ภาพสะท้อนแรกอยู่ที่การเพิ่มตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคเพื่อเป็นการมัดรวม "กลุ่ม-ขั้ว-มุ้ง" ต่างๆ ให้เข้ามามีตำแหน่งและบทบาทมากขึ้นจากเดิมที่อยู่ในสภาวะ "ไร้ระเบียบ" ดังที่สังคมได้เห็นอาการมูมมามจากการปล่อยข่าวสาร ฉวยโอกาสทิ่มแทงผ่านหน้าสื่อกันรายวัน เพื่อเก้าอี้รัฐมนตรีและชิงการนำกันเองภายในพรรค ก่อนการเข้ามากุมบังเหียนของพล.อ.ประวิตร
17 กรรมการบริหารหน้าใหม่ จึงทำให้เห็นเค้าโครงของการจัดแถวของกลุ่มก้อนภายใน เริ่มจาก กลุ่มสามมิตร - นำโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.สุโขทัย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สองหัวหอกคนเคยอยู่ข้าง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ พ่วงด้วย อนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท ผู้อกหักซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ยังวืดเก้าอี้แม่บ้านประจำพรรค ได้เป็นเพียงรองหัวหน้าพรรค และสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กลุ่มเหนือตอนล่าง - นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พร้อม ส.ส.ในพื้นที่โซนเหนือตอนล่างอย่าง ไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภูมิลำเนาจ.พะเยา นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ และสุรชาติ ศรีบุศกร ส.ส.พิจิตร
ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นภาพของการตอบแทนของตัวแทนในเชิงพื้นที่ ไล่เรียงจาก กทม. คือ สกลธี ภัทธิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. เข้ามาช่วยเสริมแกร่งให้ กปปส. ประภาพร อัศวเหม ตัวแทนครอบครัวอัศวเหมย่านปากน้ำสมุทรปราการ โซนอีสานมี วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา ฝากผลงานน่าจับตา พาครอบครัวเข้าวิน ส.ส.ถึง 5 คน
ขณะที่ สุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อแห่งอุบลราชธานี สมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ นอกจากนี้ยังมี สุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ผู้นำก๊วนหัวเมืองตะวันออก นิพันธ์ ศิริกร ส.ส.ตรัง เสริมคนกลุ่มด้ามขวาน และสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส ตัวแทนจากชายแดนใต้
สำหรับ 17 กรรมการบริหารหน้าเดิม ยังคงเหนียวแน่นจาก 2 กลุ่มใหญ่คือ "4 กุมาร" ยังคุมการนำในฐานะผู้เสียสละ ไขก๊อก รมต.ยุคคสช.เพื่อมาเริ่มตั้งไข่ให้ "พลังประชารัฐลายพราง" ในตำแหน่งสำคัญทั้ง หัวหน้าพรรค อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค เช่นเดียวกับ กปปส. ที่มี ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.กรุงเทพฯ เป็นแกนหลัก
การปรับทัพของพลังประชารัฐจึงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นเพียงอาศัยบารมีของ พล.อ.ประวิตรเข้ามาจัดแถวให้กลุ่ม-ก๊วนมีระเบียบมากขึ้น "แผลเก่า" จากศึกสามเส้าต่อรองชิงเก้าอี้ ระหว่าง "กปปส.-สามมิตร-สี่กุมาร" ยังดำรงคงอยู่ ซึ่งจากนี้คงต้องจับตา "สามมิตร" เป็นสำคัญ ในฐานะผู้อกหัก แต่ช่ำชองการต่อรองตามแบบฉบับการเมืองเก่าเพื่อผลประโยชน์ ด้วยการปั่นข่าวนำสร้างกระแส
จากนี้เป้าหมายของ "สามมิตร" ก็ยังคงหนีไม่พ้น "สี่กุมาร" ที่ไร้ ส.ส.ในมือ แต่สามารถคุมการนำไว้ได้อย่างเหนียวแน่นทั้งในพรรคพลังผระชารัฐ และกระทรวงเกรดเอที่จ้องตาเป็นมัน แต่ "สนธิรัตน์" เลขาธิการพรรคและรมว.พลังงาน ก็ยังรักษาเก้าอี้ได้อย่างมั่นคงด้วยภาพลักษณ์ของนักบริหารมืออาชีพ มีผลงานโรงไฟฟ้าชุมชนถูกใจ "3 ป." ของ "รัฐบาล500" ถือเป็น "เทคโนแครต" ที่จำเป็นต้องใช้บริการ แถมเบื้องหลังยังสานสัมพันธ์กับ 4 ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านพรรคหนึ่งให้ช่วยโหวตหนุนรัฐบาลได้อย่างแนบเนียน ไม่เหมือนพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่เดิมเกมชิงงูเห่าพรรคอนาคตใหม่อย่างโฉ่งฉ่าง
ขณะที่ศึกระหว่าง กปปส.-สามมิตร ก็ดูเหมือนจะสงบแค่ชั่วคราว โดยแต้มต่อของก๊วนนกหวีดอยู่ที่การคุมสื่อคอย "เชลียร์" รัฐบาล พร้อมทั้งสร้างข่าวเท็จลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายค้านทุกแพลตฟอร์ม มี "ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม" เป็นเครื่องมือของกลไกรัฐคอยทำลายล้างทางการเมืองทุกเวลา
หากไม่เชื่อคงต้องถาม "สมศักดิ์" ที่เจอดีไปเต็มรักเมื่อขึ้นนั่ง รมว.ยุติธรรม จากการขุดคุ้ยคดีความของภรรยา ไม่นับแผลแรกครั้งโหวตประธานสภาฯ ที่ กปปส.ใส่พานให้ "ผู้เฒ่าพรรคเก่าแก่" เสียบแทน “สุชาติ ตันเจริญ” เป็นประมุขนิติบัญญัติโค้งสุดท้าย
แต่ "ยี่ห้อสามมิตร" ก็เอาคืน แสดงพลัง "โหวตสวน" ให้เป็นขวัญตา ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ จึงยังร้าวลึก “กลุ่มผลประโยชน์” ยังมูมมามกัดกินไม่อิ่มหนำ
การปรับโฉมของพรรคพลังประชารัฐในสิ้นปี 2562 ด้วยประกาศิตของ พล.อ.ประวิตร จึงเป็นเพียงแค่การบริหารความคาดหวังและความต้องการของกลุ่มการเมืองที่มารวมตัวกันด้วยผลประโยชน์เป็นสำคัญด้วยการกลบเกลื่อนเกลี่ยเก้าอี้ภายในพรรค ไม่ใช่การยกเครื่องเพื่อสร้างการเมืองแบบใหม่
จากนี้ไปสังคมไทยยังจะได้พบกับการห้ำหั่นกันภายในของแกนนำพรรครัฐบาล ที่มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตนไม่ใช่ส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ 7 พรรคฝ่ายค้านมาถึงในช่วงต้นปี 2563 รับรองว่า ฝุ่นจะตลบทำเนียบรัฐบาล บาดแผลจากการแทงข้างหลังกันเองจะนองเต็มหน้าสื่ออย่างแน่นอน