ไม่พบผลการค้นหา
'นิกร' เปิดเวทีฟังความเห็น ปชช.ภาคอีสาน แนบ 4 คำถาม สะท้อนแก้ รธน.60 เผย ส่วนใหญ่เห็นด้วยมี ส.ส.ร.เป็นตัวแทน ปชช. - พร้อมออกไปใช้สิทธิลงประชามติ

20 พ.ย. 2566 ที่ จ.สกลนคร นิกร จำนง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ลงพื้นที่ อ.วานรนิวาส เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ชนบทของประเทศไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับแนวทางในการทําประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการทําประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี กนก วงษ์ตระหง่าน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประชาธิปไตย ร่วมเป็นวิทยากร ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 

โดยการเปิดรับฟังความเห็นได้มีคําถามในการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของประชาชนที่เกี่ยวกับแนวทางในการทําประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้แก่ 1.ต้องการให้มีการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ หรือไม่ 2.เห็นว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560มีปัญหา ประการใด ที่จําเป็นต้องแก้ไข 3.ในการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับนั้น เห็นว่าสมควรจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกต้ังของประชาชน หรือไม่ 4.หากมีการจัดทําประชามติเรื่องการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไปใช้สิทธิออกเสียง หรือไม่

นิกร ให้สัมภาษณ์ว่า การเปิดรับฟังความเห็นวันนี้มีประชาชนจากหลากหลายอาชีพ เกษตรกร อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน นักธุรกิจรายย่อยตัวแทนผู้สูงอายุ ข้าราชการเกษียณ ได้รับเสียงสะท้อนต้องอธิบายเรื่องรัฐธรรมนูญให้มากขึ้น เพราะประชาชนยังรู้สึกว่าไกลตัว ต้องทำให้รู้สึกว่า รัฐธรรมนูญมีผลกระทบอย่างไร และจากให้ทดลองตอบคำถามส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มี ส.ส.ร. มีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่สะท้อนมาคือเหมืองโปแตส ซึ่งทางคณะอนุกรรมการได้อธิบายไปว่า รัฐธรรมนูญจะสามารถตอบโจทย์ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ได้ เพราะเกี่ยวกับความคิดเห็น ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่กับประชาชน เช่น อาจต้องแสดงความคิดเห็นด้วยการทำประชามติในเรื่องนั้นๆ 

นอกจากนั้นประชาชนยังสะท้อนด้วยว่า หากมีการทำประชามติ เรื่องรัฐธรรมนูญ จะออกมาใช้สิทธิ ออกเสียง ขอย้ำว่ารัฐบาลจำเป็น ต้องประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมในเชิงลึกและเชิงกว้างให้ประชาชนเข้าใจว่าประชาชน มีส่วนร่วมและมีความจำเป็นที่จะต้องมาร่วมออกเสียงทำประชามติเพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่