วันที่ 25 ม.ค.2567 ที่อาคารรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ เดินทางเข้ารัฐสภาครั้งแรก ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมติโดยเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) วินิจฉัยว่าในวันที่ 4 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร สส. แบบบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากในวันดังกล่าว บริษัท ไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ดังนั้น สมาชิกภาพ สส. ของ พิธา ไม่สิ้นสุดลง
โดย พิธา กล่าวถึงความรู้สึกของก้าวแรกในสภาฯ ว่าเป็น ไออุ่นที่คุ้นเคย รวมเวลาตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็น 6 เดือน ที่ไม่ได้มีโอกาสแถลงข่าวต่อสื่อ และประชาชนที่สภา ยังรู้สึกว่าสภาเป็นพื้นที่รวมตัวของประชาชน คิดถึงบรรยากาศอย่างนี้
ส่วนตั้งใจใส่เนคไทมาเป็นลูกเล่นใช่หรือไม่ พิธา กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะเมื่อเช้ารีบไปรายการ จึงเอาเนคไทเส้นที่มองซ้ายมองขวา และจำได้ ว่าตอนที่เราชูกำปั้นเราใส่เนคไทเส้นนี้ เลยนึกสนุกขึ้นมา
"คงไม่ใช่กิมมิคอะไรพิเศษ แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ออกไปด้วยแบบไหนก็กลับมาแบบนั้น คิดว่า เป็นดีทัวร์ เป็นการอ้อม แต่เป้าหมายในการเดินทางของเรายังต้องทำต่อ ถึงแม้ว่าจะหายไป 6 เดือนก็ตาม"
ส่วนเสียดายเวลา 6 เดือนที่หายไปหรือไม่นั้น พิธา กล่าวว่า เสียดายที่ไม่มีโอกาสในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ซึ่งคงไม่มีใครบอกได้ ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร หรือถ้ามีครั้งที่ 2 แล้วดีขึ้น จะกลายเป็นครั้งที่ 3 หรือไม่ แต่เราบริหารจัดการเวลาได้ ใช้เวลา 6 เดือนในการพบปะพี่น้องประชาชน ทำงานกับเพื่อน สส.ที่อยู่ข้างหลังในการลงพื้นที่ตอนถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
โดยจะใช้ข้อมูลที่ได้จากการประชุมกับผู้นำท้องถิ่น มาอภิปรายในวันที่ 26 ม.ค.ที่จะถึงนี้ เรื่องปัญหาขยะล้นเมือง และการจัดการขยะ ใน จ.สมุทรปราการ และ จ.ภูเก็ต ในญัติติของพรรคภูมิใจไทย เพราะฉะนั้น ไม่เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
เมื่อถามว่า ภารกิจแรกในการกลับมาเป็น สส.คืออะไร พิธา กล่าวว่า คุยกับเพื่อน สส. ทักทายกันให้หายคิดถึง อาจจะแวะไปพูดคุยกับนักศึกษาที่มาสภาในวันนี้ รอจังหวะที่ไม่รบกวน สส.ที่อภิปรายอยู่เดินเข้าห้องประชุมใหญ่ และเตรียมตัวอภิปราย แถลงแผนงานของพรรคก้าวไกลในวันพรุ่งนี้ ว่าเป้าหมายและการทำงานในเชิงปฏิบัติของพรรคเราในปีนี้คืออะไร ประชาชน และสมาชิกจะได้มีส่วนร่วมในการทำงาน
เมื่อถามถึงข้อครหาต่างๆ ที่ผ่านมาของพรรคก้าวไกล จะมีการเดินหน้าต่ออย่างไร พิธา กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจ และขอโทษประชาชน ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.อบบบัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าพรรค ตนก็ไม่อยากเป็นสถาบันที่มีหัวหน้า 2 คน ก็ต้องรู้ที่ของตัวเองว่าเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ก็ต้องให้คำปรึกษากับนายชัยธวัช ซึ่งได้มีการพูดคุยกันตลอด ทั้งในมุมที่จะป้องกันสถานการณ์แบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้น หรือรักษาเมื่อเหตุเกิดแล้ว ก็แสดงท่าทีให้ไว เช่น ให้ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรต ออกมาชี้แจงในส่วนของความเข้าใจผิดต่างๆ
“จะเรียนรู้จากความผิดพลาด และปรับปรุง โดยที่ไม่แก้ตัว ยอมรับว่าเรายังต้องพัฒนากันอีกเยอะ ประชาชนคงสัมผัสได้ถึงความเป็น พัฒนาการความเป็นสถาบันการเมืองของเรา” พิธา กล่าว
ส่วนจะดำเนินคดีกับ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเป็นผู้ร้องคดีข้างต้นหรือไม่ พิธา กล่าวว่า ไม่มี เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีต ตอนนี้จะใส่ใจกับปัจจุบัน ใช้สมาธิ ทรัพยากรเวลา กับการทำงานในปัจจุบัน และอนาคตที่จะถึง ตามแผนการดำเนินงานที่จะแถลงในวันพรุ่งนี้
เมื่อถามว่าจะมีการกลับไปเป็นหัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่นั้น พิธา กล่าวว่า คำตอบนี้ต้องแยกเป็นสองส่วน หัวหน้าพรรคก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ คือการประชุมวิสามัญของพรรคช่วงเดือน เม.ย. ในส่วนที่สอง ตนไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง ชัยธวัช ก็ทำหน้าที่ได้ดี ตนเองไม่มีความจำเป็นที่จะเป็นหัวหน้าพรรคก็แล้วแต่สมาชิกพรรค ตนและ ชัยธวัช ไม่มีใครยึดติดในตำแหน่ง
เมื่อถามว่าจะมีการเลื่อนประชุมวิสามัญของพรรคหรือไม่นั้น ไม่มีเหตุจำเป็นอะไร เดือน เม.ย. เหมาะสมที่กรรมการบริหารพรรคก้าวไกลทำงานครบ 4 ปีตามวาระ ก็จะต้องมีการเปลี่ยน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีของตน
พิธา ยังกล่าวทิ้งท้ายเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รอบนี้เข้าสภาฯ แล้วไม่ออกใช่ไหม โดยกล่าวติดตลกว่า "ถ้าจะออก ก็ออกไปทำเนียบรัฐบาลอย่างเดียว"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิธา ได้เดินลงจากรถที่อาคารรัฐสภาเมื่อเวลาประมาณ 10.25 น. โดยมีประชาชนจาก จ.เพชรบูรณ์ มาร่วมต้อนรับและแสดงความยินดี โดยหนึ่งในกลุ่มประชาชนบอกว่าเดินทางมาถึงตั้งแต่เที่ยงคืน จากนั้น พิธา ได้ทักทายกับกลุ่ม สส.พรรคก้าวไกล ที่มารอต้อนรับ ก่อนจะขึ้นไปบนอาคารเพื่อรับคืนบัตรประจำตัว สส.
พิธา ได้แสดงความเห็นถึงข้อควรระวังให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกล่าวว่า ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง และไม่ได้ค้านทุกเรื่อง ค้านเฉพาะสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือค้านเพื่อจะแนะนำ และยังเชื่อว่ามีวาระเพื่อประชาชนอีกมากมายโดยไม่ต้องคำนึงว่ามาจากพรรคไหน เช่น สมรสเท่าเทียม, พ.ร.บ.อากาศสะอาด เราเชื่อว่ายังทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ได้
พิธา ยังเผยว่า จะจับตาโครงการแลนด์บริดจ์เป็นพิเศษ เพราะในช่วงที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตนได้สังเกต ว่าโครงการเรือธงของรัฐบาลมี 3 โครงการ ได้แก่ 1. ดิจิทัลวอลเล็ต 2. โครงการแลนด์บริดจ์ 3. ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราเห็นตรงกัน แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่เราต้องพูดคุยกันเป็นพิเศษ จะต้องมองในมุมกว้างและลึก และดูว่าทางเลือกและเป้าหมายคืออะไร
ส่วนความเห็นในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล พิธา กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนมีความเดือดร้อนพอสมควร เศรษฐกิจโตช้าและซบเซาเป็นเวลานาน ซึ่งไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลปัจจุบัน แต่เป็นปัญหาจากการเมืองไทย ที่ไม่มีการปรับโครงสร้าง และทำให้ประเทศเดินช้า
"ขณะเดียวกัน ผมกังวลว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ด้วยการใช้งบประมาณระยะยาว จะทำให้ไม่มีพื้นที่การคลังในการแก้ปัญหาระยะยาว จึงอยากจะชวนรัฐบาลให้คิด ว่าจะมีแผนสองหรือไม่ การกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานราก อย่าดูถูกรายละเอียด หรือโครงการเล็กๆ น้อยๆ ถ้าทำรวมกันอาจทำให้พลังเศรษฐกิจระเบิดขึ้นมาได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการแจกเงินแบบบนลงล่าง หากแก้ปัญหาให้ตรงจุด ก็จะทำให้ช่วยประหยัดงบประมาณ และไม่ต้องกู้เงินสร้างภาระเพิ่มขึ้น"
พิธา ยังกล่าวถึงความคาดหวังที่ให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาตอบกระทู้ถามสภาผู้แทนราษฎรว่า เมื่อหากจะคาดหวังกับใครก็จะต้องเริ่มทำที่ตัวเราด้วย ซึ่งหากวันใดวันนึงที่เราเข้าเป็นรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะต้องกลับเข้ามาตอบกระทู้ด้วยตัวเองจึงหวังว่าถ้าเป็นมาตรฐานที่วางไว้ให้กับตัวเองก็เป็นบรรทัดฐานที่คาดหวังจากคนอื่นได้
ส่วนอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น พิธา ย้อนกลับผู้สื่อข่าวว่า "บอกไปก็ไม่ใช่ความลับ" พร้อมกล่าวต่อว่า ไม่ได้เปิดเผยว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงไหน แต่ขณะนี้มีข้อมูลเข้ามาเรื่อยๆหลากหลายช่องทาง โดยจะเน้นเรื่องเกี่ยวกับความประพฤติมิชอบ เรื่องเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชั่นและความล้มเหลวในการใช้งบประมาณแผ่นดิน
"ขณะนี้ยังคงเตรียมพร้อมข้อมูลและพิจารณาดูจังหวะที่เหมาะสม ที่เรียกว่าจะใช้แบบบาซูก้า หรือรบแบบ 151 หรือ 152 ก็จะพิจารณาดูอีกครั้งนึง โดยยืนยันว่าการทำงานไม่ได้ต้องการที่จะล้มล้างรัฐบาลอย่างเดียวแต่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ "
พิธา กล่าวย้ำว่าการกลับมาทำงานในรัฐสภาครั้งนี้จะเน้นเรื่องสาระเป็นหลัก สีสันเป็นรอง หมดเวลา ทำงานการเมืองวาทะกรรมฉาบฉวย แต่จะต้องทำให้สาระที่ประชาชนเข้าใจได้ซึ่งเป็นศิลปะของสภาผู้แทนราษฎรที่จะทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เชน เรื่อง AI ทำให้ประชาชนเดินดินกินข้าวแกงได้เข้าใจ
ส่วนความกังวลในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดฟังคำวินิจฉัยในคดีนโยบายแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล พิธา กล่าวว่า ความรู้สึกเหมือนตอนคดีไอทีวี เราแยกแยะได้ ว่าอะไรควบคุมได้หรือไม่ได้ ทั้งนี้ ส่วนที่เราควบคุมได้ เราก็ได้ทำเต็มที่