ไม่พบผลการค้นหา
งบประมาณทางการทหารทั่วโลกปี 2562 สูงกว่า 61 ล้านล้านบาท สหรัฐฯ เป็นผู้นำใช้จ่ายสูงสุด ขณะไทยครองอันดับที่ 29 นักวิจัยชี้ โควิด-19 ทำให้ต้องหั่นงบเหล่านี้ไปช่วยสาธารณสุขแทน

รายงานค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทหารทั่วโลก ประจำปี 2562 จากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) มีตัวเลขสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 61.58 ล้านล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และนับเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 

ดร.นาน เทียน นักวิจัยจาก SIPRI ชี้ว่าเม็ดเงินดังกล่าวคิดเป็นประมาณร้อยละ 2.2 ของจีดีพีโลกของปี 2562 และ 5 อันดับประเทศที่ใช้จ่ายกับงบยุทโธปกรณ์มากที่สุดที่ได้แก่ สหรัฐฯ จีน อินเดีย รัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย ตามลำดับ

โดยสหรัฐฯ มีอัตราการใช้งบประมาณทหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นมูลค่า 732,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 23.7 ล้านล้านบาท ขณะที่จีนและอินเดียอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ด้วยเม็ดเงิน 261,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8.4 ล้านล้านบาท และร้อยละ 6.8 หรือคิดเป็นมูลค่า 71,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 2.3 ล้านล้านบาทตามลำดับ 

กองทัพ - AFP

สำหรับประเทศไทย รายงานชี้ว่าสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของงบประมาณในปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นมูลค่า 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 230,000 ล้านบาท ส่งผลให้ประเทศรั้งอันดับที่ 29 ของโลก นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา งบประมาณทหารของไทยเพิ่มขึ้นในหลักร้อยละ 6 ขึ้นไปเสมอ โดยปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดที่ร้อยละ 6.8 ในปี 2559 ที่ผ่านมา 


ต้องแบ่งเงินไปในส่วนที่จำเป็นกว่า

แม้ที่ผ่านมาเทรนด์จะเป็นไปให้การแข่งกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงอินเดียที่ปรับขึ้นมาจากอันดับที่ 9 ในปี 2553 มาเป็นอันดับที่ 3 ในปีที่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาประกาศแล้วว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ตกต่ำติดลบร้อยละ 3 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่โลกเผชิญหน้ากับมหาวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก จึงต้องดึงงบประมาณฉุกเฉินมูลค่ามากกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 259 ล้านล้านบาท ออกมาใช้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.5 ของจีดีพีโลก และมูลค่าดังกล่าวจะไปเพิ่มสัดส่วนหนี้ของทุกประเทศอย่างแน่นอน 

สหรัฐฯ โควิด-19.jpg

'ไมเคิล ฟอร์โมซา' ที่ปรึกษาจากสถาบันให้คำปรึกษาเรเนซองส์ ชี้ว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้นำทางการเมืองทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับความกดดันในการจ่ายเงินเพื่อรักษาระบบสาธารณสุขและความช่วยเหลือทางสังคมมากกว่าจะเอาไปใช้จ่ายกับอาวุธยุทโธปกรณ์

ตัวเลขการปรับลดงบประมาณทางการทหารเริ่มออกมาในหลายประเทศ เกาหลีใต้ประกาศลดสัดส่วนที่ลงร้อยละ 2 หรือประมาณ 738 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 23,900 ล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยประกาศลดงบประมาณลงร้อยละ 8 คิดเป็นเม็ดเงิน 557 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่วางแผนอัดฉีดเงิดช่วยเหลืออย่างน้อยร้อยละ 2 ของจีดีพีของภูมิภาค

อ้างอิง; The Economist, The Nation

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;