เมื่อเวลา 00.25 วันที่ 13 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายได้ดำเนินการประชุมมาจนถึงช่วงท้าย โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ชี้แจงปิดท้ายโดยขอบคุณทุกความเห็น ทุกคำติชม ทุกคำดูถูกตลอด 2 วันที่ผ่านมานี้ ตนเรียนว่าประเทศเราประสบปัญหายาวนาน ที่บอกว่า ยุคนายกฯคนนั้นคนนี้ดีกว่านายกฯ เศรษฐา แต่ยุคตนเพิ่งเริ่มเมื่่อแถลงนโยบายจบเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ตนยังมือใหม่ แต่ยังมีความตั้งใจจริง ทะเยอทะยาน พร้อมรับฟังทุกคำติชม ทุกท่านที่อยู่ที่นี้ ล้วนเป็นตัวแทนให้ความไว้วางใจสูงสุดเข้ามานั่งในสภาฯ แบกความหวังช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ อะไรที่คิดว่าดีต่อประชาชนก็ช่วยเสนอมา
นายกรัฐนตรี กล่าวว่า ตลอด 2 วันการอภิปรายตนได้้รับฟังฝ่ายค้านและรัฐบาลมาตลอดหลายอย่างเป็นประโยชน์ต่อการทำนโยบายปรับปรุงแต่งเติมนโยบายในอนาคต หลายอย่างรัฐบาลจะนำไปพิจารณา ตนมีเรื่องจะขอชี้แจงต่อรัฐสภา วาระการประชุม 2 วันคือการแถลงนโยบายคือการกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาล และคาดหวังผลลัพธ์บริหารประเทศ ภายใต้รัฐบาลนี้ นโยบายทั้งหมดถูกรวบรวมจากพรรคร่วมทั้งหมดตลอดก่อนวันที่ 14 พ.ค. 2566 ทุกพรรคต่างมีความตั้งใจ มีความจริงใจจะร่วมบริหารฝ่าวิกฤตประเทศ แก้ปัญหาเร่งด่วนที่มีอยู่มากมาย เพื่อนำประเทศของเราเดินไปข้างหน้า
"หลายท่านได้ให้ความเห็น อยากให้มีรายละเอียดเพิ่มเติมในการแถลงนโยบาย ลงลึกมากขึ้นพร้อมตัวเลขชี้วัดอื่นๆ ระยะเวลาไทม์ไลน์ทั้งหลาย ไม่ต้องห่วงครับ มีแน่นอน รัฐบาลจะจัดทำรายละเอียดต่างๆ ให้ครบถ้วน มีที่มางบประมาณ ตัวชี้วัด ไทม์ไลน์ บรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการของแต่ละกระทรวง พร้อมกับผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ที่สำคัญเรื่องของงบประมาณ รัฐบาลก็ทราบดีให้ความสำคัญการบริหารงานถึงงบประมาณทุกนโยบาย ไม่ให้กระทบสัดส่วนหนี้สินสาธารณะที่ถึง 63% สูงขึ้นไปอีกโดยไม่มีเหตุอันควร"
เศรษฐากล่าวว่า ตนและ ครม.เพิ่งเข้ามาทำหน้าที่ใหม่ ทั้งนี้ ต้องขอเวลา เดี๋ยวมีแผนมาให้ดูแน่นอน ขอให้ 4 ปีต่อจากนี้ไป เป็น 4 ปีของพวกเราทำงานหนัก ที่ทุกท่านทำงานอย่างเต็มที่ คุ้มเงินภาษีและความไว้วางใจของพี่น้องประชาชนที่ได้มอบให้ เป้าหมายความสำเร็จของนโยบายที่แถลงจะถูกพิสูจน์ด้วยความเจริญเติบโตของประเทศความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ทั้งเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ความมั่นคง การศึกษา สิทธิเสรีภาพการบังคับใช้กฎหมายและอีกหลายประการ ตนขอเชิญชวนให้ทุกท่านในรัฐสภาอันทรงเกียรตินี้ รว่มประชาชนทุกคนติดตามการทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชานที่มอบหมายให้พวกเรา
ทันทีที่นายกรัฐมนตรีกล่าวเสร็จสิ้น ทำให้ รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ประท้วงว่านายกฯ ที่ไม่ตอบคำถามของพวกตน และเลือกเดินหนีเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี
จากนั้นวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้ตัดบทการประท้วง พร้อมกล่าวขอบคุณทุกฝ่ายให้การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จสิ้นด้วยดี จากนั้นได้ปิดการประชุมในเวลา 00.32 น. วันที่ 13 ก.ย. 2566
'โรม' บี้นายกฯ แแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ตั๋วช้างซื้อขายตำแหน่ง
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 23.00 น. วันที่ 12 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ประเทศชาติมีทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตั๋วช้าง ที่เป็นความท้าทายเรื่องระบบคุณธรรมในระบบราชการ เป็นจุดเริ่มต้นให้ตำรวจทุจริตหาเงินมาซื้อตำแหน่ง ทั้งนี้ ในยุคของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ของตำรวจอย่างไร จะมีตั๋วช้างภายใต้นายกฯ คนนี้หรือไม่ นอกจากตั๋วช้างยังมีการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในที่ที่ไม่รู้จัก ใครไม่ยอมรับจะถูกธำรงวินัยนาน 9 เดือนนี่คือการไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้มีอำนาจ
รังสิมันต์ ได้อภิปรายพาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี โดยถูก วันมูหะมัดอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทักท้วงอย่าพูดถึงชื่อของพล.อ.ประยุทธ์ จากนั้น รังสิมันต์กล่าวว่า อดีตนายกฯ ได้ทำผิดกฎหมาย เศรษฐาจะดำเนินคดีพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ หรือเกรงใจพรรครว่มรัฐบาาลจนไม่กล้าทำอะไรหรือการค้ามนุษย์ ซึ่งตำรวจที่มีผลงานต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ มาถึงวันนี้การทุจริตทั้งหลายทำให้โครงสร้างของเราต้องอ่อนแอ เกิดผู้มีอิทธิพลอย่างเช่น กำนันนก มีตำรวจถูกยิงต่อหน้าตำรวจ 21 คน และนายกฯจะทำอะไรกับเคสนี้ และส่วยทางหลวงจะจัดการหรือไม่ หรือเกรงกลัวตั๋วช้าง ทั้งหมดนี้ทำให้อาชญากรข้ามชาติเข้ามาเสวยสุขได้ ท่านนายกฯ วาดฝันว่านโยบายเช่นนี้จะให้ประเทศมีหลักนิติธรรม ตนอ่านนโยบายแล้วไม่เห็นประเทศจะหลุดพ้นวงจรอุบาทว์ได้อย่างไร
"ท่านนายกฯ จะต้องการแก้ปัญหาทุจริต และยาเสพติดหรือไม่ให้สมกับที่เขียนไว้ในคำแถลงนโยบายเพื่อตัดวงจรยาเสพติด"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่รังสิมันต์ อภิปราย ได้ถูกครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ประท้วงรังสิมันต์ โดยระบุว่า อยากให้ฟังการแถลงนโยบายแล้วค่อยยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ
รังสิมันต์ อภิปรายต่อว่า วันนี้ปัญหาธุรกิจผิดกฎหมายในบริเวณชายแดนหนักหนาขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด การฟอกเงิน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์ เงินจำนวนมากที่ขบวนการเหล่านี้ได้รับมาจากเงินของคนไทย ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสินบน เพื่อซื้อตำรวจ สร้างเครือข่ายพรรคพวก เพื่อทำลายความยุติธรรมของประเทศของเรา ตนหวังว่านายกฯ จะใช้อำนาจที่มี เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อย่าปล่อยทิ้งไว้เหมือนที่ผ่านมา
กดดันรัฐบาลปราบทุจริต -อายัดทรัพย์สิน สว.ทรงเอ - ที่ทำการพรรคการเมืองหนึ่ง
รังสิมันต์ อภิปรายว่า ตนหวังว่า นายกฯ จะใช้อำนาจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าหวังจริงใจปราบทุจริตและยาเสพติด ต้องสั่งการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทำหน้าที่ตัวเอง กับ สว.ทรงเอ ต้องอายัดทรัพย์สินของ สว.ทรงเอ และที่ทำการพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่ง เพื่อตรวจสอบว่าเป็นทรัพย์สินที่มาจากการกระทำความผิดหรือไม่ และขอตัว สว.ทรงเอ แจ้งข้อหายาเสพติด ทั้งนี้ตนไม่ทราบว่า ผบ.ตร.คนปัจจุบันประวิงเวลาทำไม ถ้าท่านอยากฟื้นฟูหลักนิติธรรมประเทศ ยึดอาคารหลังดังกล่าวพิสูจน์ไม่ก้มหัวให้อำนาจใดและไม่ก้มหัวต่อผู้มีอิทธิพล ทลายทุจริตคอร์รัปชันและยาเสพติด
รังสิมันต์ กล่าวว่า ตลอด 1 ทศวรรษเต็มไปด้วยคอร์รัปชัน ข้าราชการน้ำดีทำงานตรงไปตรงมายากจะเจริญก้าวหน้า แต่สุดท้ายเพื่อนรอบข้างสายทุจริตกลับได้ดี ข้าราชการน้ำดีเหล่านี้รับไม่ไหวตัดสินใจลาออก ตำรวจบางคนอย่าง พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ปราบปรามค้ามนุษย์เป็นผู้ลี้ภัย แทนที่เกษียณฯ อยู่กับลูกหลาน
รังสิมันต์ ระบุว่า ตนคิดว่านายกฯที่มาจากพรคเพื่อไทยน่าเข้าใจดีกับผู้ลี้ภัย แต่น่าเศร้าที่ตำรวจน้ำดี อย่าง พล.ต.ต.ปวีณ ซึ่งอยากกลับมาประเทศไทยได้ใช้ชีวิตกับครอบครัว คงไม่ต้องถึงขนาดได้สิทธิพิเศษเหมือนใครบางคนที่ได้รับการลดโทษพักโรงพยาบาลเหมือนโรงแรมห้าดาว ตนขอให้้ ตำรวจน้ำดี อย่า พล.ต.ต.ปวีณ ได้กลับบ้านประเทศนี้ได้บ้าง และหวังว่าในรัฐบาลนี้ตำรวจน้ำดีจะมีที่ยืนไม่เหมือนรัฐบาลที่แล้ว
‘วิโรจน์’ เทียบคำแถลงนโยบายรัฐบาล ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ ทะเยอทะยานกว่า
ขณะที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้อภิปรายสรุปในส่วนของพรรคก้าวไกล โดยในช่วงหนึ่ง ได้ระบุถึงกรณีที่ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงพาดพิงถึงพรรคก้าวไกลว่าขอให้อยู่กับความจริง ไม่ใช่ความฝัน โดยระบุว่าสิ่งที่พวกตนอภิปรายมาทั้งหมดนั้น ล้วนมาจากสิ่งที่พรรคเพื่อไทยประกาศหาเสียงไว้
จากนั้น วิโรจน์จึงได้ไล่สรุปคำแถลงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล โดยระบุว่านอกจากนโยบายเงินดิจิทัลแล้ว ที่เหลือเป็นการเขียนนโยบายที่กว้างจนไม่เห็นรายละเอียดถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาล ไม่มีการแยกหมวดหมู่ของนโยบาย ไม่กล้ารับปากกับพี่น้องประชาชน สะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งสรรผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลข้ามขั้วที่อาจจะยังไม่ลงตัว
คำแถลงนโยบายตั้งแต่สมัย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างมีการแบ่งหมวดหมู่เอาไว้อย่างชัดเจน สมัยทักษิณ 1 มี 29 หน้า แยกหมวดหมู่, ทักษิณ 2 มี 26 หน้า แยกหมวดหมู่, อภิสิทธิ์ 36 หน้า, ยิ่งลักษณ์ 44 หน้า แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีถึง 36 หน้า แต่ของเศรษฐา ทวีสิน กลับมีแค่ 14 หน้า และไม่มีการแยกหมวดหมู่นโยบายเหมือนกับรัฐบาลก่อน
การสื่อสารนโยบายยังมีความกลับไปกลับมา เช่นที่ผ่านมาในกรณีดิจิทัลวอลเลต ในวันที่ 24 ส.ค. ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยบอกว่าจะได้ใช้ในเดือน เม.ย. ปีหน้าก่อนสงกรานต์ ต่อมาวันที่ 6 ก.ย. นายกรัฐมนตรีก็มาบอกว่าเป็นเดือน ก.พ.
ต่อมาวันที่ 3 ก.ย. ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยบอกว่จะทยอยโอน 2-3 งวด วันถัดมาเพจพรรคเพื่อไทยมาโพสต์บอกว่าจ่ายงวดเดียว แต่เดิมทีมเศรษฐกิจบอกว่าจะใช้เทคโนโลยี Blockchain แต่ต่อมาวันที่ 6 ก.ย. ช่วงเช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบอกว่าจะดำเนินการผ่านแอพลิเคชั่น “เป๋าตัง” และบ่ายวันเดียววัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังบอกว่าจะทำผ่าน Blockchain เท่านั้น
"นี่ไม่ใช่แค่การสวนกันระหว่างรัฐมนตรีช่วยกับรัฐมนตรีว่าการระทรวงการคลัง แต่เป็นการสอนมวยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังด้วยจากพรรคเดียวกัน ตกลงสองท่านอยู่ในวง LINE เดียวกันหรือไม่ ที่บอกว่าจะสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ตนคิดว่าน่าจะหมุนจริงๆ เพราะแค่ฟังการพูดเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาประชาชนก็หัวหมุนอยู่พอสมควร นโยบายที่พูดกี่ทีก็ไม่ตรงกันแบบนี้ข้าราชการจะทำงานได้อย่างไร" วิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์ ระบุว่า ส่วนรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เมื่อวันที่ 5 ก.ย. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เลยไม่ได้เขียนไว้ในนโยบายของรัฐบาล ผ่านมาแค่วันเดียวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องออกขอโทษอ้างว่าสื่อสารผิดพลาด จะทำให้สำเร็จใน 2 ปี แต่พอนักข่าวมาถามนายกรัฐมนตรีว่า 2 ปีจริงไหม ท่านก็บอกเพียงแค่ว่าจะทำทันที แต่รอนิดหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ตนก็ต้องถามเพิ่มเติมแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วย ว่าหนี้ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเกือบ 60,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลก่อนบีบให้ กทม. รับโอนมาจาก รฟม. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะตัดสินใจอย่างไร
ข้องใจค่าแรงขั้นต่ำ 600 บ.เขียนคลุมเครือ
วิโรจน์ยังอภิปรายว่า ยุคนายกฯ เศรษฐา ค่าแรง 600 บาท ภายในปี 2570 ทำไมไม่เขียนตรงๆ แบบนั้น ทำไมต้องเขียนแบบคลุมเครือว่า “ค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม” ตนขอถามตรงๆ เลยว่าปี 2567 ที่อีกไม่กี่เดือนก็จะถึง ค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรมจะเป็น 400 บาท ตามที่ท่านปราศรัยต่อหน้าพี่น้องชาวดอนเมืองเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2566 และย้ำอีกครั้งกับพี่น้องชาวสกลนครเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 หรือไม่
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คำแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ประกาศชัด ว่าอายุ 60 - 69 จะได้เดือนละ 600 บาท 70 - 79 ได้ 700 บาท 80 - 89 ได้ 800 บาท และ 90 ขึ้นไป ได้ 1,000 บาท เป็นมรดกทางนโยบายมาจนกระทั่งวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน ที่วันนี้ก็ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลนี้จะเอาอย่างไร มีแต่ในคำแถลงนโยบายว่าจะดูแลผู้สูงอายุให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ด้วย “สวัสดิการโดยรัฐ” ทำให้เกิดคำถามว่าตกลงแล้วผู้สูงอายุ 11 ล้านคน จะต้องพิสูจน์ความจนหรือไม่
เช่นเดียวกัน เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ประกาศเลื่อนจ่ายเด็ก 2.3 ล้านคน เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งพรุ่งนี้ตนก็คาดหวังว่าจะมีการรีบอนุมัติงบกลางไปจ่ายเสียให้ทันภายในวันที่ 18 ก.ย. และที่ต้องประกาศให้ชัดเจน ก็คือต่อไปจากนี้จะเอาอย่างไรกับนโยบายสวัสดิการ จะสร้างเงื่อนไขอะไรเพื่อตัดสวัสดิการของประชาชนหรือไม่
วิโรจน์ยังอภิปรายต่อไปในกรณีของทุนผูกขาด โดยระบุว่าจากยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผ่านมา 12 ปี ทุนใหญ่ผูกขาดมากขึ้น สังคมเหลื่อมล้ำมากขึ้น นโยบายแก้ไขปัญหาทุนผูกขาดหายไปไหนในรัฐบาลเศรษฐา ตอนแรกตนไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรีไปได้คำแนะนำอะไรมาจากการไปดินเนอร์หรูกับเจ้าสัวนายทุนยักษ์ใหญ่หรือไม่ แต่เมื่อฟังนายกรัฐมนตรีตอบเมื่อวานนี้ ว่านโยบายดิจิทัลวอลเลตจะไม่มีการกีดกันทุนใหญ่แล้ว ตนยิ่งเกิดคำถามขึ้นมาว่านายกรัฐมนตรีรู้หรือสมคบคิดกันหรือไม่กับทุนใหญ่
สำหรับเรื่องการกระจายอำนาจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งไม่ได้ต้องการให้ผู้ว่า CEO มารวบอำนาจ แล้วกระจุกงบประมาณไปอยู่ในมือผู้ว่าที่มาจากการแต่งตั้ง อปท. ทั่วประเทศต้องการการกระจายอำนาจ ที่มาพร้อมกับการกระจายงบประมาณ และคำถามง่ายๆ ที่รัฐบาลต้องตอบ คือเงินที่ค้างจ่าย อปท. อันเนื่องมาจากมาตรการการลดภาษีที่ดิน 90% ในปี 2563 และ 2564 รวมกัน 80,865 ล้านบาท เฉพาะของ กทม. ก็เกือบ 3 หมื่นล้านบาทแล้ว เมื่อไหร่รัฐบาลจะจ่ายคืนเงินก้อนนี้ให้
ส่วนที่ท่านพูดถึงการพัฒนาร่วมกันแทนการปฏิรูปกองทัพ โดยจะให้มาช่วยเหลือประชาชนเรื่องบรรเทาสาธารณภัย ท่านคงลืมไปว่าประเทศนี้มีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่ท่านคงลืมเพราะท่านยกกระทรวงนี้ให้เขาไปแล้ว
ส่วนที่ภูมิธรรมบอกให้พวกตนอยู่กับความจริง ตนอยากบอกว่าตนอยู่กับความจริงอยู่แล้ว จึงอยากเตือนรัฐบาลนี้ว่าท่านอย่าลืมกระสุนจริงที่ใช้ในปี 2553 กว่า 117,923 นัด กับคนตาย 99 คน
“ผมอยู่กับความจริงครับ ผมถึงบอกว่ามันต้องเร่งปฏิรูป ถ้าไม่เชื่อลองโทรไปถามท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ดูก็ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ดีกับ ผบ.ทบ. สมัยนั้นขนาดไหน ไปไหนก็ไปด้วย สุดท้ายจุดจบเป็นอย่างไร” วิโรจน์กล่าว
โต้ 'ภูมิธรรม' ปัดก้าวไกลอยู่กับความฝัน แนะ 'เศรษฐา' ไม่ต้องเกรงใจกลุ่มอำนาจเก่า
วิโรจน์ยังกล่าวอีก ว่าเรื่องการบริหารที่ราชพัสดุ 12 ล้านไร่ทั่วประเทศก็สำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นต้นตอของเหตุการณ์ที่นครราชสีมา ที่ ผบ.ทบ. รับปากว่าจะปฏิรูปภายใน 100 วัน แล้ววันนี้มีการปฏิรูปเกิดขึ้นหรือไม่ มีการลงนามข้อตกลงกับกรมธนารักษ์หรือไม่ คำตอบคือไม่มี และการทุจริตในการซื้อบ้านพักของทหารชั้นผู้น้อยก็ยังมีอยู่
ดังนั้น พวกตนต่างหากที่อยู่กับความเป็นจริง และอยากฝากบอกรองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรมไว้ ว่าพวกตนไม่ได้อยู่กับความเพ้อฝัน แต่พวกตนอยู่กับปัญหาแบบนี้มานานเกินไปแล้ว และจึงเรียกร้องว่ารัฐบาลจะต้องปฏิรูปกองทัพ
“ผมอยากบอกกับท่านนายกฯ ไว้ตรงนี้ ว่าตนทราบดีว่ากลุ่มอำนาจเก่าบีบท่านอย่างไร กลุ่มทุนผูกขาดในเครือข่ายอุปถัมภ์เดิมๆ ยื่นเงื่อนไขอะไรมาทำให้ท่านลำบากใจบ้าง พรรคร่วมรัฐบาลต่อรองกับท่านหนักขนาดไหน แต่ท่านต้องบอกกับตัวเองว่าท่านไม่ใช่ลูกน้องของกลุ่มคนเหล่านั้น แต่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชนคนไทยทุกคน และท่านต้องเกรงใจประชาชน ไม่ใช่เกรงใจคนเหล่านั้น” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์ อภิปรายว่าท่านต้องมีความทะเยอทะยานอย่างที่เศรษฐา ทวีสิน มีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ถ้าท่านมีความทะเยอทะยาน กล้าที่จะรับปากให้คำมั่นกับประชาชน ประชาชนก็จะมีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต กล้าที่จะมีความฝัน ฝากอนาคตเดิมพันชีวิตเอาไว้กับรัฐบาล ถ้าท่านเอาความหวังดีของตนและเพื่อนสมาชิกตลอดจนพรรคร่วมฝ่ายค้านไปพิจารณาในการพิจารณางบประมาณในวาระที่ 1 ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในวันนั้น เศรษฐา ทวีสิน จะมีความทะเยอทะยานและความมั่นใจในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมากกว่าวันนี้
นายกฯ ไม่หวัั่นม็อบรอ ครม.นัดแรก ให้คำมั่นดูแลประชาชนอย่างลืมเหน็ดเหนื่อย และสุจริต
เวลา 00.40 น. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์หลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ถึงภาพรวมการแถลงนโยบายว่า บรรยากาศทั้งรัฐสภาก็เป็นไปได้ด้วยดี ไม่เห็นมีอะไร และก็ได้รับข้อแนะนำหลายอย่าง ซึ่งตนได้พูดในสิ่งที่พูดและอยากจะพูด แถลงในสิ่งที่อยากจะทำ และคิดว่าสิ่งที่พูดและทำไปจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน
ส่วนที่การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันท่ฝี่ 13 ก.ย.นี้จะมีกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย มองว่าจะเป็นอุปสรรคหรือไม่ ตนยังไม่ทราบ มั่นใจว่าคงพูดคุยกันรู้เรื่อง เราก็รับฟัง เพราะเรามาจากประชาชน หากท่านเดือดร้อนเราก็รับฟังกัน เจ้าหน้าที่ก็บริหารจัดการด้วยความปลอดภัยดี
ส่วนยกแรกมองว่าสอบผ่านหรือไม่นั้น เศรษฐา กล่าวว่า ตนว่ายังไม่ได้เริ่มเรียนเลย ยังไม่ได้สอบหรอก พร้อมยืนยันว่าการประชุม ครม.จะมีการบรรจุญัตติร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ตามรายละเอียด ที่ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อภิปราย
ถามว่า อยากทิ้งท้ายอะไรบอกกับประชาชนคนไทยในค่ำคืนนี้หรือไม่ นายเศรษฐา ยอมรับว่าเป็นห่วงประเทศ เพราะทราบว่ามีปัญหาเยอะ จึงเป็นภาระของรัฐบาลเรา ที่มาโดยประชาชน ฉะนั้นขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะตั้งใจดูแลพี่น้องประชาชน ทำงานอย่างลืมความเหน็ดเหนื่อย และปฏิบัติตามกฎข้อบังคับด้วยความสุจริต มีความมุ่งมั่น รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงคำนึงถึงปากท้อง สิทธิมนุษยชน และความไม่เสมอภาคเท่าเทียม เราและคณะรัฐมนตรีชุดนี้ตระหนักดีถึงปัญหาที่เผชิญอยู่ ทั้งสังคมและเศรษฐกิจ
จากนั้น ก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะขึ้นรถได้พบกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมระบุว่า “แฮปปี้เบิร์ดเดย์นะครับ”