องจากจมลึกมากและไม่กีดขวางการเดินเรือหรือเป็นมลพิษ และส่วนพนักงานสอบสวนถ้าจะนำมาเป็นหลักฐานในการสอบสวนก็เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนที่ต้องไปกู้เอาเอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง