ไม่พบผลการค้นหา
No - Hit + No - Run การแข่งขันเบสบอลระดับมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติหรือ 'โคชิเอ็ง' ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 103 ปี ของจังหวัดอาคิตะ สร้างความประทับใจและเป็นกระแสทั้งในญี่ปุ่นและประเทศไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา

สัปดาห์ก่อนมีปรากฏการณ์เกี่ยวกับวงการกีฬาที่เป็นกระแสอย่างน้อย 3 เรื่อง หนึ่ง ฟุตบอลทีมชาติไทยแตกรอบแรกในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกม สอง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เชียร์กีฬาแพ้จนท้อ เปรย ถ้า 'โรงเรียนกีฬา' ยังผลงานไม่ดี ผลิตนักกีฬาทีมชาติไม่ได้ก็ควรยุบทิ้ง และสาม ทีมเบสบอลเล็กๆจากบ้านนอก สร้างปาฏิหาริย์สยบบรรดาทีมโรงเรียนดัง ลิ่วสู่รอบชิงชนะเลิศในการแข่งขันเบสบอลระดับมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติหรือ 'โคชิเอ็ง' ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 103 ปี ของจังหวัดอาคิตะ สร้างความประทับใจและเป็นกระแสทั้งในญี่ปุ่นและประเทศไทย

ปรากฏการณ์ทั้งสามเรื่อง ดูผิวเผินเหมือนไม่เกี่ยวข้องอะไรกัน หรืออาจเกี่ยวข้องกันบ้างในสองเรื่องแรก แต่เรื่องที่สามนั้นน่าสนใจ เพราะเป็นการแข่งขันภายในประเทศญี่ปุ่นแท้ๆ แถมเป็นเพียงกีฬาในระดับนักเรียนมัธยมปลายเท่านั้น แต่กลับสามารถสร้างปรากฏการณ์ร่วมในบ้านเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ

แต่ก่อนจะไปแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องนี้กันสักเล็กน้อย ลองมาดูกันก่อนว่า การแข่งขันเบสบอลครั้งนี้ มีเรื่องราวน่าประทับใจอย่างไรบ้าง

ม้ามืด : โรงเรียนเกษตรคานาอาชิ

ราวกับพล็อตในการ์ตูนมังงะ เมื่อทีมเบสบอลเล็กๆในจังหวัดบ้านนอก มุ่งมั่นฝึกฝน รวมใจเป็นหนึ่ง จนสามารถสร้างความตกตะลึงไปทั่วทั้งประเทศได้ด้วยการพลิกล็อค เอาชนะทีมโรงเรียนชั้นนำจากทั่วประเทศครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งนี่ก็คือ เรื่องราวของโรงเรียนการเกษตร 'คานาอาชิ'  ตัวแทนจากจังหวัดอาคิตะ ที่มีคำขวัญประจำทีมว่า 'จิตวิญญาณแห่งวัชพืช' 「雑草魂」(Zassoudamashii) ซึ่งหมายถึง จิตวิญญาณที่แข็งแกร่งที่พร้อมจะยืนหยัดขึ้นมาได้ไม่ว่าจะโดนเหยียบย่ำซักกี่ครั้งก็ตาม

นับเป็นคำขวัญประจำทีมที่สมกับการเป็นโรงเรียนเกษตรกรเต็มรูปแบบ เพราะนักเรียนโรงเรียนนี้ นอกจากเรียนวิชาสายสามัญทั่วไปแล้ว ยังเน้นศึกษาวิชาที่เกี่ยวกับการเกษตร รวมถึงต้องลงมือปฏิบัติจริงตามเรือกสวนไร่นา ซึ่งก็คงเป็นการออกแบบโรงเรียนให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นอันอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดอาคิตะที่มีชื่อเสียงทางการเกษตรโดยมีสินค้าขึ้นชื่ออย่างสาเกหรือขนมที่ทำมาจากข้าวอาคิตะ

ในด้านเบสบอล ทีมคานาอาชิ ถือว่าเป็นทีมที่มีฝีมือระดับหนึ่ง เคยเป็นตัวแทนของจังหวัดไปโคชิเอ็งหลายครั้ง ก่อนจะทิ้งช่วงยาวนาน ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการกลับมาแข่งขันในรายการโคชิเอ็งในรอบ 11 ปี บรรดาศิษย์เก่าและคนในท้องถิ่นต่างตื่นเต้นและช่วยกันระดมทุนให้กับโรงเรียนทั้งในส่วนของนักกีฬาและทีมเชียร์ โดยตั้งเป้าไว้ที่ 50 ล้านเยน แม้ว่าจะได้มาไม่ถึงเป้าในตอนแรกแต่คิดว่าคงเพียงพอ เพราะคาดการณ์กันว่าพวกเขาคงไปได้ไกลสุดเพียงรอบสองเท่านั้น แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อทีมคานาอาชิสามารถพลิกชนะแบบเส้นยาแดงผ่าแปดหลายต่อหลายครั้งและเข้าสู่รอบลึกขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เงินที่เตรียมเอาไว้ไม่พอและต้องขอรับบริจาคเพิ่ม แต่คราวนี้ผลตอบรับกลับดีเกินคาด เนื่องจากเรื่องของพวกเขาได้กลายเป็นที่พูดถึงในสื่อชื่อดัง เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์เกษตรกรญี่ปุ่นที่รายงานผลการแข่งขันของทีมเกือบทุกเกมในหน้าหนึ่ง เกิดเป็นแรงสนับสนุนที่ส่งมาจากทั่วประเทศ ในที่สุดเงินบริจาคก็เกินเป้า 50 ล้านเยนไปได้อย่างสบายๆ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นทีมขนาดเล็กทำให้ทีมคานาอาชิที่มีสมาชิกตัวหลักเพียง 9 คน ต้องลงแข่งขันแบบแทบไม่ได้พักตลอดทั้งทัวร์นาเมนท์ นักกีฬาจึงมีทั้งอาการเหนื่อยล้าและบาดเจ็บ สุดท้ายเมื่อต้องเจอกับปราการสุดท้ายอันสุดหินอย่างโรงเรียนโอซากาโทอิน อดีตแชมป์โคชิเอ็งหน้าร้อน 4 สมัย ที่เพิ่งคว้าแชมป์ฤดูใบไม้ผลิมาหมาดๆ  แถมยังมีสมาชิกที่มีดีดรีนักเบสบอลทีมชาติญี่ปุ่น รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี อยู่ในทีมถึง 4 คน ผลที่ออกมา ทีมคานาอาชิจึงพ่ายแพ้ไปขาดลอยอย่างไม่พลิกความคาดหมาย  2 - 13 แต้ม  

แต่ถึงจะพ่ายแพ้ การแข่งขันนี้ครั้งนี้ก็คือ ปาฏิหารย์แห่งโคชิเอ็ง ครั้งที่ 100 ที่กำลังส่งยิ้มให้กับทุกความฝัน ทีมที่ไม่มีผู้เล่นที่มีชื่อเสียงหรือต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆมากมาย แต่ด้วยความมุ่งมั่นและความพยายาม ทำให้ทีมคานาอาชิกลายเป็นความทรงจำแห่งฤดูร้อนอันเจิดจ้า และเรื่องราวของพวกเขาคงจะถูกพูดถึงอีกในทุกๆครั้ง เมื่อฤดูกาลแข่งขันในครั้งหน้าหรือครั้งต่อๆไปมาถึง

โคชิเอ็ง : ความสำเร็จของกีฬาระดับมัธยมปลาย

นอกจากความตื่นเต้นที่ชวนลุ้นไปกับเกมการแข่งขันของทีมคานาอาชิ เช่นในรอบ 16 ทีม ที่พวกเขาผ่านทีมดังด้วยการโชว์ทีเด็ดพลิกกลับมาชนะในการทำโฮมรันในอินนิ่งที่ 8 หรือกระทั่งมีพิชเชอร์ที่สามารถขว้างสไตรค์ได้ด้วยความเร็วสูง 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กันก็คือ บรรยากาศบนอัฒจรรย์ที่มองขึ้นไปก็จะพบกองเชียร์นับหมื่นคนบนนั้น เป็นอินเนอร์ที่มีให้กับเกมกีฬาแม้ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาในระดับมัธยมปลายเท่านั้น ซึ่งสะท้อนภาพความคึกคักและความสำเร็จของวงการกีฬาญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี  

000_Hkg8885628.jpg

แต่สิ่งเหล่านี้คงไม่ได้มาเพราะโชคช่วย ปัจจัยความสำเร็จในวงการกีฬาของพวกเขาอยู่ตรงไหน ทำไมจึงมีบรรยากาศที่คึกคักแตกต่างไปจากวงการกีฬาในบ้านเรา เรื่องนี้ก็น่าประเด็นสนใจที่น่ามาร่วมกันหาคำตอบไม่น้อย

หากมองกว้างๆ ปัจจัยหนึ่งที่ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คือ โครงสร้างการปกครองในญี่ปุ่นมีการกระจายอำนาจอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ระบบการศึกษาหรือ 'โรงเรียน' ของไทยขึ้นอยู่กับส่วนกลางเป็นหลัก ทำให้นักเรียนซึ่งเป็นดอกผลจากการศึกษามีระยะห่างหรือกลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับชุมชน แต่ในญี่ปุ่นทุกโรงเรียนล้วนอยู่ภายใต้สังกัดของท้องถิ่น ไม่ว่าระดับจังหวัดหรือเทศบาล ผู้บริหารและสภาล้วนมาจากการเลือกตั้งและเปรียบเสมือนเป็น 'รัฐบาลท้องถิ่น' ที่มีความใกล้ชิดประชาชน กระตุ้นให้เกิดพลวัตรด้านอื่นๆตามมา ไม่ว่า สื่อท้องถิ่นที่เข้มแข็ง การสร้างอัตลักษณ์ตัวตน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่เพิ่มมูลค่า รวมไปถึงโรงเรียนและการกีฬาที่เป็นเสมือนภาพตัวแทนแห่งความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะหากสามารถออกไปแข่งขันและประสบความสำเร็จในระดับประเทศได้ ก็คือความสำเร็จที่ร่วมกันสร้างขึ้นจากท้องถิ่นนั่นเอง

ปัจจัยต่อมา หากมองย่อยลงไปในระบบโครงสร้างของโรงเรียน คุณค่าชุดหลักของโรงเรียนในบ้านเราก็คือ การมุ่งหน้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ในขณะที่ความสำเร็จหรือความฝันแบบอื่นแทบไม่ค่อยมีพื้นที่ให้ปรากฏตัว หากมองผ่านโรงเรียนการเกษตรคานาอาชิ จะพบว่าท้องถิ่นสามารถสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนได้หลายแบบ เช่นการให้ความสำคัญกับการเกษตร แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเปิดทางให้ความฝันแบบอื่นเติบโตขึ้นได้ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมในรูปแบบชมรมอย่างเป็นจริงเป็นจัง ซึ่งโครงสร้างการศึกษาแบบนี้ก็เห็นได้บ่อยๆ ไม่ว่าจากในการ์ตูน ละคร หรือภาพยนตร์ญี่ปุ่น กล่าวคือ พวกเขาใช้ชมรมเป็นเสมือนพื้นที่บ่มเพาะความสนใจรวมไปถึงการค้นหาตัวตนของวัยหนุ่มสาว เป็นการเปิดพื้นที่ให้เป้าหมายอันหลากหลายม��ทางเลือกเดินได้มากมายกว่าจะเป็นการกรอบให้มองเห็นความสำเร็จเพียงแบบเดียวคือการมุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยเท่านั้น

000_Hkg4742447.jpg

ส่วนปัจจัยที่ชวนมองประการสุดท้าย นั่นคือ การมีโครงสร้างที่ต่อยอดเป้าหมายโอบอุ้มความฝัน แน่นอนว่าการได้ไปแข่งในโคชิเอ็งอาจเป็นการความทรงจำที่ดีในช่วงชีวิตวัยรุ่น แต่คงไม่ใช่เพียงเท่านั้น เพราะสิ่งที่รองรับอยู่ข้างหลังคืออุตสาหกรรมกีฬาขนาดใหญ่และสปอร์ตไลท์ที่สาดส่อง สำหรับกีฬายอดนิยมอย่างเบสบอลว่ากันว่าสามารถดึงดูดผู้คนเข้าไปดูในสนามได้มากกว่า 15 ล้านคนในแต่ละปี และยังมีที่คอยติดตามการแข่งขันผ่านสื่อในแต่ละวันอีกนับล้าน ทำให้มีการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องในด้านอื่นๆที่ตามมาอีกมากมาย 

ในญี่ปุ่น ไม่เพียงกีฬาเบสบอลกับการแข่งขันที่โคชิเองเท่านั้นที่เป็นที่จับตา กีฬาระดับมัธยมปลายหลากชนิดอย่างอินเตอร์ไฮด์ (Inter-Highschool Championships) รวมทั้ง การแข่งต่างๆที่แยกย่อยออกไปตามฤดูกาล แม้จะได้รับความนิยมน้อยกว่าเบสบอล แต่ก็ยังคงอยู่ในกระแสความสนใจของสื่อ หรืออย่างน้อยก็มีสื่อท้องถิ่นที่ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับบรรดาแมวมองและสปอร์นเซอร์ที่พร้อมจะเข้ามาสนับสนุนต่อยอด สำหรับเด็กๆญี่ปุ่น การที่อุตสาหกรรมการกีฬาที่เติบโต ทำให้พวกเขามั่นใจว่า การทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อม นอกจากจะเป็นการตอบสนองวิญญาณอันเร่าร้อนแล้ว ยังสามารถเป็นอาชีพมีความมั่นคงและมีชื่อเสียงได้อีกด้วย

 ไทยแลนด์ : ปู๊นๆ ส่งเสียงเชียร์ไป แล้วไงต่อ

"ขอให้ช่วยกันส่งกำลังใจไปให้นักกีฬาที่ไปแข่งขันด้วย ตอนมารับมอบโอวาทก็อวยพรดีๆ ให้กับทุกคน แต่ผลงานกลับไม่น่าพอใจ ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการทั้ง 77 จังหวัด คัดตัวแทนนักกีฬาเก่ง ๆ มาแข่งกับกับนักกีฬาทีมชาติ ถ้าแพ้ให้คัดออก ให้โรงเรียนกีฬาเน้นผลสัมฤทธ์มากกว่าปริมาณ ผลิตทรัพยากรให้มีคุณภาพ ไม่ใช่แต่ละปีผลิตนักกีฬาทีมชาติได้ปีละ 2-3 คน ถ้าเป็นแบบนั้นยุบโรงเรียน แล้วนำงบประมาณไปสนับสนุนโรงเรียนปกติดีกว่า"

หลังความพ่ายแพ้ในหลายชนิดกีฬาในมหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาเปรยแบบทีเล่นทีจริงถึงการ 'ยุบโรงเรียนกีฬา'   ซึ่งความจริงแล้วอารมณ์ตอบสนองแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติของกองเชียร์ที่พบเห็นได้เสมอ โดยเฉพาะในวัฒนธรรมการเชียร์แบบบ้านเรา หากชนะก็เป็นฮีโร่ แต่ถ้าแพ้ก็หนีไม่พ้นจะต้องมองหาใครสักคนมาเป็นผู้ผิด ซึ่งบางครั้งอาจเป็นผู้เล่นดาวเด่นที่บังเอิญโชว์ฟอร์มไม่ออก แบบเอากันถึงขั้นที่ต้องพาไปสาบานต่อหน้าพระแก้วมรกตเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ออกสื่อก็เคยมีมาแล้ว หรือบางครั้งแรงกดดันก็ไปตกอยู่ที่ทีมงาน โค้ช และสมาคมที่รับผิดชอบ กระทั่งล่าสุดที่หวยมาออกที่ 'โรงเรียนกีฬา' ในรอบนี้

แต่จะว่าไป เรื่องนี้ก็ใช่จะไม่มีเหตุผลเสียทีเดียว เพราะโรงเรียนกีฬาเองไม่ใช่แหล่งรวมหัวกระทิด้านกีฬาที่รอรับการเจียระไนเพื่อเป็นนักกีฬาชั้นยอดป้อนให้กับทีมชาติมานานแล้ว ในความเป็นจริงและที่ใครๆต่างก็มองเห็นคือ บรรดานักกีฬาที่หัวกระทิเหล่านั้นมักเลือกที่จะรับโควต้านักกีฬาจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเสียมากกว่า

ส่วนนักเรียนที่เลือกเข้าสู่โรงเรียนกีฬา คงต้องยอมรับความจริงกันว่ามาจากเหตุผลอื่นๆ เช่น อาจไม่ชอบเรียนวิชาการ แต่มีร่างกายที่แข็งแรงหรือมีทักษะด้านกีฬาระดับหนึ่ง หรือกระทั่งเกี่ยวข้องกับฐานะทางบ้าน เพราะการเรียนในโรงเรียนกีฬามีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง มีอาหารพร้อมกับหอพักให้ เมื่อจบการศึกษา หลายคนอาจเลือกศึกษาต่อเพื่อเป็นครูพละซึ่งมีความมั่นคงในสายราชการ หรือใช้วุฒิการศึกษาเพื่อหางานทำ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงเลือกเล่นกีฬาต่อ เช่น ได้โควต้าเพื่อเป็นนักกีฬาในมหาวิทยาลัย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความผิดหวังของนายกรัฐมนตรีต่อความพ่ายแพ้ของทีมชาติ และความผิดหวังที่โรงเรียนกีฬาไม่สามารถผลิตนักกีฬาป้อนทีมชาติได้ตามวัตถุประสงค์ ที่จริงแล้วปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนกีฬาเท่านั้น หากแต่คำถามตัวใหญ่ก็ควรย้อนกลับไปที่ 'รัฐบาล' ว่า มองเห็นความสำคัญหรือมีวิสัยทัศน์ต่อการพัฒนากีฬาอย่างเป็นระบบมากน้อยแค่ไหน  หรือสุดท้ายยังคงมองว่า กีฬาเป็นเพียงกิจกรรมทั่วไปที่ควรส่งเสริมเพื่อให้ประชากรมีร่างกายกำยำล้ำเลิศ ,เกิดความสามัคคี หรือเพื่อต้านภัยยาเสพติด อย่างที่ไม่เคยมีความเปลี่ยนแปลงมาตลอดหลายทศวรรษ

หากมองภาพให้ชัด ทุกวันนี้แรงจูงใจของนักกีฬายังคงผูกติดแนบแน่นกับโครงสร้างอุปถัมป์ เมื่อได้รับชัยชนะในการแข่งขันรายการใหญ่ นอกจากเงินรางวัลอัดฉีดจำนวนมากที่ทุ่มให้เป็นครั้งคราวแล้ว สิ่งตอบแทนของนักกีฬาอาจเป็นการได้เข้าพบผู้หลักผู้ใหญ่ในทำเนียบรัฐบาลเพื่อรับคำชม และสิ่งที่นักกีฬามักร้องขอต่อไปก็คือ การติดยศและเข้ารับราชการในสังกัดทหารหรือตำรวจเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิต  

เพราะปัจจุบันยังมีเพียงไม่กี่ชนิดกีฬาเท่านั้นที่เติบโตพอจะวางเป้าหมายในการเป็นนักกีฬาอาชีพได้ เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล หรือแบดมินตัน ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องของการเติบโตตามจังหวะโอกาสและเป็นกระแสที่เกิดจากผลงานของนักกีฬาหรือบางสมาคมกีฬาเองมากกว่าจะเป็นเรื่องที่ออกมาจากวิสัยทัศน์ของรัฐ

ยิ่งมองลึกลงไปในตัวของนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จหลายๆคน จะพบว่ายังคงมาจากความทุ่มเทของครอบครัวนักกีฬาเอง เช่น เจ (ชนาธิป สรงกระสินธ์), บอล (ภราดร ศรีชาพันธ์), (เม) เอรียา จุฑานุกาล,(ต๋อง)รัชพล ภู่โอบอ้อม หรือ (ซันนี่) อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ ที่ล้วนมีพ่อเป็นแรงหนุนสำคัญแทบทั้งสิ้น 

แตกต่างจากหลายประเทศที่ลงทุนสนับสนุนวางยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ เพื่อให้กีฬาเป็นเรื่องของการพัฒนาคนและเศรษฐกิจ นอกจากญี่ปุ่นเห็นตัวอย่างไปบ้างแล้ว อย่างในสหรัฐอเมริกา กีฬาคืออุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมมากกว่า 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของ GDP เช่นเดียวกับจีนที่กำลังพัฒนาการกีฬาอย่างต่อเนื่องจนสามารถ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึงร้อยละ 0.2 ของ GDP

นอกจากไม่มีทิศทางที่ชัดเจน หากทบทวนไปที่งบประมาณในการสนับสนุนวงการกีฬาไทยก็ยิ่งทำให้เห็นภาพของการขาดแรงสนับสนุนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ ปี 2550-2557 พบว่า วงการกีฬาได้รับงบประมาณเพียงปีละ 200-400 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีมานี้ หลัง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ประกาศใช้ โดยกำหนดให้เงินรายได้จากภาษีสรรพสามิตด้านสินค้าสุราและยาสูบ หรือที่เรียกกันติดปากว่า 'ภาษีบาป'  ต้องจัดสรรเป็นงบประมาณสนับสนุนให้กับ 'กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ' ในอัตราร้อยละ 2 เมื่อคิดเป็นตัวเงินแล้วก็ประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบัน กองทุนนี้ที่มีงบประมาณมากกว่าเดิมถึงสิบเท่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ 'พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ'  แต่หากถามถึงด้านรูปธรรมความสำเร็จก็คงต้องพูดกันตามตรงว่า ยังมองไม่เห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเดิมนัก

หากเบสบอลเปรียบดังจิตวิญญาณการศึกษาของญี่ปุ่นดังที่การ์ตูนบางเล่มเคยกล่าว การพัฒนาวงการกีฬาก็คือ แกนสำคัญในการวางอนาคตของประเทศเช่นกัน และหากมองผ่านความสำเร็จของวงการกีฬาญี่ปุ่น ก็หมายความว่าประเทศไทยยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องเริ่มต้นวางรากฐาน เช่น การสนับสนุนงบประมาณกิจกรรมชมรมต่างๆ ไม่ว่าบุคลากรผู้ฝึกสอนมืออาชีพ อุปกรณ์ และสถานที่ฝึกซ้อมที่มีมาตรฐาน จะสามารถเกิดขึ้นได้หรือจริงหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา นอกจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการรับนักศึกษาไปเรื่อยๆแทบจะทุกปีแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นความเคลื่อนไหวใดๆเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาในทิศทางแบบนี้

เช่นเดียวกับโรงเรียนกีฬาที่ทุกคนต่างก็รู้ดีว่าไม่ใช่สถานที่สร้างนักกีฬา แต่เป็นต้นทางในการผลิตบุคลากรอย่างครู โค้ช หรือเทรนเนอร์จำนวนมาก หากไม่ตัดสินใจง่ายๆด้วยการยุบทิ้ง ทำไมจึงไม่มองหาวิธีการปรับเปลี่ยนบทบาทให้เป็นโรงเรียนผลิตบุคลากรด้านการฝึกสอนที่มีศักยภาพตรงกับบริบทที่เป็นจริง  

ส่วนอีกคำถามที่สำคัญก็คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรการกระจายอำนาจอย่างกว้างขวาง สนับสนุนการสร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็ง และโรงเรียนควรขึ้นกับท้องถิ่นหรือไม่ ก็อีกเรื่องที่น่าจะต้องมาร่วมถกคิดกันอย่างตกผลึกเสียที     

แต่ในความผิดหวังของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีสิ่งที่น่าเศร้ายิ่งกว่าก็คือ การมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ยังเต็มไปด้วยคำว่า 'ความมั่นคง' มากกว่า 200 คำ และ 'ภัยคุกคาม' ถึงอีก 41 คำ จนดูเหมือนเป็นภาพสะท้อนความต้องการสร้างจิตวิญญาณแห่งสงครามเย็นมากกว่าการสร้างอนาคต  ยุทธศาสตร์ยังคงสอดคล้องไปกับงบประมาณ ซึ่งตลอด 3 ปี ของรัฐบาลทหาร มีการจัดซื้ออาวุธไปแล้วกว่า 72,714 ล้านบาท เช่นเดียวกับงบประมาณกลาโหมที่สูงมาตลอด (และยังคงเป็นเช่นนั้นในงบประมาณ ปี 2562 ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของ สนช. ) ในขณะที่หากมีวิสัยทัศน์ใหม่ๆที่มองเห็นโอกาสการเติบโตของประเทศจากการจัดสรรงบมาลงทุนในระบบการศึกษาและพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาอย่างเต็มที่ ทิศทางยุทธศาสตร์ชาติก็อาจจะออกไปอีกทางหนึ่ง และความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่วาดหวังไว้ก็คงดูเป็นได้จริงมากกว่านี้  

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บริบทที่เป็นอยู่ การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงใดๆย่อมเป็นเรื่องยาก แต่ในเมื่อจิตวิญญาณแห่งวัชพืชยังสามารถสร้างปาฏิหารย์แห่งโคชิเอ็ง ครั้งที่ 100 ได้ แล้วทำไมหากสังคมไทยจะมีความเชื่อและมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงบ้าง ปาฏิหารย์จะเกิดกับพวกเราบ้างไม่ได้

มองเห็นพระอาทิตย์นั่นไหม..จงวิ่งมุ่งหน้าวิ่งไปเพื่อรับแสงตะวันอันเจิดจ้าของวันใหม่กันนะทุกๆคน


ขอขอบคุณข้อมูล

Facebook page  Working Along : ว่าด้วยโคชิเอ็งปีนี้

Facebook page  Working Along :ยังวนเวียนอยู่กับโรงเรียนการเกษตรคานาอาชิ

Facebook page  Nut Kun นัทคุง :โรงเรียนไม่ได้มีกฎว่า ขโมยแอปเปิ้ลแล้วจะโดนพักการเรียน ขโมยลูกแพร์แล้วจะโดนไล่ออก ห้ามแกล้งหมู

mainstand.co.th : โรงเรียนเกษตรคานาอาชิ : ปาฏิหาริย์แห่งโคชิเอ็งครั้งที่ 100 ที่ราวหลุดออกมาจากมังงะ

ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์: การปฏิรูปกีฬาไทย

กรุงเทพธุรกิจ : 'บิ๊กป้อม' สยายปีก คุมกีฬางบ4พันล้าน!

pantip : “เห็นพระอาทิตยนั่นไหม! วิ่งไปเลยพวกเรามุ่งสู่โคชิเอ็ง โอทส์สสสสส

สถาบันพระปกเกล้า : การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นญี่ปุ่น